คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2344

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2344/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118

โจทก์ตกลงกู้เงินจากจำเลยโดยเอาที่พิพาทจำนองค้ำประกันแต่ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพราง และเมื่อปรากฏว่าจำเลยขายที่พิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว จำเลยก็ต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์โดยหักเงินที่โจทก์กู้ออกจากเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2523

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 25 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 25 วรรคสองและประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของคณะบุคคล(คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) นั้นให้เป็นที่สุด หมายความว่า เป็นคำชี้ขาดที่ถูกต้องตามที่กฎหมาย ให้อำนาจที่จะชี้ขาดเช่นนั้นได้ หากคำชี้ขาดใดไม่มีกฎหมายให้อำนาจหรือปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ คำชี้ขาดนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นที่สุด ผู้ที่ได้รับความเสียหายเพราะคำชี้ขาดย่อมมีอำนาจฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 25 วรรคสองดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องกล่าวอ้างว่า คำชี้ขาดของจำเลยเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุผลเพียงพอในการทำคำวินิจฉัยแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่จะต้องรับไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2342

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2342/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375

โจทก์ได้รับมรดกที่พิพาทจากสามี ส. มารดาจำเลยซึ่งดูแลที่ดินแทนจำเลยเข้าไปปลูกถั่วในที่พิพาทโจทก์จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาโจทก์กับ ส. ตกลงกันต่อพนักงานสอบสวนว่า ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำสั่งประการใด ให้ ส. เป็นผู้จัดทำประโยชน์ต่อไปโดยสุจริตข้อตกลงนี้ถือว่าให้ ส. เข้าครอบครองที่พิพาทเพื่อรอฟังคำสั่งศาลเท่านั้น ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำสั่ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

จำเลยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร คนงานก่อสร้างได้กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำเลยต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นด้วย คนงานซึ่งถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยในทางการที่จ้างได้ทำโดยประมาท จะอ้างว่าคนงานของผู้รับเหมาช่วงเป็นผู้กระทำเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่

หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดถูกฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัวได้ไม่เป็นฟ้องผิดตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329 - 2330/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 153, 442 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183

จำเลยขับรถโดยใช้ความเร็วขณะฝนตกหนักและถนนลื่นจึงเสียหลักเข้าปะทะกับรถของโจทก์ซึ่งจอดคร่อมอยู่ในผิวจราจรถือได้ว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะจำเลยขับรถโดยประมาท แม้จะฟังว่าโจทก์จอดรถอยู่ในผิวจราจร 90 เซนติเมตร แต่ถนนบริเวณนั้นผิวจราจรกว้างถึง 8 เมตร ยังเหลือผิวจราจรกว้างพอที่จำเลยจะขับรถผ่านไปได้โดยสะดวก จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย

โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายไว้ว่า จำเลยยินยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยชำระเงินภายในกำหนด โจทก์จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินภายในกำหนด ข้อตกลงย่อมสิ้นผลบังคับ มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับ และเมื่อจำเลยยกเรื่องข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นข้อต่อสู้ว่ามูลหนี้ละเมิดระงับ ศาลก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวมีผลให้มูลหนี้ละเมิดระงับหรือไม่ แม้โจทก์จะมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2327

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2327/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ม. , ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

การที่โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลในกรณีที่อธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนนั้นตามข้อ 60 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 โจทก์จะต้องวางเงินต่อศาลเป็นจำนวนตามคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงาน จึงจะฟ้องคดีได้ ถ้าปรากฏว่าโจทก์มิได้วางเงินดังกล่าวต่อศาลโจทก์ก็นำคดีมาสู่ศาลไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1332, 164

กรณีเรียกคืนทรัพย์ที่มีผู้ซื้อโดยสุจริตในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องอาศัยอายุความตามหลักทั่วไป คือมีกำหนดสิบปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 442

เหตุที่รถยนต์โจทก์ที่ 1 และรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ชนกัน เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทด้วย เมื่อประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และรถจำเลยที่ 2 เสียหายน้อยกว่ารถโจทก์ที่ 1 มากเฉลี่ยแล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมไม่สมควรจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ที่ 1 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 856

แม้หลังจากจำเลยเบิกเงินครั้งสุดท้ายแล้วจำเลยไม่ได้นำเงินฝากและไม่ได้เบิกเงินไปและไม่มีการหักทอนบัญชีกัน สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยก็ยังมีอยู่ไม่เลิกกัน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาตลอดมาจนกว่าจะมีการเลิกสัญญาและหักทอนบัญชีกันแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2313

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2313/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 372, 572

รถที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยเจ้าพนักงานไม่ต่อทะเบียนให้เพราะ สภาพรถที่ปรากฏในทะเบียนกับตัวรถไม่ตรงกัน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะโจทก์ไม่สามารถใช้หรือรับประโยชน์จากรถพิพาท ตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้ การที่โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อจะว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ได้ การที่จำเลยยึดรถคืน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อ ที่ส่งให้จำเลยไปแล้วคืนได้ แต่จำเลยก็มีสิทธิได้ค่าใช้รถพิพาทจาก โจทก์ระหว่างที่โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์รถอยู่ โดยหักจากเงินที่ จำเลยต้องส่งคืนโจทก์

« »
ติดต่อเราทาง LINE