คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2543
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 123, 124 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
พนักงานตรวจแรงงานเชิญกรรมการผู้จัดการของจำเลยไปพบเนื่องจากโจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยถึงวันนัดได้ทำบันทึกข้อตกลงขึ้นอันเป็นการจัดทำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่ให้โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องได้ในกรณีจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ เงินที่โจทก์รับจากจำเลยตามบันทึกก็คือเงินตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ดังกล่าว อันเป็นเงินที่อยู่ในกรอบสิทธิที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามมาตรา 124 ไม่มีข้อความในบันทึกว่าโจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเงินจากจำเลยตามกฎหมายอื่นอีก การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ และไม่อยู่ในอำนาจดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการประนีประนอมยอมความรวมไปถึงให้ระงับข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสด้วย
ปัญหาที่ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่หากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสตามฟ้องหรือไม่เพียงใด เป็นปัญหาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไป เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานทำให้ข้อเท็จจริงไม่พอวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์จำเลยเพื่อฟังข้อเท็จจริงต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7 - 8/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 30, 31, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
แม้การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาจะกระทำตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เข้าใจดีอยู่แล้วว่า ในที่สุดก็จะต้องมีการดำเนินคดีในศาลเป็นการต่อเนื่องกันไป การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยมิชอบย่อมเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ ทำให้กระบวนพิจารณาในศาลไม่อาจดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมได้ ต้องถือว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งแม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1จะมิใช่คู่ความ แต่การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการได้แก่การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยประการหนึ่ง กับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกประการหนึ่ง เฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่จะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นหาได้มีข้อจำกัดดังที่ถูกกล่าวหาที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ได้
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษและศาลไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม ทั้งเป็นการชักจูงให้เยาวชนกระทำผิดเพื่อผลประโยชน์ของผู้กล่าวหาที่ 1 เอง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดแก่อนาคตของเยาวชน มิใช่เป็นการกระทำเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาและถูกผู้อื่นชักจูงให้หลงเชื่อ จึงไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 31 (1), 33
แม้การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาจะกระทำตั้งแต่ในชั้นสอบสวนก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่ในที่สุดก็จะต้องมีการดำเนินคดีในศาลเป็นการต่อเนื่องกันไป การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยมิชอบดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ ทำให้กระบวนพิจารณาในศาลไม่อาจดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมได้ ต้องถือว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 31 (1) มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยประการหนึ่งกับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกประการหนึ่ง เฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่จะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นหาได้มีข้อจำกัดดังกล่าวไม่ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ตามป.วิ.พ. มาตรา 33 ได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะมิใช่คู่ความและมิได้อยู่ต่อหน้าศาลก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2543
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 5
การที่โจทก์ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ปรุงอาหารและประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ในระหว่างเดินทางก่อนถึงเวลาปฏิบัติงานนั้นโจทก์ยังไม่ได้ลงมือทำงานให้แก่บริษัทนายจ้าง แม้หัวหน้างานของโจทก์สั่งให้โจทก์มาทำงานในวันเกิดเหตุ งานที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำก็อยู่ในห้องครัวของบริษัทดังกล่าวอันเป็นสถานที่ที่โจทก์กำลังเดินทางไป และอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่าง 6 นาฬิกา ถึง 15 นาฬิกาเท่านั้น การที่โจทก์ต้องกลับบ้านไปบอกให้ครอบครัวทราบว่าโจทก์จะต้องทำงานในวันเกิดเหตุจึงทำให้โจทก์ต้องเดินทางออกจากบ้านมายังที่ทำงาน เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ไม่เกี่ยวกับงานที่โจทก์จะต้องทำ และที่โจทก์ตั้งใจจะแวะซื้อเครื่องปรุงอาหารบางอย่างที่โจทก์เห็นว่าขาดหรือหมดไปจากตลาดที่อยู่ในระหว่างทางมาใช้ในการทำงานของโจทก์ด้วย ก็ไม่ปรากฏว่านายจ้างได้มีคำสั่งให้กระทำเช่นนั้น จึงแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์กระทำเอง ไม่ได้ทำตามคำสั่งของนายจ้าง จะถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างหรือเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่ กรณีของโจทก์จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายตามความหมายของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ตกลงยินยอมและสัญญาว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย และไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป กับจำเลยไม่มีหนี้สินใด ๆ ที่จะต้องชำระให้โจทก์อีก เมื่อสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้จะเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 แต่ก็อยู่ในความหมายของคำว่าเงินใด ๆ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำขึ้นหลังจากที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระพ้นพันธะและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การทำสัญญาเป็นไปโดยความสมัครใจของคู่สัญญาโดยแท้จริง จึงไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี