กฎหมายฎีกา ปี 2545
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23
หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์แถลงขอคัดสำเนาในวันรุ่งขึ้นต่อมาอีก 1 เดือนโจทก์ยื่นคำร้องว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาจึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นสั่งในวันถัดมาว่าอนุญาตให้ขยายระยะเวลาแต่กำหนดวันให้น้อยกว่าที่โจทก์ขอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเพราะศาลชั้นต้นมิได้สั่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำร้อง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด จะถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วมิได้ เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่ความผิดของโจทก์ หากแต่เกิดจากความบกพร่องของศาลชั้นต้นเอง นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดในครั้งแรกได้ กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในครั้งที่สองต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1719/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 273, 275 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 238 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 47
การอ้างหนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นพยานเอกสารมิได้มีกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องมีโนตารีปับลิกเป็นพยานและต้องมีเจ้าหน้าที่สถานทูตของประเทศไทยรับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิกดังเช่นหนังสือมอบอำนาจที่ได้กระทำในต่างประเทศ
ป.อ. มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้นอกราชอาณาจักร โดยให้สิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายปลอมได้ การที่ผู้เสียหายไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยไม่อาจถือว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1718/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 273 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 108
ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 108เพียงแต่มีโทษเบากว่าเท่านั้น ซึ่งเมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 108 ได้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 108 แทน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 3 วรรคสอง ดังนั้น การปรับบทความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1715/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 90, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 212, 225 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ม. 46, 72, 73, 88, 88 ทวิ, 111, 117, 119, 122, 124
ความผิดฐานผลิต ขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับใบอนุญาตฐานผลิต ขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนโบราณที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและฐานผลิตขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนโบราณอันเป็นยาปลอมนั้น ยาแผนโบราณที่จำเลยผลิตขาย และมีไว้เพื่อขายดังกล่าวล้วนเป็นจำนวนเดียวกัน และถูกยึดไว้เป็นของกลางในคราวเดียวกันโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานขายยาแผนโบราณปลอมตามพระราชบัญญัติยาฯมาตรา 117 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานขายยาแผนโบราณปลอมต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจกำหนดโทษในความผิดฐานขายยาแผนโบราณปลอมให้สูงกว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 156
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาเนื่องจากคดีของโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย กลับยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้ตนนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าคดีของตนมีมูลที่จะฟ้องร้องและเป็นคนยากจน ดังนั้นปัญหาที่ว่าคดีโจทก์มีมูลที่จะฟ้องร้องหรือไม่ ย่อมยุติแล้วตามคำสั่งศาลชั้นต้น ถึงหากศาลจะอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมและได้ความว่าโจทก์เป็นคนยากจน ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณาคำขอของโจทก์นั้นใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1708/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/9
ในคำฟ้องปรากฏข้อความว่าจำเลยตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้โจทก์ในวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2528 ส่วนหนังสือสัญญาจะซื้อขายก็ปรากฏข้อความว่าจำเลยจะทำการโอนกรรมสิทธิ์กันในปี 2528 แสดงว่าจำเลยต้องจดทะเบียนโอนภายในวันที่ 31 ธันวาคม2528 เป็นอย่างช้าที่สุด ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ดำเนินการทางทะเบียนให้แก่โจทก์ภายในเวลาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไปและสิทธิเรียกร้องของโจทก์มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีอย่างช้าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 1 กรกฎาคม2542 เกินกว่ากำหนด 10 ปี จึงขาดอายุความ ตามมาตรา 193/9
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 36 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 26, 76
จำเลยเพียงแต่ซุกซ่อนกัญชาของกลางไว้ใต้เบาะนั่งด้านคนขับในรถยนต์ของกลางเท่านั้น รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ยานพาหนะหรือทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยตรง จึงไม่อาจริบได้ต้องคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1673 - 1674/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 261, 312
ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเกี่ยวกับเงินค่าก่อสร้างที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ย่อมถือว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกผู้จะต้องเสียหาย เพราะคำสั่งอายัดนั้น จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 261 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้อง สำเนาให้โจทก์และจำเลย นัดไต่สวนและมีการไต่สวนพยานผู้ร้อง โจทก์ได้รับสำเนาแล้วไม่คัดค้านว่าการไต่สวนไม่ชอบอย่างไร อีกทั้งทนายโจทก์ก็ซักค้านพยานผู้ร้องด้วย ย่อมถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของผู้ร้องโดยนำมาตรา 312 มาใช้บังคับอนุโลมแล้วตาม มาตรา 261 วรรคหนึ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายฉะนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินตามคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว มีผลเท่ากับไม่มีการอายัดเงิน จึงต้องคืนเงินที่อายัดให้แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ต้องคำสั่งอายัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1671/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 284
กรณีที่จะเป็นการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณสถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียนเมื่อโจทก์เพียงแถลงขอยึดทรัพย์ของจำเลยเพิ่มเพราะยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งอนุญาตแต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกินยอดหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการเกี่ยวกับการยึดที่ดินของจำเลยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ข้างต้น จึงไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้หรือไม่และต้องห้ามตามมาตรา 284 วรรคหนึ่ง หรือไม่ กรณีตามคำร้องของจำเลยยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งห้ามโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669 - 1670/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150, ตาราง 1
การเสียค่าขึ้นศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้องเป็นเกณฑ์มิได้พิจารณาเป็นรายคดีหรือรายสำนวน การเสนอข้อหาต่อศาลแต่ละข้อหาก็เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) แล้ว การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาแยกจากกันได้หรือไม่ หากแยกจากกันได้ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไป การที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้อหาหนึ่งกับเบี้ยปรับของภาษีการค้าอีกข้อหาหนึ่งแยกจากกันได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายข้อหา