คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 166 วรรคหนึ่ง, 192
ในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคแรกได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้ศาลยกฟ้องเสียจึงจะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการทิ้งฟ้องมาใช้บังคับในกรณีนี้หาได้ไม่ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เลื่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องไปแล้วโจทก์จึงไม่ขาดนัด แต่เห็นว่าผลของคำสั่งนั้นถูกต้องแล้วเพราะศาลชั้นต้นให้เวลาโจทก์สืบหาที่อยู่ของจำเลยตามที่ขอจนครบกำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดจึงต้องถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบเฉพาะแต่เหตุที่อ้างส่วนผลของคำสั่งถูกต้องแล้ว จึงเป็นการยกเหตุอื่นขึ้นมาอ้างแล้วพิพากษายืน ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเพราะเหตุที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างดังกล่าวหาได้เป็นประเด็นขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ไม่ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 115, 229, 361, 368, 861, 867, 880 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177
จำเลยให้การว่า นอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ดังนี้เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ส่วนใดด้วยเหตุผลอย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์
กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมสัญญาประกันภัยไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้
สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน แต่ก็มิได้หมายความว่ามีข้อสัญญาอยู่เฉพาะในคำเสนอและคำสนองที่ทำเป็นหนังสือเท่านั้นเพราะถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อย่างใดที่กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้รับประกันภัยต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยอีกในเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออยู่แล้ว
กรมธรรม์ประกันภัยคือหลักฐานเป็นหนังสือเกี่ยวกับข้อสัญญาและเงื่อนไขการประกันภัย.ซึ่งผู้รับประกันภัยลงลายมือชื่อมอบให้ไว้แก่ผู้เอาประกันภัย
การตีความสัญญาจะต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยเคยส่งนมข้นกระป๋องไปจำหน่ายยังต่างประเทศมาแล้วหลายครั้งโดยเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ กรมธรรม์ประกันภัยครั้งพิพาทกับครั้งก่อน ๆนั้นมีข้อความเหมือนกันว่าการประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่เวลาออกจากสถานที่ของผู้ตราส่งดังนั้น เมื่อนมข้นกระป๋องที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายขณะขนลงเรือลำเลียงเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่เรือเดินทะเลจึงอยู่ในขอบเขตแห่งความรับผิดของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยเมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วโจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยถ้าหากมี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177
จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่าหากศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าที่ดินให้จำเลยที่ 2 ดังนี้ ฟ้องแย้งเป็นเรื่องที่จะเกิดตามมาภายหลังเมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริตให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว ถ้าจำเลยทั้งสองชนะคดีตามที่ให้การปฏิเสธว่าจำเลยทำสัญญาขายฝากกันโดยสุจริต ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ก็เป็นอันตกไป ดังนั้นฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเรียกร้องกันต่างหากเมื่อปรากฏผลคำพิพากษาในคดี นี้แล้วเป็นฟ้องแย้งในเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 149, 157 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 17, 80, 81 (1), 92 (2)
จำเลยเป็นตำรวจประจำการกองร้อย 4 กก. อารักขาและความปลอดภัยบก.สายตรวจปฏิบัติการพิเศษตำแหน่งลูกแถวย่อมมีอำนาจสืบสวนคดีอาญา และมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้นในเมื่อเป็นความผิดซึ่งหน้าแม้ที่เกิดเหตุจะเป็นที่รโหฐาน การที่จำเลยไปพบจ. กับพวกกำลังเล่นการพนันในห้องชั้นบนบ้าน อันเป็นที่รโหฐานและจับกุม จ. กับพวกในข้อหาดังกล่าว ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เมื่อจำเลยเรียกและรับเงินจาก จ. แล้วปล่อยตัว จ. กับพวกโดยไม่ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 157 มาด้วย ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367, 1368, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
โจทก์ครอบครองที่พิพาทในระหว่างที่บิดามารดาโจทก์กำลังเป็นความกับจำเลยอยู่ในศาล และอยู่ในระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษาแม้จะเกิน 10 ปี โจทก์ก็อ้างว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ยันจำเลยผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ใช่บุคคลภายนอกแต่เป็นบุตรและบริวารของบิดามารดาเมื่อบิดามารดาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตกลงยอมยกที่พิพาทให้เป็นของจำเลยและศาลได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลย่อมผูกพันโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 166, 224, 680, 683, 693
ดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน เพราะเหตุลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับเจ้าหนี้อันเป็นการผิดสัญญานั้น เป็นดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชดใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก และเป็นดอกเบี้ยที่กำหนดแทนค่าเสียหายดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จึงมีอายุความ 10ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1560/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ การที่โจทก์เพียงแต่นำเช็คพิพาทฝากเข้าบัญชีธนาคารของ ท. บุตรโจทก์ เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็คแทนไม่ทำให้ฐานะการเป็นผู้ทรงของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1559/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ,
บ. เป็นพนักงานขับรถของโจทก์ การปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานให้โจทก์ก็คือการขับรถ แม้กฎข้อบังคับและระเบียบการเดินรถจะได้กำหนดให้พนักงานขับรถต้องไปอ่านประกาศประจำวันเพื่อให้พนักงานขับรถทราบว่าตนมีหน้าที่ที่จะต้องทำงานในวันรุ่งขึ้นหรือไม่ การที่ บ. ไปดูประกาศประจำวันจึงมิใช่การทำงาน ดังนั้น เมื่อ บ. ประสบอันตรายแก่กายขณะเดินไปดูประกาศดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า บ. ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2525
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 31, 34, 35 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำผิดของจำเลยเป็น 2 ข้อหาโดยตอนแรกบรรยายว่าจำเลยทำไม้โดยตัดฟันชักลากและนำไม้ตะแบกซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติข้อหาหนึ่ง กับบรรยายฟ้องต่อไปว่า หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งไม้หวงห้ามโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่ผู้ได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติอีกข้อหาหนึ่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ทำไม้โดยมิได้รับอนุญาต ส่วนตอนหลังโจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้รับไว้ ซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสียซึ่งไม้หวงห้าม เท่ากับฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ทำไม้ แต่เป็นผู้รับไม้ไว้จากบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ทำไม้ เป็นฟ้องเคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1549/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 83, 134
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 บัญญัติแต่เพียงให้ เจ้าพนักงานแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับว่าเขาจะต้องถูกจับเท่านั้น มิได้กำหนดให้มีการแจ้งข้อหาหรือการบันทึกการจับกุมแต่ประการใด
การแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา134 กำหนดให้กระทำเฉพาะเมื่อผู้ต้องหามาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนและ ไม่จำต้องแจ้งข้อหาทุกกระทง ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนเติมคำว่า บุกรุกลงในบันทึกการจับกุมที่ผู้จับทำขึ้น จึงหาทำให้การสอบสวนเป็นการ สอบสวนที่ไม่ ชอบด้วยกฎหมายไม่