คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164 พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน
วัตถุประสงค์ขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ตาม พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น แสดงว่ากิจการ ที่องค์การดังกล่าวดำเนินการหาใช่งานเกษตรไม่ และการประกอบ ธุรกิจขององค์การก็เป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไร ในทางเศรษฐกิจ และองค์การนี้ก็ไม่ใช่ส่วนราชการที่เป็นกรมหรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย จึงไม่ได้รับยกเว้นมิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ
การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุ ไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เมื่อพนักงานต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงานซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้
เงินกองทุนบำเหน็จตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเป็นเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่อาจถือว่าเป็นค่าชดเชยได้
การฟ้องเรียกค่าชดเชยไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 462, 797, 821, 1299, 1300, 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (2), 58, 148
จ. ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินจาก ป. แล้วร้องขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยในนามของ ป. หลังจากนั้นจ. นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรขายในนามของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงทุนปลูกบ้านลงในที่ดินแต่ละแปลงเป็นการแสดงออกให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายทั่วไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทเมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพร้อมด้วยบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระเงินครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบกุญแจบ้านที่โจทก์ซื้อแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับมอบการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน
จำเลยที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแทนจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แม้จำเลยที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาจากจำเลยที่2 จำเลยที่ 3 ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทไม่เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คดีเดิมจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ฟ้องขับไล่ ส. ซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านพิพาทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 3ในคดีนี้พิพาทกันอยู่ โจทก์ในคดีนี้ได้ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวและได้ร้องขอให้นำคดีดังกล่าวมาพิจารณาพิพากษารวมกับคดีนี้ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะการร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 ดังนั้นประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 คดีนี้หรือไม่จำเลยที่ 2คดีนี้มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 3 คดีนี้หรือไม่จึงไม่ได้รับการพิจารณาในคดีดังกล่าว ประเด็นในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าว ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1312, 1387
ตึกแถวของโจทก์และของจำเลยอยู่ติดกัน ที่ดินและตึกแถวทั้งสองห้องนี้เดิมเป็นของเจ้าของคนเดียวกันโจทก์จำเลยต่างก็เช่าตึกแถวจากเจ้าของเดิม ระหว่างที่เช่าอยู่นั้นจำเลยได้ต่อเติมห้องน้ำห้องครัวที่ด้านหลังของตึกแถวโดยเจ้าของที่ดินคนเดิมรู้เห็นยินยอม ต่อมาโจทก์จำเลยต่างก็ซื้อที่ดินและตึกแถวมาเป็นกรรมสิทธิ์ ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่จำเลยต่อเติมเป็นห้องน้ำห้องครัวนั้นอยู่ในโฉนดที่โจทก์ซื้อจำเลยเพิ่งครอบครองที่ดินดังกล่าวของโจทก์มาเพียง2 ปี จึงหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยรื้อถอนห้องน้ำห้องครัวออกจากที่ดินโจทก์ได้เพราะการก่อสร้างต่อเติมห้องน้ำห้องครัวนั้นก็โดยอาศัยสิทธิของเจ้าของเดิมไม่ใช่เข้าไปก่อสร้างโดยไม่รู้ว่าที่ดินนั้นเป็นของเจ้าของเดิมอันจะถือได้ว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามมาตรา 1312 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39
คดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความได้ก่อนคดีถึงที่สุดนั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว โจทก์มิได้แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกผู้เสียหายมาเพื่อสอบถาม ผู้เสียหายก็ไม่มา ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้เสียหายก็จับไม่ได้ ในที่สุดศาลชั้นต้นจึงไต่สวนพยานจำเลย จำเลยนำพยานมาสืบยืนยันว่าจำเลยได้ชำระเงินให้ผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ลงชื่อในคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จริงเมื่อผู้เสียหายไม่ยอมมาศาลและปฎิเสธว่าตนมิได้ลงชื่อในคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ข้อเท็จจริงก็ต้องฟังว่าผู้เสียหายได้ลงชื่อในคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ตามที่จำเลยนำมายื่นต่อศาลจริงเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1310, 1312
เจ้าของเดิมได้ปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 40,41 และ 42ลงบนที่ดิน2 แปลงของตนคือที่ดินโฉนดที่ 811 และที่237ปรากฏว่าตึกแถวเลขที่ 41 ได้ปลูกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดที่ 811ต่อมาที่ดินโฉนดที่ 811 พร้อมตึกแถวได้ตกเป็นของโจทก์ส่วนที่ดินโฉนดที่ 237 พร้อมทั้งตึกแถวได้ตกเป็นของจำเลยกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะต้องนำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงมาใช้บังคับคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312การที่ตึกแถวเลขที่41 ปลูกล้ำเข้าไปในโฉนดที่ 811 ของโจทก์นั้นเจ้าของเดิมเป็นผู้ปลูกหาใช่จำเลยไม่โจทก์จำเลยต่างรับโอนที่ดินและตึกแถวมาอีกทอดหนึ่งถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นมาโดยสุจริตจะให้จำเลยรื้อถอนไปหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่และจะนำมาตรา1310 มาปรับกับกรณีนี้ก็ไม่ได้ เพราะมาตรา 1310 เป็นบทบัญญัติกรณีที่ปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินผู้อื่นทั้งหลัง มิใช่ปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินผู้อื่นเพียงบางส่วนเช่นกรณีนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนฝาห้องเลขที่ 41 ออกไปจากที่ดินโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602 - 1605/2525
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 49 หามีข้อความแสดงว่าลูกจ้างซึ่งเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้ว จะมิได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัตินี้ไม่ ฉะนั้น แม้ลูกจ้างจะเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้ว หากถูกเลิกจ้างโดยมีพฤติการณ์แสดงว่าไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัตินี้เช่นเดียวกัน
จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า เพราะผู้บังคับบัญชาไม่อาจไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ต่อไปได้ตามข้อบังคับขององค์การจำเลย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุซึ่งไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 จึงมีผลลบล้างเฉพาะคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับขององค์การจำเลยยังคงใช้บังคับได้อยู่ตามเดิม ไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 198 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 65
ทนายจำเลยซึ่งถอนตัวไปแล้วได้ลงชื่อในอุทธรณ์โดยมิได้แต่งทนายเข้ามาใหม่ และจำเลยมิได้ลงชื่อในอุทธรณ์ ศาลจึงสั่งในอุทธรณ์ให้จำเลยแต่งทนายให้ถูกต้องก่อนแล้วจะสั่งอุทธรณ์ใหม่ แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความภายหลังวันสิ้นอายุอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลก็สั่งรับอุทธรณ์ ดังนี้ เป็นเรื่องศาลชั้นต้นใช้อำนาจอนุญาตให้จำเลยจัดการแก้ไขการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อจำเลยปฏิบัติถูกต้องแล้ว ก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยสมบูรณ์มาแต่ต้นตั้งแต่วันยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
การที่จำเลยเบิกความและนำสืบพยานหลักฐานต่อศาลก็เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และเพื่อให้จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดอันเป็นความเสียหายแก่โจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2525
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2)
โจทก์นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปขึ้นเงินจากธนาคาร เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ถือว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว อายุความการฟ้องคดีในความผิดดังกล่าวจึงต้องนับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินการที่โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินใหม่ในภายหลังตามที่จำเลยขอร้องนั้นมิใช่เป็นการระงับความผิดที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)และการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คครั้งที่สองไม่ถือว่ามีความผิดเกิดขึ้นใหม่อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 420, 797, 851
กรมทางหลวงโจทก์เป็นกรมในรัฐบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 ผู้แทนของโจทก์คืออธิบดีรถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์จำเลยชนเสียหายการที่ ป. ข้าราชการในกรมโจทก์และเป็นผู้รับผิดชอบรถของโจทก์คันที่ถูกชนไปบันทึกตกลงกับจำเลยให้ซ่อมรถให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตามกำหนดเวลาและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ป. ให้เป็นตัวแทน บันทึกดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในมูลละเมิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118, 567, 572
แม้ความประสงค์เดิมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องการกู้เงินโดยนำรถยนต์ไปเป็นประกันแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2ยินยอมทำนิติกรรมตามความประสงค์ของโจทก์ คือจำเลยที่ 2โอนขายรถยนต์ให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้เงินตามที่ต้องการอันเป็นวิธีการทางการค้าของโจทก์ก็แสดงว่าจำเลยทั้งสองเปลี่ยนเจตนาเดิมมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1จึงมิใช่นิติกรรมอำพราง
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง จึงนำบทบัญญัติลักษณะเช่ามาใช้บังคับด้วยเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับลงตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหายไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยที่ 1จึงมีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อเฉพาะงวดที่รถยนต์ยังไม่สูญหายและไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำรถยนต์คันนี้ไปแสวงหาประโยชน์ได้อีก แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อระบุว่าหากเกิดการเสียหายขึ้นแก่รถยนต์ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ผู้เช่าซื้อยินยอมชดใช้ค่าหรือราคารถยนต์ให้เจ้าของ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ ส่วนราคารถยนต์นั้นสมควรกำหนดตามราคาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้โดยให้หักค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วออก