กฎหมายฎีกา ปี 2555

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22783

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22783/2555

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 4

ภาพประดิษฐ์ และภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ ดังที่ปรากฏในหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตรงส่วนด้านล่าง เป็นข้อเท็จจริงที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพเครื่องหมายทั้งเครื่องหมายที่โจทก์ได้ยื่นคำขอและได้รับการจดทะเบียนไว้ โจทก์มิได้นำสืบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เห็นว่า นอกจากผู้ขอจดทะเบียนจะแสดงภาพประดิษฐ์ของตัวเครื่องหมายการค้าในคำขอจดทะเบียนแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนยังสามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะการใช้เครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนให้ปรากฏในคำนำขอจดทะเบียนอันเป็นการเพิ่มเติมไปจากการแสดงให้เห็นถึงตัวเครื่องหมายการค้าได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า ภาพประดิษฐ์และภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อของโจทก์เป็นเพียงภาพเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมายที่โจทก์ได้ยื่นคำขอและได้รับการจดทะเบียนไว้ มิได้มีความหมายสื่อไปถึงว่าเป็นภาพเครื่องหมายที่ถูกแสดงประกอบวิธีการใช้เครื่องหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 282 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 30, 41, 76

บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22778

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22777 - 22778/2555

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 354

คำเสนอต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญา จำเลยโฆษณามีใจความว่า ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประมูลหลักทรัพย์ของจำเลยในงานมหกรรมขายทอดตลาด วงเงินกู้สูงสุด 90 % ของราคาประเมินหลักทรัพย์ประกัน อัตราดอกเบี้ยมี 3 ทางเลือก 1) คงที่ 1 ปี 3.5 % ต่อปี 2) คงที่ 2 ปี 4.25 % ต่อปี 3) คงที่ 3 ปี 4.75 % ต่อปี ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ของจำเลยที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์ในการจัดงานดังกล่าวได้ ข้อความที่แสดงไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้ คงเป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้ชนะการประมูลทำคำเสนอขอสินเชื่อเงินกู้จากจำเลยภายในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยประเภทใดประเภทหนึ่งที่ระบุเอาไว้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22714

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22714/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 309 วรรคแรก, 309 วรรคสอง, 321 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 5, 120, 121

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งในความดูแลของ ค. บิดาผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้ ค. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 การที่ ค. ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง

จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22312

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22312/2555

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 18 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 67, 68 วรรคสอง, 80

โจทก์กล่าวอ้างว่าผลของสัญญาซื้อขายหุ้นทำขึ้นโดยคู่สัญญาที่มิได้มีสัญชาติไทยและมิได้ทำขึ้นในประเทศไทยจึงต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ โจทก์มิได้นำสืบว่ากฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยบังคับ

เมื่อสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่างฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโจทก์และผู้ถือหุ้น ส่วนที่เหลือของบริษัทโจทก์ในฐานะผู้ขาย กรานาด้า กรุ๊ป พีแอลซี ในฐานะผู้รับประกัน และพีเอโฮลดิงส์ (แอล) ฟรานซ์ เอสอา ในฐานะผู้ซื้อ โดยฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ส่วนฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนคนละประเทศกัน ย่อมมีความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ มีอำนาจกระทำการแทนฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. สัญญาซื้อขายหุ้นจึงไม่มีผลผูกพันฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์.

เมื่อบริษัท พ. เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมที่ใช้ชื่อ เป็นชื่อทางการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ และรูปลวดลายประดิษฐ์ จึงมีสิทธิทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการดังกล่าวในประเทศไทยได้ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวทำขึ้นหลังจาก บริษัท พ. ซื้อสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการในกรุงนิวยอร์ก การทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการที่จดทะเบียนในต่างประเทศก่อนจดทะเบียนในประเทศไทยเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจึงมีผลใช้บังคับได้

ระหว่างพิจารณาคดีนี้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า ของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์คำสั่งหรือฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด และพยานหลักฐานของอื่นโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักโรงแรมของโจทก์ก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือใช้ชื่อ ในประเทศไทย ส่วนจำเลยได้นำสืบถึงการโฆษณาในประเทศไทยเกี่ยวกับโรงแรมที่ใช้ชื่อดังกล่าวในกรุงนิวยอร์กของบริษัท พ. ตั้งแต่ปี 2541 เมื่อโรงแรมของจำเลยเปิดให้บริการในประเทศไทยจำเลยโฆษณาประชาสัมพันธ์และโรงแรมของจำเลยในประเทศไทยยังได้รับรางวัลและจัดอันดับโดยหนังสือท่องเที่ยวของต่างประเทศ เห็นว่า จำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการโดยสุจริตโดยอาศัยสิทธิของบริษัท พ. การประกอบกิจการโรงแรมของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตโดยมิได้อาศัยชื่อเสียงของโรงแรมของโจทก์ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งโจทก์ก็มิได้ประกอบกิจการโรงแรมของโจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย จึงไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม ชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายบริการดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายบริการในประเทศไทยดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1), 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7), 43, 44, 123

กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22691/2555

พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ม. 4, 39

ในคดีอาญาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนคำฟ้อง และพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายว่า จำเลยตั้งโรงรับจำนำ ประกอบการรับจำนำสิ่งของ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กบไสไม้ โทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่น ๆ เป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุรกิจแต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจะได้ไถ่คืน โจทก์มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้สมฟ้อง แต่โจทก์มีพยานเพียง 3 คน เบิกความว่านำสิ่งของจำนำไว้แก่จำเลยเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้หนังสือสัญญาซื้อขาย 69 เล่ม และคู่มือจดทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบก 10 เล่ม มาเป็นของกลาง แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและมิได้นำสืบให้เห็นว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถนั้นเกี่ยวข้องกับการรับจำนำสิ่งของที่ร้านค้าของจำเลยหรือไม่ อย่างไร ทั้งในชั้นสอบสวนก็ไม่ได้สอบผู้ที่ทำสัญญาซื้อขาย จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถเป็นพยานเกี่ยวกับการรับจำนำสิ่งของของจำเลยอันจะเป็นพฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นปกติธุระตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505 จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22674

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22674/2555

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 4, 15

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ได้ให้บทนิยามคำว่า "นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร การที่จำเลยเดินทางจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศไทย โดยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางติดตัวมาด้วยดังกล่าวไม่ว่าจำเลยจะได้เมทแอมเฟตามีนมาจากใครและด้วยวิธีการอย่างไร หรือเป็นการนำติดตัวจากประเทศไทยดังที่จำเลยอ้างหรือไม่ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แหล่งที่มาและการได้มาซึ่งเมทแอมเฟตามีนก่อนการนำเข้าจึงมิใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 991 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46

ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่

« »