คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 505, 508 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352

โจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีความประสงค์จะซื้อจะขายรถยนต์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะนำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปทดลองใช้ก่อน 7 วัน หากพอใจจำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยส่อแสดงเจตนาว่าทั้งสองฝ่ายจะซื้อจะขายรถยนต์กันตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วมจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายเผื่อชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505การที่โจทก์ร่วมส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยทดลองขับ ถือว่าเป็นการตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ เพราะจำเลยมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อและมิได้ส่งมอบรถยนต์คืนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 508(1)(2) เมื่อปรากฏว่า ขณะที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมหายไป และจำเลยยังมิได้ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์ร่วมต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582, 583 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17, 119

ในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้นั้น มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582ซึ่งมิได้กำหนดไว้ว่าการบอกเลิกการจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การบอกเลิกการจ้างจึงอาจจะทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเพื่อเลิกจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย กำหนดมิให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วยเหตุนี้หากมีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติในสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบ ขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคสาม มีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยนายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างจะยกขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น มาตรา 17 วรรคสาม จึงมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างบอกเลิกการจ้างด้วยวาจา เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ไว้ในรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญถึงเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 119 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป เพราะหากฟังได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แม้จะเป็นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา จำเลยก็อาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จึงต้องสืบพยานและฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 316, 323

เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2532 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายการขายทอดตลาดให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะจ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 316 ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม2532 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินดังกล่าว และขอให้สั่งทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำบัญชีเพื่อตรวจจ่ายให้ต่อไปนั้น เท่ากับมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการจ่ายเงินให้โจทก์ จนเมื่อมีการตั้งสำนักงานบังคับคดีจังหวัดมหาสารคามขึ้นแยกจากงานบังคับคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีอีกและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ ซึ่งเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบการปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องการทำบัญชีและขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวตามบัญชีนั้นให้แก่โจทก์นั่นเอง อันเป็นขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นต้องส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ เพราะถือว่าโจทก์ยื่นคำแถลงขอรับหรือเรียกเอาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2532 ในเวลาที่ยังไม่พ้นระยะ 5 ปี นับแต่วันที่ถือได้ว่าเป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาได้ เงินดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 323

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 296

การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจ ก. ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจและออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุสามีภริยาทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าการใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. ดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด หรือไม่เกี่ยวข้องกับการที่พลตำรวจ ก. กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่พลตำรวจ ก. กับพวกกำลังระงับเหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

ผู้เสียหายพบกับจำเลยซึ่งนั่งอยู่ในร้านอาหารขณะกำลังถูกกลุ่มผู้ชายในร้านพูดจาลวนลาม จึงให้เจ้าของร้านไปเชิญจำเลยมานั่งร่วมโต๊ะ หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้เสียหายและจำเลยพากันไปพักที่โรงแรมจำเลยได้เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายในห้องของผู้เสียหายแล้วจำเลยเอาน้ำให้ผู้เสียหายดื่ม ผู้เสียหายหมดสติไป วันรุ่งขึ้นมีผู้มาพบผู้เสียหายนอนหมดสติอยู่ ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ติดตัวผู้เสียหายมาหายไปและเมื่อไปหาจำเลยที่ห้องพักก็ไม่พบ น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้เอาทรัพย์สินดังกล่าวไป

แม้พยานโจทก์จะเบิกความแตกต่างกันไปบ้าง แต่ถ้าเป็นเพียงข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวก็รับฟังได้ และถึงแม้พยานเอกสารต่าง ๆ ฝ่ายโจทก์จะได้ทำขึ้นในภายหลังแต่ก็มีสำเนาบันทึกประจำวันอันเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุอยู่ด้วย เอกสารต่าง ๆ ก็ไม่มีพิรุธอันที่จะทำให้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้

แม้ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนมีโอกาสนั่งพูดคุยอยู่กับจำเลยเป็นเวลานานนับชั่วโมง โดยพูดคุยกันทั้งร้านอาหารและภายในห้องพัก โอกาสที่ผู้เสียหายจะจำจำเลยได้อย่างแม่นยำมีมาก เมื่อผู้เสียหายได้พบจำเลยอีกครั้งหลังเกิดเหตุนานประมาณหนึ่งเดือน ผู้เสียหายก็วิทยุเรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้อย่างแม่นยำ

คนมีฐานะดีไม่จำเป็นเสมอไปที่จะไม่กระทำความผิดเลย และเหตุคดีนี้เกิดขึ้นนานประมาณ 1 เดือนแล้ว จำเลยอาจชะล่าใจคิดว่าผู้เสียหายคงจะไม่ติดตามคดีก็ได้ และเวลาที่จำเลยไปที่ร้านเดิมก็เป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาในวันเกิดเหตุจึงเชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของโจทก์จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1308, 1382

เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 192 วรรคสี่

โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกนำข้อความที่ว่าโจทก์สมคบกับประธานสภาจังหวัดชัยภูมิประวิงหรือหลีกเลี่ยง ละเว้น ไม่พิจารณาคำขอเปิดประชุมสภาจังหวัดชัยภูมิสมัยวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2538 ของจำเลยกับพวกซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดชัยภูมิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและประเพณีปฏิบัติราชการไปยื่นฟ้อง และจำเลยกับพวกจัดการโฆษณาเผยแพร่ข้อความตามคำฟ้องในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328,83 แต่เมื่อทางพิจารณาปรากฏว่า ข้อความที่พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนอกจากจะเป็นข้อความตามคำฟ้องของจำเลยที่ 1 กับพวกแล้ว ยังมีข้อความเพิ่มเติมเป็นเบื้องหลังการที่โจทก์ไม่สั่งเปิดประชุมสภาจังหวัดเพราะเกี่ยวข้องกับการทุจริตและการย้ายข้าราชการโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ขึ้นใหม่อีกส่วนหนึ่งข้อความหมิ่นประมาทถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อโจทก์มิได้บรรยายไว้ให้ปรากฏในคำฟ้องถือได้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 223, 247 พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 5, 10

จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้คำปรึกษาในด้านเทคนิคพิเศษและด้านวิชาการเกี่ยวกับโครงการของจำเลย ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันว่าจะเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 5 เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องถูกผูกพันโดยข้อสัญญานั้น

สัญญาจ้างมีข้อความระบุชัดว่าคู่สัญญาต้องตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง และข้อพิพาทในคดีนี้ที่โต้เถียงกันว่าจำเลยต้องชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ หรือไม่ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ซึ่งคู่กรณีจะต้องหาทางระงับข้อพิพาทดังกล่าวด้วยการตกลงกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการดังกล่าว หาได้ใช้บังคับแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องการตีความข้อความ ในสัญญาจ้างไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตามสัญญาดังกล่าวก่อน

ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้สั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน เมื่อ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้เป็นที่สุดจำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223

ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ เมื่อข้อสัญญาในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 10 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 227 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 15, 26, 66, 67, 76

จำเลยเป็นเพียงผู้รับฝากเฮโรอีนจาก ล. นำไปให้ ส. และ อ. การที่จะลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเฮโรอีนได้ก็ต่อเมื่อรับฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่าห่อของที่นำไปให้ ส. และ อ. เป็นเฮโรอีนเท่านั้น แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม จำเลยยืนเฉย ๆ ไม่ได้วิ่งหนีไปไหน ทั้งปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง จึงเห็นได้ว่า หากจำเลยรู้ว่าห่อของที่จำเลยรับฝากเป็นเฮโรอีนแล้ว โดยสัญชาตญาณจำเลยคงวิ่งหนีไปไม่ยอมให้จับกุมการที่จำเลยมิได้หลบหนีจึงอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยไม่รู้ว่าห่อของที่นำมาให้ ส. และ อ. เป็นเฮโรอีน ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้เกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมจำหน่ายเฮโรอีนกับ ล. ด้วยหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองและจำหน่ายเฮโรอีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226, 227

แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ก็มีพยานแวดล้อม โดยได้ตรวจพบเอกสารแสดงการทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของผู้เสียหายอยู่กับพวกของจำเลย สำหรับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายนั้น ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์และได้ให้การถึงรายละเอียดวิธีการลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เมื่อลักรถจักรยานยนต์ไปแล้วก็ได้นำไปให้จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความได้สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์พยานแวดล้อมซึ่งสมเหตุสมผลสอดคล้องกับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ 3 แล้วน่าเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้องจริง

ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน ฉะนั้นการที่ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 3 ให้การด้วยความสุจริตใจ พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมามอบให้โดยบอกว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ลักมา จึงสามารถรับฟังประกอบการพิจารณาคดีได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE