คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2525
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (9), 14
ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวนเกินกว่า 30,000 บาทแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ โดยจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8(9) ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76, 575, 1108 (6), 1111 (6)
การปฏิบัติงานของ ล. กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไปปฏิบัติงานบ้าง ไม่ปฏิบัติงานบ้าง สุดแท้แต่จะมีสุขภาพดีหรือไม่ ไม่มีหลักเกณฑ์การทำงานแน่นอน แต่อย่างใด แม้เงินเดือนจำน้อย ล. ก็พอใจ เพราะไม่มีเงินก็ขอเอาจากประธานกรรมการบริษัทได้ แสดงว่า ล. เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการแต่เพียงในนาม เพราะหาก ล.เป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ก็จะปฏิบัติตนเช่นนั้นไม่ได้ล. คงเป็นเพียงกรรมการของบริษัทโจทก์ตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแต่อย่างเดียว มิได้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทโจทก์อีกชั้นหนึ่ง ล. จึงมิใช่ลูกจ้างของบริษัทโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 276 วรรคท้าย, 297
ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเช็คพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ เนื่องจากเช็คพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นไปแล้วกรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ อันจะเป็นเหตุให้กักขังจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3)
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์นั่ง ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าของรถยนต์บรรทุกและเป็นนายจ้างของ ส. และฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุก โดยมิได้ฟ้อง ส. คนขับรถยนต์บรรทุกผู้กระทำละเมิด ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์เพิ่งทราบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและเป็นนายจ้างของ ส. จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนี้ จำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องเดิมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน รูปคดีเป็นเรื่องฟ้องผิดตัว โจทก์จะขอให้ศาลหมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 288
ส. บอกจำเลยว่ามีเรื่องกับคนอื่นให้ไปช่วยระหว่างทาง ส.มอบปืนให้ เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยเดินตาม ส. ไปใกล้ ๆ คอยมองดูรอบ ๆ บริเวณทำนองเป็นการคุ้มกัน เมื่อ ส. ยิงผู้ตายแล้ว จำเลยก็หนีไปด้วยกัน แม้จำเลยมิได้ยิงผู้ตายแต่พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับ ส. ยิงผู้ตายเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำจำเลยจึงเป็นตัวการฆ่าผู้ตายด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484
จำเลยที่ 1 วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 แปรรูปไม้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานแปรรูปไม้กระทงหนึ่งเมื่อแปรรูปไม้สำเร็จเป็นไม้แปรรูปแล้ว จำเลยที่ 1 มีไม้แปรรูปนั้นไว้จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต้องมีความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 609, 618, 624
บริษัทผู้ขนส่งไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศปลายทางการขนส่งรายนี้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยดำเนินการแจ้งวันมาถึงของเรือสินค้าแก่ผู้รับตราส่งขออนุมัติให้เรือเข้าเทียบท่าขอเช่าเครื่องมืออุปกรณ์การขนถ่ายสินค้ารับคืนใบตราส่งแลกกับใบปล่อยสินค้าเพื่อให้เจ้าของใบตราส่งนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยการดำเนินงานของจำเลยในช่วงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่งและจำเลยได้รับบำเหน็จทางการค้าตามปกติของตนพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้าและเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล ฉะนั้น เมื่อมีการบุบสลายและสูญหายในสินค้าที่รับขนส่ง จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล
การรับขนของจากต่างประเทศมายังประเทศไทยทางทะเล แม้ของจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ยังเป็นสัญญาในการรับขนของทางทะเลปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลโดยเฉพาะการเรียกค่าเสียหายจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีกำหนด 10ปีส่วนอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624ไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลจะนำมาใช้บังคับไม่ได้และจะถือว่าเป็นกฎหมายใกล้เคียงก็ไม่ได้ เพราะมาตรา164 บังคับไว้ชัดแจ้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659 - 1660/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
เงินทิปที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าของจำเลยคือเงินที่พนักงานบริการได้รับจากผู้ใช้บริการโดยตรง จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จำเลยยอมให้พนักงานบริการแต่ละคนรับไปเองได้โดยตรง มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของคำว่าค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863 - 864/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หมายถึงทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทลำดับที่ 3 แต่ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก บิดาของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ 2 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายและไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก
แม้ผู้คัดค้านจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่ในระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันผู้คัดค้านจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดก และมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 657
เจ้าของนำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลย ใส่กุญแจประตูรถยนต์แล้วนำกุญแจติดตัวไปตามข้อความในใบเสร็จรับเงินที่ลงชื่อรับทราบและยังมีข้อความต่อไปว่า เพราะทางร้านให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถไม่รับผิดชอบในการสูญหาย เสียหายต่อรถและสิ่งของใด ๆ ที่มีอยู่ในรถทั้งมิได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงว่าจะเก็บรักษาไว้ในอารักขาของจำเลยแล้วจะคืนให้ดังนี้ มิใช่สัญญาฝากทรัพย์ แต่เป็นเช่าที่จอดรถยนต์