กฎหมายฎีกา ปี 2545
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 183, 249
แม้ภาระการพิสูจน์ของคู่ความต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและหากชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดภาระการพิสูจน์ผิดพลาดไป ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้สืบพยานไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นจนสิ้นกระแสความแล้ว โดยศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทโดยมิได้ยกเอาหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์มาเป็นเหตุพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี และคดีก็ยังต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงอีกด้วย ดังนั้น แม้ฝ่ายใดจะมีภาระการพิสูจน์ ผลแห่งคดีก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไป การที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 10, 27, 197 เดิม
ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์อ้างว่า ทนายโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางกลับจากการทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่เสียกะทันหันและอยู่ไกลร้านซ่อมรถไม่สามารถซ่อมรถได้ทันทนายโจทก์จึงไปที่ศาลจังหวัดฝาง เมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดฝางในขณะนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 และเป็นอำนาจของศาลจังหวัดฝางที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของทนายโจทก์ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้อง
ศาลจังหวัดฝางมีคำสั่งในคำร้องของทนายโจทก์ว่าจัดการให้ แม้จะไม่ชัดแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแต่ต้องถือเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้เลื่อนคดีไปได้โดยปริยายถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้นที่โจทก์ไม่ไปศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจึงมิอาจถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีก่อนทราบคำสั่งของศาลจังหวัดฝางดังกล่าว จึงเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงต้องถือว่ามีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในศาลชั้นต้นที่ต้องสั่งเพิกถอนแล้ว เมื่อศาลจังหวัดฝางส่งคำร้องของทนายโจทก์และคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทราบทางโทรสารศาลชั้นต้นจึงชอบที่สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ผิดหลงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 145, 148 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 61
คดีก่อน ส. เป็นโจทก์ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดิน โดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ซึ่งต่อมาคู่ความในคดีดังกล่าวตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ส่วนคดีนี้โจทก์มาฟ้องจำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอ้างเหตุผลเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกทับที่ดินของส. เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้ซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินพิพาทต่อจาก ส. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนอันเป็นการฟ้องอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61 แม้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบทกฎหมายดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61 รายเดียวกันนั่นเองโจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่ความเดียวกันและต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามยอมในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ออกทับที่ดินของ ส. อีก อันเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งมีคำวินิจฉัยมาแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176, 218 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 67 สำหรับโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีถือเป็นการแก้ไขเฉพาะบทลงโทษแต่มิได้แก้ไขโทษ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้เป็นที่พอใจว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่ยุติ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในปัญหาทำนองว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1630/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อปรักปรำโจทก์ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายที่ลักเงินของธนาคารไปเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจและเลิกจ้างโจทก์ โดยเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าธนาคารเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากธนาคารรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการพิจารณาวินัยและอุทธรณ์ของธนาคารที่ธนาคารตั้งขึ้นทำการสอบสวนหลังเกิดเหตุเอง ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารทำนองเดียวกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยให้การเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารอันเป็นการให้การคนละกรณีกัน จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพราะเป็นเรื่องนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องถูกธนาคารเลิกจ้างมาเพียงอย่างเดียว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยเป็นความเท็จหรือไม่ และไม่อาจถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 65, 80, 288 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
เอกสารที่จำเลยนำมาแสดงอ้างว่าตนเป็นโรคประสาทเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญานั้น เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ จำเลยมิได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันว่าตนป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำการโดยไม่รู้สึกตัวทั้งในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่า จำเลยให้การปฏิเสธซึ่งจำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามได้เหมือนคนปกติส่วนที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของจำเลยระบุว่าจำเลยมีอาการเบลอ ๆ ไม่ค่อยได้สตินั้นอาจเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อนเกิดเหตุจนมีอาการมึนเมาก็เป็นได้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยมีอาการทางจิตประสาทไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 156
จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ แต่จำเลยไม่มาสาบานตัวศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาอีก ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาพร้อมอุทธรณ์ อันเป็นการวินิจฉัยในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยว่าชอบด้วยบทกฎหมายหรือไม่ หากจำเลยเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยโดยไม่ถูกต้องจำเลยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคห้า ไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของจำเลยได้ โดยอ้างว่าคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2545
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 19
โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 แต่โจทก์ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในภายหลังก่อนที่จำเลยจะยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเจรจาและตกลงกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้ห้ามลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องของทั้งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีทั้งการขอให้เพิ่มและลดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างและทำงานซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิกระทำได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้ แต่ละฝ่ายอาจจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามที่เจรจาต่อรองกันมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวโดยลดลงไม่ได้การกระทำของผู้แทนลูกจ้างที่ได้ร่วมเจรจากับนายจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จึงอยู่ภายในขอบอำนาจและผูกพันลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2545
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้ต่อธนาคาร ก. เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่มีต่อธนาคาร ก. ต่อมาจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปเบิกเงินและไถ่ถอนจำนอง แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นโจทก์ได้ถูกธนาคาร ก. ฟ้องบังคับจำนองคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คโจทก์จึงยังมิได้ถูกธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยฟ้องบังคับจำนองหรือโจทก์ได้ชำระหนี้จำนองให้แก่ธนาคารแล้ว ณ ขณะนั้นจำเลยไม่มีหนี้ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลย อันเนื่องจากโจทก์ถูกธนาคารบังคับชำระหนี้แทนจำเลย ฉะนั้น เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็ค โดยยังไม่มีหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 653, 744
แม้ในสัญญาจำนองที่ดินจะระบุข้อความว่า จำนองเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยผู้จำนองมีต่อธนาคารโจทก์ผู้รับจำนองในเวลานี้หรือที่จะมีขึ้นใหม่ในภายหน้าก็ตามแต่เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานที่มีการจำนองเป็นประกันได้ระงับสิ้นไปโดยจำเลยชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1) ทั้งในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโจทก์และจำเลยก็มิได้ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวว่ามีการจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี การตีความถึงเจตนาของคู่สัญญาในกรณีมีข้อสงสัยเช่นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความในทางที่เป็นคุณแก่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น กรณีต้องฟังว่าโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงให้นำสัญญาจำนองที่ดินมาเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้