กฎหมายฎีกา ปี 2556
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21793/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1574, 1711, 1719, 1722, 1736 วรรคสอง
โจทก์ที่ 1 ขอให้ ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. สามีตน ศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรม ป. มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2518 โดยโจทก์ที่ 1 ร้องขอต่อศาล แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะตั้งผู้จัดการมรดกโดยเร็วเพื่อนำทรัพย์มรดกของ ป. มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ป. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ในโฉนดเลขที่ 4134 ให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนยันว่าก่อนที่จะตกลงซื้อขายที่ดิน ป. พาโจทก์ที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้านปรึกษาระหว่างพี่น้องในเรื่องการขายที่ดิน น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ทราบถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่าง ป. กับจำเลยที่ 2 ก่อนแล้ว การขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ทำการซื้อขายโดยเปิดเผย สุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยมีการซื้อขายในราคา 500,000 บาท เท่ากับราคาที่ได้ระบุเอาไว้ในคำสั่งของศาลแพ่งขณะตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกและมีพยานรู้เห็นในการทำสัญญาสองคน ทั้งในท้ายสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนตามเอกสารหมาย ล.2 ป. ยังให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ด้วยว่า ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. มีความจำเป็นขายที่ดินส่วนนี้เพื่อนำเงินไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ช. เป็นความจริง เห็นได้ว่าการซื้อขายเป็นไปโดยสุจริตปราศจากการฉ้อฉลหลอกลวง และ ป. มิได้มีส่วนได้เสียกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์แก่กองมรดกแต่ประการใด
ป. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และ พ. ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แต่อย่างใด การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของ ช. ระหว่าง ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21739/2556
พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 ม. 4, 7 (2), 7 (3)
พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยเพราะราชการเป็นเหตุ เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ไปประจำสำนักงานในท้องที่ที่ตนไม่มีที่อยู่อาศัย พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า "ท้องที่" ไว้ว่า หมายความถึง กรุงเทพมหานคร อำเภอหรือกิ่งอำเภอ เห็นได้ว่า ตามบทนิยามดังกล่าวมิได้ประสงค์ให้ใช้อำเภอหรือกิ่งอำเภอเป็นหลักในการกำหนดว่าเป็นท้องที่ที่รับราชการครั้งแรก จึงต้องพิจารณาจากท้องที่ ที่เป็นเขตพื้นที่การปกครองของอำเภอหรือกิ่งอำเภอตามสภาพความเป็นจริง โดยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การปกครองที่เกิดขึ้นภายหลังจะต้องไม่มีผลกระทบต่อสิทธิที่เกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น การที่ ม. บรรจุรับราชการครั้งแรกที่ตำบลเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แต่ต่อมาย้ายมารับราชการภายหลังจากที่ตำบลเวียงชัยมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจากตำบลเวียงชัย เป็นอำเภอเวียงชัยแล้ว ก็ไม่ทำให้ ม. เกิดสิทธิที่จะเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการตามมาตรา 7 (3) ได้ ส่วนการที่ ม. กู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อปลูกสร้างบ้านที่อำเภอเมืองเชียงรายซึ่งเป็นท้องที่ที่ตนบรรจุรับราชการครั้งแรกและเป็นท้องที่ที่ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำสำนักงานใหม่ กรณีย่อมถือได้ว่า ม. มีเคหสถานของตนในท้องที่ดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้เบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการตามมาตรา 7 (2) เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21730/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
จำเลยที่ 4 เป็นทนายความอันเป็นวิชาชีพด้านกฎหมาย จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบและมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ ทั้งการว่าความในศาลย่อมมีผลกระทบต่อคู่ความที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการฟ้องคดีล้มละลาย หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บุคคลผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ หลายประการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 จำเลยที่ 4 จึงควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 เพียงตรวจสอบหมายเลขประจำตัวประชาชนของ พ. ลูกหนี้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่ให้ไว้ต่อธนาคาร ท. ขณะทำสัญญาค้ำประกัน แล้วนำหมายเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปขอคัดสำเนาทะเบียนราษฎร ปรากฏว่าบุคคลที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวคือโจทก์ ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 4 จึงฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีชื่อแตกต่างจาก พ. และจำเลยที่ 4 ก็มีข้อมูลของ พ. ตามสำเนาทะเบียนบ้าน และยื่นสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวประกอบคำฟ้องด้วย ดังนี้ หากจำเลยที่ 4 ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้าน กับแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 4 ก็จะทราบได้โดยง่ายว่า ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีเกิด รวมทั้งชื่อบิดามารดาโจทก์กับ พ. นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อันแสดงว่าโจทก์และ พ. เป็นคนละคนกัน แต่จำเลยที่ 4 หาได้กระทำไม่ ไม่สมกับเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายในวิชาชีพทนายความ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลที่ถูกฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 4040/2549 ของศาลล้มละลายกลางโดยให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่ายนั้นวัตถุประสงค์ของโจทก์คือต้องการให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันให้บุคคลทราบโดยทั่วไป การที่ศาลอุทธรณ์ระบุจำนวนฉบับและจำนวนวันก็เพื่อให้ชัดเจนและสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะได้ปฏิบัติ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่เกินคำขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21697/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 150 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 25 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 13, 16 (3), 45
ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพต่อเมื่อคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้น และการไต่สวนและมีคำสั่งนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. กรณีไม่อาจนำ ป.วิ.อ. ใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้ เพราะตามคำร้องผู้กระทำความผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16 (3) คดีของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน แม้การไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นไม่ใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกา แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคห้า และวรรคสิบเอ็ด ดังนี้ ศาลพลเรือนจะรับไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพได้ก็เฉพาะแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน มิใช่ว่าเมื่ออัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน แล้วอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ร้องเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ซึ่งผู้ร้องจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ไม่ได้ จะทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนต้องไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271, 275, 278 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 745
การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โดยขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี ต่อจากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 278 ดังนั้น การที่ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอีกจนพ้นกำหนดเวลาสิบปี ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่หนี้ตามคำพิพากษา แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองได้ระงับสิ้นไป การจำนองจึงยังคงมีอยู่ ดังนั้น ผู้ร้องจึงยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมายกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเป็นเวลาห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 เท่านั้น ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5948/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 292
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้แก่ ช. ผู้ซื้อทรัพย์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2553 ก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีที่ดินพิพาท เมื่อการงดการบังคับคดีจะดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่การบังคับคดียังไม่ได้กระทำหรือที่จะกระทำต่อไปเท่านั้น จะงดการบังคับคดีที่ปฏิบัติมาแล้วหาได้ไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขายทอดตลาดทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5946/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้เสร็จสิ้น ภายในกำหนด 10 ปีไม่ ปรากฏว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งนายจ้างได้ส่งเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเดือนละ 2,000 บาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดมา แต่ยังไม่ครบหนี้ตามหมายบังคับ เมื่อโจทก์ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอดดังนี้ แม้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนกว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะแล้วเสร็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21640 - 21641/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 282 วรรคสี่, 312 ตรี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 195 วรรคสอง, 212, 215, 225 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ม. 9 วรรคห้า, 12 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ กับผู้เสียหายที่ 3 อายุ 14 ปีเศษและผู้เสียหายที่ 5 อายุ 17 ปีเศษ จากประเทศไทยเพื่อไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อช่วยทำเอกสารบัตรผ่านแดนและเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายทั้งสามผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซีย จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 3 กระทำความผิดหาใช่เป็นตัวการไม่ แต่ต้องระวางโทษเท่ากับตัวการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคห้า และตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคสี่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 พาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จากประเทศไทยเพื่อไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซียนั้น ถือได้ว่ามีเจตนาเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณีเท่านั้น และมิใช่เป็นการรับตัวผู้เสียหายทั้งสามไว้โดยทุจริต จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ว่าเป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นการกระทำในคราวเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ จึงไม่อาจแก้ไขโทษได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21627/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326
จำเลยเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เรื่องอุทธรณ์คำสั่งบรรจุแต่งตั้งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงาน แม้ข้อความโดยรวมเป็นการกล่าวหาผู้เสียหายซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโตนดและเป็นผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลตำบลบ้านโตนดว่ารับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นพนักงานเทศบาลไม่โปร่งใส เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการใส่ความผู้เสียหายก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำต่อบุคคลที่สาม กลับได้ความเพียงว่า ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลบ้านโตนดไปพบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวที่หน้าคอมพิวเตอร์ห้องงานคลังด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้นำออกมาแสดงต่อ ก. เพื่อให้ทราบข้อความในเอกสารนั้น ส่วน ศ. พนักงานขับรถของผู้เสียหายก็เพียงแต่สงสัยว่าจำเลยจะเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนดังกล่าวเท่านั้น ทั้งจำเลยยังไม่ได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยทราบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21554/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (7) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 20
ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีบรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดหรือบทกำหนดโทษ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ปรับบทดังกล่าวแล้วลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)