กฎหมายฎีกา ปี 2556
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18103/2556
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 27, 91
บริษัท ค. ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและเป็นลูกค้าโจทก์ซึ่งประกอบอาชีพขายเครื่องวัสดุก่อสร้าง ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างมานานถึง 10 ปี เมื่อปี 2550 บริษัท ว. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ก่อสร้างโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยซ์ เรสสิเด้นท์ หลังสวน โดยบริษัท ค. ได้รับเงินสนับสนุนจากจำเลยในรูปของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เป็นหลักฐานตามบันทึกข้อตกลงกับสัญญารับชำระหนี้ และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันค่าวัสดุก่อสร้างที่บริษัท ค. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท บริษัท ค. ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์หลายครั้ง และชำระเงินด้วยตนเองต่อมาบริษัท ค. ประสบภาวะขาดทุน ไม่มีเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกระทั่งกลางปี 2551 โจทก์งดขายวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. ขณะนั้นมีหนี้ค้างชำระโจทก์ 10,000,000 บาท หลังจากโจทก์งดสั่งวัสดุก่อสร้าง โจทก์โดย ธ. จำเลยโดย อ. ตัวแทน บริษัท ค. และบริษัท ว. ประชุมร่วมกันเพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไป จำเลย โดย อ. ทำหนังสือสนับสนุนการเงินแก่บริษัท ค. จากนั้น โจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. และโจทก์ได้รับค่าวัสดุก่อสร้างเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายรวม 12 ฉบับ ต่อมาระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2553 โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัท ค. เป็นเงิน 1,139,520 บาท แต่ไม่ได้รับชำระโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค. และโจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายกลางมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค.
การที่บริษัท ค. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างโดยตรงไม่ผ่านจำเลย แต่จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้และการชำระสินค้าบริษัท ค. ก็ชำระค่าสินค้าโดยตรงแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์งดส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนไม่มีเงินหมุนเวียนจนต้องมีการประชุมระหว่างฝ่ายโจทก์ จำเลย บริษัท ค. และบริษัท ว. เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปและฝ่ายจำเลยได้ออกหนังสือยืนยันสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้วิธีการสั่งซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้าก็เปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จากแคชเชียร์เช็ค 12 ฉบับ เป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งก็เป็นภายหลังที่มีการตกลงดังกล่าวหาก อ. ตัวแทนของจำเลยไม่รับรองต่อ ธ. ตัวแทนโจทก์และที่ประชุม ทั้งยังมีเอกสารยืนยันสนับสนุนทางการเงินแล้วโจทก์คงไม่ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัท ค. ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นแคชเชียร์เช็คถึง 12 ฉบับ อันเป็นการชำระหนี้ตามข้อตกลงในที่ประชุมนั่นเอง อ. พยานจำเลยเบิกความยอมรับว่า การสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจำเลยกำหนดขั้นตอนการสั่งซื้อโดยบริษัท ค. ต้องแจ้งให้จำเลยทราบโดยตัวแทนของจำเลยจะลงลายมือชื่อในช่อง ACKNOWLEDGE ก่อนที่บริษัท ค. จะส่งใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของ ธ. ยิ่งกว่านั้นใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งของ ใบวางบิล และใบรับใบวางบิลระหว่างวันที่ 16 พ.ค. 2552 ถึงวันที่ 26 ม.ค. 2553 ก็มีลายมือชื่อของตัวแทนจำเลยในช่อง ACKNOWLEDGE ตรงมุมบนของเอกสารดังที่ ธ. และ อ. เบิกความ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยโดย อ. ตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์แทนบริษัท ค. จริง
การที่จำเลยตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแทนบริษัท ค. และใบสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ตัวแทนของจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้บริษัท ค. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์และโจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. กับมีการขอรับชำระค่าสินค้าโดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เช่นนี้ จึงเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของบริษัท ค. ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าวัสดุก่อสร้างตามฟ้อง อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์ได้ไปขอรับชำระค่าวัสดุก่อสร้างในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค. ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งเป็นมูลหนี้ค่าวัสดุรายเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดเงื่อนไขให้ชำระหนี้คดีนี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21623/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ให้ส่งตัวจำเลยที่ 5 ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าที่จำเลยที่ 5 จะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 ให้มอบตัวจำเลยที่ 5 ให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระวังจำเลยที่ 5 ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาภายใน 1 ปี หากจำเลยที่ 5 ก่อเหตุร้าย บิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาท กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (2) (3) มิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 เกิน 2 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติกรรมของจำเลยที่ 5 เป็นความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21553/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 29, 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225
ป.อ. มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับรายวันแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้
ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21502/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 334, 336 ทวิ, 362 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43, 44/1
ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21441/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 วรรคสอง (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2639/2550 ของศาลแขวงดุสิต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18431/2556
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 28
โจทก์เป็นเพียงผู้รับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่บริษัท ว. โดยโจทก์ได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าให้บริษัท ว. จำเลยได้รับขนส่งสินค้าโดยออกใบตราส่งระบุว่าบริษัท ว. เป็นผู้ส่งของบริษัท ม. เป็นผู้รับตราส่ง แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้ขนส่งทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบริษัท ว. ผู้ส่งของ โดยโจทก์เป็นตัวแทนเข้าจัดการว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่ง อันเป็นการทำสัญญาในฐานะตัวแทนของบริษัท ว. ผู้เป็นตัวการ บริษัท ว. ในฐานะผู้ส่งของย่อมเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยโดยตรง โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับสินค้า ส่วนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 28 ที่บัญญัติให้ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งแก่ผู้ขนส่งนั้น หากผู้ขนส่งมอบสินค้าไปโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง แม้จะเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้ขนส่งก็เป็นกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามสัญญาขนส่ง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ส่งของและมิใช่ผู้รับตราส่งหรือผู้มีสิทธิรับสินค้าจากผู้ขนส่ง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาต่อโจทก์ ส่วนกรณีที่หากบริษัท ว. ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับจัดการขนส่งและเป็นตัวแทนตามหลักกฎหมายตัวแทนต่างหาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18407/2556
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 39, 44, 45
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 มาตรา 44 และมาตรา 45 นั้น ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายโดยเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่ของนั้นอยู่ในความดูแลของตน จึงไม่ใช่ต้องรับผิดเพียงเฉพาะมูลค่าสินค้าที่เสียหาย แต่ยังต้องรับผิดถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้รับตราส่งได้รับจากผลแห่งความเสียหายของสินค้าด้วย ค่าภาษีศุลกากรและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์จำเป็นต้องจ่ายในการนำเข้าสินค้า เมื่อสินค้าเสียหายทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ไม่อาจนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคิดเป็นต้นทุนในการขายสินค้าเพื่อให้ได้ทุนคืน และโจทก์เสียโอกาสในการขายให้ได้กำไร ดังนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมทั้งค่าขาดกำไรย่อมเป็นความเสียหายที่เป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2556
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 78, 160
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ดังนี้ ผู้ขับขี่ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 160 วรรคสอง หมายถึงกรณีที่ขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง และการไม่ปฏิบัติตามนี้เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าภายหลังจากจำเลยขับรถในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินแล้ว จำเลยได้หลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีโดยจำเลยได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1646
ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18462/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 - 8186 เพชรบุรี และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง - 5190 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธความรับผิดในส่วนนี้ไว้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่ อ. เป็นเจ้าของ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จึงเป็นไปตามที่โจทก์ทั้งสองระบุในฟ้องและเป็นประเด็นพิพาท คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง