คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 60, 61, 144 (4), 243, 245, 247

เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยเพื่อทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยโดย ป. ผู้รับมอบอำนาจได้แต่งตั้งให้ ส.เป็นทนายความของจำเลย ส. ยื่นคำให้การของจำเลยและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยต่อมาจนเสร็จคดีแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้ ป. ดำเนินคดีแทนดังนั้น การที่ บ. เข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยก็ดี แต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายจำเลยก็ดี และการที่ ส.ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยต่อมาจนเสร็จคดีก็ดี จึงเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทน จำเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาของบุคคลดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ผูกพันจำเลย

กรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยและให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้นได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดถูกฟ้องให้รับผิดร่วมกันอันเป็นหนี้ร่วม ก็สมควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างตลอดไปถึงจำเลยอื่นด้วย (วรรคสองอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 345/2520)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 172, 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158

บรรยายฟ้องว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่าอย่างไร และเบิกความในชั้นศาลว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าจำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ โดยอ้างว่าหากข้อความที่จำเลยให้การในชั้นศาลเป็นความจริง ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ย่อมเป็นเท็จ และหากข้อความที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นความจริงการเบิกความต่อศาลก็ย่อมเป็นเท็จ แสดงว่าโจทก์เองก็ไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร เป็นฟ้องที่ขัดกันเองอยู่ในตัวไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้องเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 119, 194, 303, 306, 315 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 280, 287, 289, 295

จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างโรงพยาบาลกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วทำสัญญากับธนาคารผู้ร้องโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยในเงินค่าจ้างเหมาทั้งหมดที่จะได้รับตามสัญญาเป็นเงิน 9 ล้านบาทเศษให้แก่ผู้ร้อง เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้อง 3 ล้านบาท ดังนี้ ผู้ร้องมีสิทธิในเงินดังกล่าว เพราะสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมโอนให้แก่กันได้ และกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องมีค่าตอบแทนแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าหนี้สินที่จำเลยมีต่อผู้ร้องจะมากหรือน้อยกว่าสิทธิเรียกร้องที่มี ต่อกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องโดยชอบ ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิ

เมื่อลูกหนี้ของจำเลยให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วจำเลยจึงมิใช่เจ้าหนี้อันลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกชำระหนี้ได้การที่ลูกหนี้ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขออายัดของโจทก์โดยสำคัญผิด เมื่อได้บอกล้างในภายหลังการชำระหนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอถอนการอายัดได้

จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แต่ผู้เดียว ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 581, 582 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

จำเลยจ้างโจทก์ 2 ระยะ ระยะแรกจนถึงเกษียณอายุคือวันที่ 22 มิถุนายน 2517 ต่อมาจำเลยต่ออายุการทำงานของโจทก์ไปอีก อันเป็นการจ้างระยะที่สองซึ่งมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2518 ดังนี้ วันทำงานของโจทก์สำหรับระยะการจ้างระยะแรกกับระยะที่สองขาดตอนไม่ต่อเนื่องกันจึงต้องถือว่าการจ้างระยะที่สองเป็นการจ้างใหม่ แม้จะ มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่จำเลยมิได้เลิกจ้าง โจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ในการจ้างระยะที่สองนี้อีกจำนวนหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 64, 87, 88, 95, 113

การเบิกความต่อศาลเป็นกิจเฉพาะตัว โดยสภาพไม่อาจตั้งให้ผู้อื่นทำแทนได้

ตามบัญชีพยานระบุว่าจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยมิได้ระบุ ส. เป็นพยานดังนี้แม้ปรากฏว่า ส. ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ยื่นคำให้การและเบิกความแทนจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยนำ ส. เข้าเบิกความศาลก็จะรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2), 88

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1305 ประมวลกฎหมายที่ดิน

ทางกระบือสาธารณะพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของ ส. แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งออกทับทางกระบือสาธารณะ เป็นการออกโฉนดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ทางกระบือสาธารณะนั้นแม้จะสิ้นสภาพไปเพราะการไม่มีผู้ใด ใช้ประโยชน์ก็ยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ เว้นแต่ จะได้โอนไปโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 อธิบดีกรมที่ดิน จำเลยจึงมีอำนาจที่จะเพิกถอน แก้ไขหรือออกใบแทนโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

ในคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาท ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนผู้มีชื่อ หลังจากผู้มีชื่อยกที่พิพาทให้โจทก์ครอบครองแล้ว จำเลยก็มิได้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกเลย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จำเลยจะมาโต้เถียงในคดีนี้ว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาท โดยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของอีกไม่ได้ และจะยกระยะเวลา 1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 243 (1)

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าที่พิพาทเป็นมรดกตกได้แก่จำเลย ขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหายศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง โดยฟังว่าจำเลยมิได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าจะให้ขับไล่โจทก์ตามฟ้องแย้งหรือไม่ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งซึ่งศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเสียแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาใหม่ได้ตามมาตรา243(1)แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปก็ชอบที่จะกระทำได้ กรณีมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องอุทธรณ์ดังนั้นแม้จำเลยจะอุทธรณ์แต่ในเรื่องค่าเสียหายศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ด้วยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 (ข), 202 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 203, 653

หนี้เงินยืมเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ เมื่อหนี้ดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาชำระหนี้ไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ จำเลยจะขอนำพยานบุคคลมาสืบตามคำให้การว่า ได้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับโจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวดและหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระหาได้ไม่ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

เมื่อจำเลยไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ในคำให้การ คดีของจำเลยย่อมไม่มีทางชนะ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือลูกจ้างเกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรกำหนดว่า ลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้อันได้แก่เงินที่นายจ้างจ่ายให้เพื่อตอบแทนการทำงาน ลูกจ้างที่ถูกพักงานแม้จะมีระเบียบให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง เงินนี้ก็มิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน นอกจากนี้ระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตรภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้ชำระเงินให้โรงเรียน และมิได้ระบุถึงสิทธิของลูกจ้างที่ถูกพักงาน ดังนั้นระเบียบนี้จึงให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานตามปกติเท่านั้น ลูกจ้างที่ถูกพักงานไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเงินค่าเล่าเรียนบุตร

« »
ติดต่อเราทาง LINE