คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก ม. 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย และรับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำความผิดสำเร็จไปกรรมหนึ่งแล้ว และหลังเกิดเหตุชนกันแล้ว จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและ ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นความผิดสำเร็จไปอีกกรรมหนึ่ง แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน แต่ก็สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้อย่างชัดเจน จึงเป็น การกระทำหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1599, 1600 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 224 วรรคหนึ่ง
คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทที่แต่ละคนครอบครองอยู่ได้ซื้อมาจาก พ. และชำระราคาแล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การด้วยพร้อมทั้งขอให้ศาลบังคับตามฟ้องแย้ง ก็หาเป็นเหตุให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ซึ่งกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์กลับมาเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ การฟ้องแย้งของจำเลยคงมีผลทำให้จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันด้วยเท่านั้นเมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นฟังว่าการซื้อขายที่ดินระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแม้ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ระบุว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพ. กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขาย พ. มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ระบุอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพียงแต่ระบุอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งจำเลยก็ได้มีคำขอท้ายฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมีผลผูกพัน พ. และโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกที่ดินพิพาทแต่ละส่วนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องแย้งของจำเลย
พ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย เมื่อ พ. ถึงแก่กรรมทรัพย์มรดกของ พ. ตกทอดแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของพ. เมื่อ พ. มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่ของ พ. สืบต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 62/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 694 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 10, 11
หลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงานของนายจ้างเป็นเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานที่ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 และ 11 มีผลผูกพันให้โจทก์นายจ้างและจำเลยที่ 1 ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม เมื่อข้อตกลงนี้มีผลผูกพันโจทก์และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ย่อมมีสิทธิยกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อต่อสู้โจทก์ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ปรากฏว่าขณะทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ยังไม่มีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน ต่อมาโจทก์ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์การค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2525 และแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2528 กำหนดวงเงินค้ำประกันโดยให้ถือตำแหน่งที่ว่าจ้างครั้งแรกเป็นเกณฑ์กำหนดวงเงินซึ่งพนักงานระดับ 3 มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาทอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยสิ้นเชิงตามจำนวนที่โจทก์เสียหาย ต่อมาโจทก์ได้ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 มายกเลิกหลักเกณฑ์การค้ำประกันฉบับ พ.ศ. 2525และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2528 แต่ก็ยังกำหนดวงเงินค้ำประกันของพนักงานคุณวุฒิปริญญาตรี ซึ่งเป็นคุณวุฒิและระดับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจ้างครั้งแรกให้มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 เช่นเดิมหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 จึงผูกพันให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม โดยเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ มิใช่การบังคับใช้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีผลย้อนหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มเข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งนิติกร คุณวุฒิปริญญาตรี จึงย่อมมีวงเงินค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเพียง 100,000 บาท มิใช่ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งที่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ม. 6, 7
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ ในมาตรา 6 และมีมาตรา 7 ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน มาตรา 6 ไว้เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติ ห้ามเล่นแชร์ไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาเกิดจากการตกลงกันระหว่าง ผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้ จึงมีผลผูกพันและบังคับกันได้ ตามกฎหมาย การที่ผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนนำเช็คของจำเลย มาชำระให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ การชำระหนี้ค่าแชร์ดังกล่าว จึงหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2543
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
สัญญาจ้างกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐโดยไม่มีข้อตกลงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย จึงต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนของทางราชการในวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 27 วรรคสอง เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 24 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันจ่ายค่าจ้างกำหนดให้ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ38.40 บาท จำเลยจะประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นใหม่โดยกำหนดให้1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 26 บาท ไม่ได้ เพราะสัญญาจ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างเป็นสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 5 การที่จำเลยประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นใหม่นี้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมประกาศของจำเลยที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินขึ้นใหม่ จึงไม่มีผลใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3
ขณะเกิดเหตุรถบรรทุกของกลางยังมีจำเลยเป็นเจ้าของ ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถบรรทุกคันดังกล่าวมาจากจำเลยเพื่อถมปรับสภาพพื้นดินในการทำบ้านจัดสรรในระยะเวลาประมาณ 10 วันเท่านั้น หลังจากนั้นได้นำไปให้จำเลยเช่า ไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องจะยอมลงทุนถึง 500,000 บาท มาซื้อรถบรรทุกจากจำเลยเพียงเพื่อใช้ในกิจการดังกล่าว เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยอย่างยิ่ง แม้ผู้ร้องจะมีสัญญาเช่าสัญญาซื้อขายและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการโอนและการรับโอนมาเป็นพยานเอกสารอ้างอิงก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวผู้ร้องและจำเลยสามารถจัดทำขึ้นมาได้ อีกทั้งผู้ร้องอ้างว่าที่ยังไม่มีการโอนทะเบียนรถเพราะไม่พบจำเลยจึงไม่อาจนำรถบรรทุกของกลางไปตรวจสภาพได้นั้น แต่เมื่อจำเลยยืนยันว่า ภายหลังที่จำเลยขายรถบรรทุกของกลางให้แก่ผู้ร้องแล้วจำเลยก็ยังคงรับจ้างขับรถบรรทุกคันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องมิได้ไปอยู่ที่อื่นข้ออ้างของผู้ร้องในเรื่องนี้จึงเป็นพิรุธอย่างยิ่ง ประกอบกับระหว่างทำการสอบสวนไม่มีผู้ใดมาขอคืนรถบรรทุกของกลาง และผลการสอบสวนก็ได้ความว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งจำเลยไม่เคยโต้แย้งในเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนี้ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่ารถบรรทุกของกลางเป็นของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องมาร้องขอคืนของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153
กรณีที่คู่ความจะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จะต้องเป็นคู่ความซึ่งศาลแสดงว่า ขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาท
ฎีกาจำเลยที่ขอให้ไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ พอถือได้ว่าจำเลยมุ่งหมายจะให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบตามที่จำเลยได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้จึงต้องพิจารณาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่งซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี มีเจตนารมณ์จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียง ครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (9), 264 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213, 225
จำเลยที่ 1 ได้ปลอมข้อความในใบบันทึกการขายตามที่จำเลยที่ 2และที่ 4 ใช้ให้กระทำครบถ้วนแล้ว โดยปลอมหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิตวันหมดอายุบัตร ชื่อผู้ถือบัตร และลายมือชื่อผู้ถือบัตร แม้ยังไม่อาจนำไปเรียกเก็บเงินได้เพราะจะต้องนำไปลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงินรหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการและหมายเลขหนังสือเดินทางก่อน ก็น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จ
ใบบันทึกการขายดังกล่าวยังมิได้ลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงินรหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการและหมายเลขหนังสือเดินทาง ยังไม่สามารถนำไปเรียกเก็บเงินได้ จึงมิใช่เอกสารแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4เป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารธรรมดาเท่านั้น และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 654 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 3, 120, 121 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3 (1)
จำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา 3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่ได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3(1) การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120,121
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2543
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ,
ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 36 หมายถึง ลูกจ้างที่ทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างในกรณีการจ้าง ลดค่าจ้าง เลิกจ้าง ให้บำเหน็จ ลงโทษ หรือวินิจฉัยข้อร้องทุกข์เพียงประการใดประการหนึ่งก็ได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยกำหนดให้ "ผู้ควบคุมงาน"มีอำนาจทำการแทนจำเลยสำหรับการจ้าง ลดค่าจ้าง เลิกจ้าง ให้บำเหน็จ ลงโทษหรือวินิจฉัยข้อร้องทุกข์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย "ผู้ควบคุม" จึงหมายถึงลูกจ้างของจำเลยซึ่งทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชามีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาดเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างด้วย ซึ่งปกติย่อมหมายถึงผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละหน่วยงานของจำเลยเท่านั้น แต่โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพยาบาลเท่านั้น มิใช่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วย โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยต้องชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์