กฎหมายฎีกา ปี 2555

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19860

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19860/2555

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522

แม้โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ประมูลซื้อมาได้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ อันเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิในห้องชุดพิพาทในฐานะผู้ซื้อที่สุจริต และมีสิทธิที่จะขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ได้หากโจทก์ได้ชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมของห้องชุดพิพาทค้างชำระ เช่นนี้ การที่โจทก์ขอชำระหนี้ของห้องชุดพิพาทที่ค้างชำระและขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมีข้อโต้แย้งกันว่ายอดหนี้ค้างชำระของห้องชุดพิพาททั้งในส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับหรือเงินเพิ่มมีจำนวนเท่าใด ตลอดจนจำเลยที่ 1 จะเรียกให้โจทก์ชำระได้มากน้อยเพียงใด จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยยอดหนี้ค้างชำระของห้องชุดพิพาทที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19673

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19673/2555

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 100/2

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมให้ข้อมูลเครือข่ายผู้กระทำความผิดที่ตนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือติดต่ออยู่ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่เหลืออยู่ในสังคมให้หมดสิ้น เพื่อความสงบสุขของสังคม ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบไว้แล้วในศาลชั้นต้น

คำเบิกความของดาบตำรวจ อ. ผู้จับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของสิบตำรวจโท ค. กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้อีก 2 ราย ไม่มีรายละเอียดของบุคคล วันเวลา สถานที่ที่จับกุมรวมทั้งยาเสพติดให้โทษหรือพยานหลักฐานในการจับกุมที่จะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้ถูกจับกุมให้ตรวจสอบได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลใด ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่จำเลยเกี่ยวข้อง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและมีการจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอีก ๒ รายจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22741

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22741/2555

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213, 225

ความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง โจทก์บรรยายฟ้องความผิดทั้งสองฐานรวมมาในฟ้องข้อ ค. ว่า เหตุที่จำเลยทั้งสี่กระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 นั้น ก็เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์พาหรือเพื่อให้ยื่นให้ทรัพย์นั้น หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างเรียงกระทงลงโทษความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความเสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22850/2555

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/32, 290, 420, 424, 448, 587 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46, 47 วรรคหนึ่ง, 51 วรรคสาม

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ข้อ 4 เกี่ยวกับการส่งมอบงานงวดที่ 3 อันเป็นงวดสุดท้าย คู่สัญญาทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างต้องมีการทดลองระบบทุกระบบที่ติดตั้งให้คณะกรรมการตรวจการจ้างรับว่าใช้ราชการได้ดี แต่ในการตรวจรับงานงวดที่ 3 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้ทำการทดลองทุกระบบ รวมทั้งไม่ได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าบกให้แก่เรือรบหลวงตามสัญญาอันจะทำให้ทราบว่าระบบไฟฟ้าบกใช้ราชการได้ดีหรือไม่ และต่อมาเมื่อมีการใช้ระบบไฟฟ้าบกแก่เรือรบหลวง ปรากฏว่าไม่สามารถใช้ได้ตามสัญญา เป็นเหตุให้เรือรบหลวง 5 ลำ ต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเรือซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ค่าบำรุงรักษา และค่าสึกหรอของเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าสูงกว่าการใช้ระบบไฟฟ้าบกเป็นเงิน 4,591,790.07 บาท นั้น เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกไม่ครบถ้วน และไม่มีประสิทธิภาพตามสัญญา อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำของ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์อันจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 แต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับมอบงานจากจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จากการที่จำเลยที่ 5 ผิดสัญญา การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 เพราะเหตุปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ในวันที่ 25 กันยายน 2540 จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 5 ให้ติดตั้งระบบไฟฟ้าบกก็เพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคพื้นดินให้แก่เรือรบหลวงที่จอดเทียบท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ทำให้เรือรบหลวงนั้นไม่ต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ต้องสิ้นเปลืองค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และเครื่องยนต์สึกหรอ และงานการติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าตามรูปแบบที่กำหนดตามสัญญาดังกล่าวก็มีรายละเอียดมาก ทั้งงานทั้งระบบก็มีมูลค่าค่าจ้างสูงถึง 5,600,000 บาท ย่อมมีเหตุผลที่โจทก์จะต้องตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ในการจ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าบกดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ โดยมีการกำหนดเป็นข้อสัญญาว่า ต้องมีการทดลองระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งทุกระบบ ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบและรับว่าใช้ราชการได้ดีด้วยนั้นเป็นข้อสำคัญที่จำเลยที่ 5 ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญานี้ โดยต้องทดลองในสภาพเช่นเดียวกับการใช้งานจริงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านระบบนี้ให้แก่เรือรบหลวงด้วย มิใช่เพียงทดลองตรวจสอบระบบที่ติดตั้งโดยไม่ต้องทดลองจ่ายไฟฟ้าแก่เรือรบหลวงดังที่จำเลยที่ 5 ให้การแต่อย่างใด จำเลยที่ 5 มิได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าตามระบบที่ติดตั้งนี้ให้แก่เรือรบหลวงที่จอดเทียบท่าเทียบเรือแหลมเทียนว่าใช้งานได้เรียบร้อยดีหรือไม่ ย่อมเป็นการที่จำเลยที่ 5 ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อสัญญาดังกล่าว อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้ว

คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 363/2537 ของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งกองทัพเรือโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพดำเนินคดีแทนโจทก์ ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีอาญาจึงเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้ และปัญหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์คดีนี้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงที่โจทก์นำมาฟ้องในทางแพ่งเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีอาญาดังกล่าว และปรากฏตามคำพิพากษาคดีอาญาว่า มีการกล่าวอ้างและสืบพยานหลักฐานในปัญหาข้อเท็จจริงนี้แล้ว ซึ่งในที่สุดศาลทหารกรุงเทพก็ได้วินิจฉัยถึงสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่ต้องให้ผู้รับจ้างทดลองระบบทุกระบบรวมถึงการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เรือด้วย และวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้รับจ้างไม่ได้ทดลองระบบทุกระบบต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ทดลองจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เรือ ทั้ง ๆ ที่ในวันตรวจรับงานมีเรือจอดที่ท่าเทียบเรือ การตรวจรับงานงวดที่ 3 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ทางราชการกองทัพเรือได้รับความเสียหาย และเมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำความผิดอาญาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพจึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้ และศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 54 จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ตามคำฟ้อง

สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการยื่นฟ้องคดีแพ่งคดีนี้ย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม ไม่ใช่มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์นั้น ไม่ใช่กรณีที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพ หากแต่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในทางแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424

จำเลยที่ 5 ไม่ได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าบกแก่เรือจริง แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็ยังยอมรับมอบงานและรับรองว่างานถูกต้องตามสัญญาอันเป็นการเอื้อต่อการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 5 โดยมิชอบ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเรือรบหลวงในช่วงเวลาที่ต้องตรวจสอบเหตุบกพร่องของระบบไฟฟ้าบกที่จำเลยที่ 5 รับจ้างโจทก์ติดตั้ง อันมีเหตุแห่งความเสียหายและลักษณะแห่งความเสียหายเดียวกัน ย่อมมีผลให้มีจำนวนค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน โดยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีเหตุที่ควรกำหนดค่าเสียหายแตกต่างกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท เช่นเดียวกับที่จำเลย ที่ 5 ต้องรับผิดจากการผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ร่วมกันทำละเมิดต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่สำหรับจำเลยที่ 5 แม้ต้องรับผิดในหนี้จำนวนเดียวแต่เป็นหนี้เงินซึ่งมิใช่หนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้ ทั้งมูลเหตุแห่งความรับผิดในมูลละเมิดและการผิดสัญญาก็แตกต่างกัน จำเลยที่ 5 จึงมิใช่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 290

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2555)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22843

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22843/2555

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์ โดยอ้างว่า คดีนี้เหตุเกิดที่ร้านบ้านนาการเกษตร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และที่บริษัท อ. อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมูลคดีเกิดในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำราจภูธรบ้านนา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่มีการจับกุมแจ้งข้อหาแก่บริษัท อ. ทั้งที่ทำการของบริษัทดังกล่าวไม่ใช่ตัวแทนหรือสาขาของจำเลยที่ 1 เมื่อฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผลิตจึงต้องให้พนักงานสอบสวนที่อยู่ในเขตภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองรับผิดชอบ คือสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลาดหลุมแก้ว จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตปุ๋ย ณ สถานที่ตั้งหรือสถานที่แบ่งบรรจุ ส่วนเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นเพียงผลสรุปแห่งข้อโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวเท่านั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 337 วรรคแรก, 80 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสี่, 225

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22726

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22725 - 22726/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 334, 335, 357

วันเวลากระทำความผิดในสำนวนคดีแรกและในสำนวนคดีที่สองที่โจทก์บรรยายฟ้องทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรนั้นต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองคนละคดีเป็นรายกระทงความผิดจึงกระทำได้ ประกอบกับวันที่จำเลยถูกจับกุมมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกัน นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่บ้านพวกของจำเลยและที่ห้องพักของจำเลยคนละวันกัน แสดงว่าทรัพย์ของกลางที่ถูกตรวจค้นพบทั้งสองครั้งจำเลยมิได้รับไว้ในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้นแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22722

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22722/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ม. 24, 44, 50 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 ม. 7, 8

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมียาสูบซึ่งผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบหลายยี่ห้อ รวม 861 ซอง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบดังกล่าว แม้ในฟ้องจะระบุฐานความผิดว่า ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวก็ตาม ซึ่งก็มิใช่การบรรยายฟ้องในส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งการที่จำเลยมียาสูบของกลางจำนวนมากไว้ในครอบครอง ก็ไม่มีกฎหมายสันนิษฐานว่ามีไว้ขายหรือเพื่อขาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้

เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 จึงไม่อาจริบบุหรี่ของกลางเป็นของกรมสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 44 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อีกทั้งคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำเลย จึงไม่อาจพิพากษาให้จ่ายสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 ตามที่โจทก์ขอ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/10, 193/24, 1748 วรรคหนึ่ง, 1754 วรรคท้าย

เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22785

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22785/2555

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 824 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 4

จำเลยลงชื่อในใบตราส่งไว้ในฐานะตัวแทนเรือ จำเลยรับจองระวางเรือและลงชื่อในใบตราส่งแทนผู้ขนส่งเท่านั้น โดยจำเลยเป็นสำนักงานตัวแทนของผู้ขนส่งในประเทศไทย มีสำนักงานอยู่ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ แม้จำเลยและผู้ขนส่งต่างก็เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการการขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เช่นกัน แต่จำเลยก็มิใช่ผู้ขนส่ง และเมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ขนส่งโดยไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์แทนผู้ขนส่งตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศอันจะทำให้จำเลยต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ได้ด้วย

« »