คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1627 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
โจทก์ฟ้องว่าเป็นพี่ผู้ตายขอให้พิพากษาว่าที่ดินที่ผู้ตายครอบครองอยู่เป็นมรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกห้ามเกี่ยวข้องจำเลยให้การว่าเป็นบุตรผู้ตายได้ยื่นเรื่องราวขอรับมรดกผู้ตายการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วนั้นจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำให้การนอกประเด็นแต่ประการใด
บิดาแจ้งทะเบียนบุตรเกิด ให้ใช้นามสกุล มีพฤติการณ์รู้กันทั่วไปว่าเป็นบุตร รับมรดกของบิดาได้ตาม มาตรา1627
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการต่อท่อสูบถ่ายน้ำมันเบนซินจากเรือบรรทุกน้ำมันเข้าคลังน้ำมันของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เมื่อเดินเครื่องสูบน้ำมันแล้วเป็นเหตุให้น้ำมันเบนซิน 5,195 ลิตร รั่วไหลตกลงไปในแม่น้ำแผ่กระจายไปบนผิวน้ำถ่านที่เหลือจากการหุงต้มทิ้งลงในแม่น้ำตามปกติทำให้เกิดไฟลุกไหม้น้ำมันเบนซินบนผิวน้ำลุกลามไหม้บ้านเรือนทรัพย์สินของโจทก์อย่างรวดเร็วเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ดำเนินกิจการคลังน้ำมันร่วมกันโดย ช. ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการคลังน้ำมันร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้เป็นนายจ้างร่วมกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3)
รถชนกันเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2519 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2520 โดยวันที่ 27 มีนาคม 2520 ตรงกับวันอาทิตย์ และจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ศาลชั้นต้นมีหมายเรียกจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่เกิดเหตุเข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดเมื่อเกินกำหนด 1 ปีนับแต่วันละเมิดเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยเพราะจำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยจะนำบทบัญญัติ มาตรา 448 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้ต้องเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี มาบังคับไม่ได้คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084 - 2085/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 168, 175 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94 (1)
หนี้เงินที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ถือว่าผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ศาลได้พิพากษา หนี้เงินตามคำพิพากษาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลได้พิพากษาหาได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยรับคำบังคับไม่
หนี้เงินตามคำพิพากษาคดีแพ่งนั้น เป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษา ซึ่งตามมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี
โจทก์ได้ฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้จำนวนเงินตามคำพิพากษาคดีแพ่งภายในกำหนดอายุความ 10 ปีเมื่อโจทก์ฟ้องคดียังศาลแล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่ตามนัยมาตรา 175 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ยื่นในระหว่างอายุความสะดุดหยุดอยู่จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา94(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2523
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 4, 35
จำเลยเข้าไปปลูกข้าวโพดในป่าสงวนแห่งชาติ ข้าวโพดของกลางเป็นผลิตผลเกิดจากการปลูกหว่านของจำเลย หาใช่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าอันจำเลยเก็บเกี่ยวเอาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงไม่ จึงไม่เป็นของป่า ทั้งไม่เป็นของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง ไม่เป็นของที่ต้องริบตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 1300 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 145
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดเป็นของ บ. บุคคลภายนอก ไปแล้ว โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ออกให้บ. ว่าไม่ชอบอย่างไร โจทก์ไม่มีทางชนะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 55, 72, 78
มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีเครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่ในการสงครามกฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละ มาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์ที่จะแยก ความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกันทั้งวัตถุของกลางก็เป็นคนละประเภทแสดงว่าเจตนามีไว้แตกต่างกัน และความผิดแต่ละประเภทสำเร็จแล้วนับแต่มีไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีไว้ ในวันเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218, 226
ฎีกาว่าบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ส. พยานโจทก์รับฟังไม่ได้เพราะเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำบอกเล่าของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกับที่จำเลยถูกฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138
คู่ความตกลงกันว่า ให้ฝ่ายจำเลยจัดการนำข้อความตามที่กำหนดไปประกาศลงในหนังสือพิมพ์ โจทก์แถลงว่า เมื่อจำเลยลงประกาศในหนังสือพิมพ์ครบกำหนดแล้ว โจทก์จะขอถอนฟ้องศาลชั้นต้นออกคำสั่งให้จำเลยนำข้อความตามที่ตกลงกันไปประกาศหนังสือพิมพ์โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง แปลความหมายได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกคดีด้วยการถอนฟ้องโดยมีเงื่อนไขให้ฝ่ายจำเลยลงประกาศในหนังสือพิมพ์เสียก่อน การประกาศหนังสือพิมพ์เป็นเงื่อนไขในการถอนฟ้องเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะข้อตกลงโดยมิได้มีการถอนฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยไม่ลงประกาศข้อความในหนังสือพิมพ์ ย่อมมีผลว่าโจทก์ไม่ผูกพันที่จะต้องถอนฟ้อง ซึ่งโจทก์ก็ไม่ถอนฟ้องเท่ากับว่าคู่ความเลิกคดีกันไม่ได้ศาลชั้นต้นต้องทำการพิจารณาต่อไปเสมือนกับว่าไม่มีข้อตกลงใด ๆ กันมาก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 145
เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำชี้ขาดย่อมเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก