คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในมูลกรณีเดียวกันศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้น และเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังได้ดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดโจทก์ เพราะโจทก์สมัครใจยอมรับเอาผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2240/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1349
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นทางออกที่.ไม่ต้องห้ามในการขอเปิดทางจำเป็นไว้เฉพาะทางออกที่ต้องข้าม สระ บึง ทะเล หรือที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากเท่านั้น ดังนั้นหากที่ดินโจทก์มีทางออกที่มีโคลนเลนในเวลาฝนตก แต่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินโจทก์ก็มิใช่ที่ดินซึ่งตกอยู่ในที่ล้อมอันจะอ้างความจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินของผู้อื่นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375
การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานไปทำการรังวัดปักเขตเพื่อออกน.ส. 3 และต่อมาทางการได้ออก น.ส. 3 ให้จำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ได้เข้าครอบครองที่พิพาท ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์และแม้การรังวัดและออก น.ส. 3 นั้นจะเกิน 1 ปี โจทก์ก็ยังไม่หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 277
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 277 เป็นเรื่องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเชื่อว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบ อาจขอให้ทำการไต่สวนและออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เชื่อว่าอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์มาในการไต่สวน แต่เมื่อกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยมีรถยนต์ซึ่งโจทก์ประสงค์จะยึดเพื่อบังคับคดี จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะสืบเสาะที่อยู่ของทรัพย์เพื่อนำยึด จะนำบทบัญญัติมาตรา 277 มาใช้บังคับมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1658, 1705 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1658 และย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ปัญหาที่ว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏต่อศาลฎีกาศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2525
ประมวลรัษฎากร ม. 20, 22, 30 (2), 65 ตรี (19)
เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มกับเสียเงินเพิ่มและโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งเรื่องภาษีเพิ่มและเงินเพิ่มเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลทั้งเรื่องภาษีและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2). ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับเงินเพิ่ม
โจทก์ทราบดีว่าเงินที่โจทก์แบ่งให้แก่ ก. เป็นผลกำไรของโจทก์ทั้งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (19)ก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ารายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่โจทก์นำรายจ่ายส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเป็นการอำพรางข้อเท็จจริง จึงไม่มีเหตุลดเงินเพิ่มให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 207, 208
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่มาศาลไม่ทันกำหนดเวลา และไม่ได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจำเลยจะชนะคดีได้อย่างไร จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ศาลชอบที่จะยกคำร้องขอนั้นเสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2209/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177
ฟ้องแย้งทำนองว่า หากจำเลยจะต้องออกจากที่ดินที่เช่าแล้ว โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในการที่จำเลยได้จ่ายเงินไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินเดิม เป็นค่าถมดินและสร้างเขื่อนถาวรเป็นต้น ดังนี้ ถือว่าเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข จะให้ถือเป็นฟ้องแย้งต่อเมื่อศาลพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่เช่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง ถ้าจำเลยชนะคดีตามคำให้การ ฟ้องแย้งของจำเลยก็ตกไป เพราะยังไม่ถึงเวลาที่โจทก์จะต้องชดใช้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่เป็นฟ้องแย้งที่จะรับไว้พิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 54
แม้คดีส่วนอาญาจะเป็นคำพิพากษาของศาลทหาร ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลก็จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญานั้น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 54
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2175/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56
กรรมการบริษัทซึ่งร่วมกันผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ และเครื่องสำอางปลอม เป็นการเอาเปรียบในอาชีพการค้าและเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้เครื่องสำอางที่บริษัทจำเลยผลิตขึ้น จึงไม่ควรรอการลงโทษจำคุกให้