คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 204, 213, 320, 368, 453

จำเลยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่เอกสารต่าง ๆ ถูกต้องแล้ว ธนาคารโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีสินค้าที่ส่งมาเสียหายขาดจำนวนหรือบกพร่อง และตกลงให้ถือเอาระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตมีเอกสารประกอบ (แก้ไขเพิ่มเติมปี ค.ศ.1962) ของสภาหอการค้านานาชาติ ซึ่งระบุว่าให้ถือเอาความถูกต้องของเอกสารเป็นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญา เมื่อปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งมาคือ รายการสินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่ง (BILLSOFLADING) และบัญชีราคาสินค้า(INVOICES) ทุกรายการถูกต้องตรงกับรายการสินค้าในใบเสนอ(OFFER) ซึ่งแนบท้ายเลตเตอร์ออฟเครดิต และบริษัทผู้ขายสินค้าได้เสนอเอกสารต่าง ๆ ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว แม้สินค้านั้นไม่ตรงตามรายการที่ระบุในใบตราส่งบัญชีราคาสินค้าและใบเสนอดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้

จำเลยทำสัญญาทรัสต์รีซีทสำหรับสินค้าที่ส่งมา โดยแบ่งแยกชำระเป็นงวด ๆ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดแรกโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในหนี้ทั้งจำนวนได้

(วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2524)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 583 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 393

ลูกจ้างเมาสุรา ไม่สวมเสื้อในขณะปฏิบัติงาน อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนั้น หาเป็นกรณีฝ่าฝืนที่ร้ายแรงไม่ และเมื่อนายจ้างบอกให้ลูกจ้างสวมเสื้อก็พูดว่า'คุณไม่เกี่ยว' นายจ้างสั่งให้ออกไปจากโรงงานก็พูดว่า'กูจะอยู่ที่นี่ได้ไหม' และเมื่อออกไปหน้าโรงงานก็พูดว่า 'กูจะเข้าไปไม่ได้หรือ' ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงคำไม่สุภาพและก้าวร้าว หาเป็นความผิดทางอาญาฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าอันจะเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1658

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1657 - 1658/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224 วรรคสอง

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทเพราะโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทดังกล่าวกับจำเลยดังนี้ จำเลยเพียงแต่โต้เถียงว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินได้อย่างไร มิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 608, 616

จำเลยใช้เชือกไนล่อนเส้นเดียวผูกเรือลำเลียงของจำเลยติดกับเรือเดินทะเลเพื่อขนถ่ายข้าวสารขึ้นเรือเดินทะเล ขณะที่กำลังขนถ่ายข้าวสารอยู่นั้นเกิดพายุอย่างแรง เชือกผูกหัวเรือลำเลียงขาด คลื่นตีหัวเรือลำเลียงออกไป ท้ายเรือและหางเสือไปกระแทกกับเรือเดินทะเลเป็นเหตุให้กระบอกหางเสือแตก น้ำเข้าเรือลำเลียงทางกระบอกหางเสือข้าวสารในเรือเปียกน้ำเสียหาย ขณะเกิดเหตุเป็นฤดูหนาวซึ่งมักมีคลื่นลมแรงตลอดวัน และการป้องกันไม่ให้เชือกขาดอาจทำได้โดยการผูกเรือด้วยเชือกหลาย ๆ เส้น ดังนี้เหตุที่เกิดขึ้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะมีทางที่จะป้องกันมิให้เหตุนั้นเกิดขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ให้ยุบรวมวัดใหม่กับวัดภูเขาดินโจทก์เป็นวัดเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2481 ในขณะที่วัดใหม่ยังมีพระภิกษุอยู่ จึงหาใช่เป็นวัดร้างสงฆ์ไม่อาศัยไม่

การยุบรวมวัดแม้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นจะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ยอมรับให้มีการรวมวัดที่ใกล้ชิดติดกัน เป็นวัดเดียวกันเพื่อประโยชน์แก่การบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้นหรือเพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ได้โดยขอรับความเห็นชอบในที่สุดจากฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ก่อนและ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121 ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้ดังนั้นการที่เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งรวมวัดใหม่เข้าเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์ จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

วัดใหม่ที่ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์ จึงไม่มีสภาพที่จะตกเป็นวัดร้างได้ ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของวัดใหม่แล้วได้รื้อกุฎิวิหารและสิ่งปลูกสร้างจากที่ดินพิพาทไปไว้ที่วัดโจทก์เมื่อรวมกับวัดโจทก์ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นที่ดินของวัดร้างแต่เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์ด้วยการยุบรวมวัดใหม่กับวัดโจทก์เป็นวัดเดียวดังนี้การดูแลรักษาและจัดการไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนาจำเลย การที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของวัดใหม่ (ร้าง) เป็นการไม่ชอบโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 538, 564 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 238, 247

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นบริวารของผู้เช่าออกจากตึกแถวที่เช่าเพราะครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว โดยเรียกค่าเสียหายที่ไม่อาจให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 1,500บาทมาด้วย จำเลยให้การต่อสู้ว่ายังไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่า และโจทก์ให้จำเลยเช่าต่อจากบิดาจำเลยเป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 มาตรา 3จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวน

ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาทเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นและเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ถึงแม้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทหลังจากสัญญาเช่าครบกำหนดได้

เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยระงับลงตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว โจทก์ผู้ให้เช่าจึงไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 564

หลังจากบิดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าถึงแก่กรรม แม้โจทก์ยังเก็บค่าเช่าจากจำเลยและออกใบเสร็จรับเงินให้ แต่ออกให้ในนามของบิดาจำเลย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือระหว่างโจทก์กับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 75 วรรคแรก มิได้หมายความว่าเมื่อลูกจ้างชั่วคราวทำงานติดต่อกันเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วจะมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานแต่หมายความว่าลูกจ้างจะมีฐานะเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไปโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวจำเลยรวม 154 วันจึงออกจากงานแสดงว่าโจทก์ทำงานในฐานะลูกจ้างประจำยังไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 112, 582 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ใบลาออกจากงานไม่มีกฎหมายบังคับว่าถ้าไม่ลงวันที่แล้วจะเป็นใบลาที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรับว่าได้ยื่นใบลาออกจริง ก็ย่อมเป็นการลาออกที่สมบูรณ์มิใช่นายจ้างให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยพิมพ์ฉลากสำหรับใช้ปิดสับปะรดกระป๋องจำเลยได้ส่งมอบฉลากให้โจทก์รับไปแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าจ้างพิมพ์ฉลากให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลบังคับโจทก์ชำระเงินค่าจ้างพิมพ์ฉลากโจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยพิมพ์ฉลากไม่ตรงตามตัวอย่างเป็นการผิดสัญญาและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาพิมพ์ฉลากไม่เหมือนตัวอย่างเป็นคดีนี้ มูลกรณีที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้อง จึงเป็นมูลคดีเดียวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ คดีทั้งสองสำนวนศาลพิจารณาพิพากษารวมกันเมื่อคดีแรกศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พิมพ์ฉลากถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ มิได้ผิดสัญญาคดีถึงที่สุดแล้ว ผลแห่งคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145โจทก์จะฎีกาในคดีนี้ว่าจำเลยพิมพ์ฉลากไม่ตรงตามตัวอย่าง เป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382

จำเลยให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินของตนปลูกบ้านอยู่อาศัยต่อมาผู้เช่าได้ขยายการครอบครองเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยโดยจำเลยมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวดูแลหรืออนุญาตให้ผู้เช่ากระทำเช่นนั้นถือว่าจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาท และผู้เช่ามิได้ครอบครองที่พิพาทแทนจำเลย แม้ผู้เช่าจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเกิน 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

« »
ติดต่อเราทาง LINE