คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850
จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน และได้ทำการสืบพยานจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้วศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเลื่อนไป ต่อมาในการนัดสืบพยานโจทก์นัดที่สองความจึงปรากฏว่าบัญชีระบุพยานของโจทก์ไม่มีลายมือชื่อผู้ระบุพยาน เพราะทนายคนเดิมของโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แต่ด้วยความพลั้งเผลอไม่ได้ลงชื่อ ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องที่ทนายโจทก์คนเดิมได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้โดยชอบ เพียงแต่พลั้งเผลอไม่ได้ลงลายมือชื่อ โจทก์ทราบจึงขอแก้ไขให้ถูกต้อง บัญชีระบุพยานดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายไม่ทำให้จำเลยเสียหายและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด
สัญญาประนีประนอมยอมความ มีข้อตกลงแต่เพียงจะให้รังวัดหาแนวเขตที่แท้จริงแต่โฉนดที่ดินของโจทก์จำเลยเป็นโฉนดแบบเก่า ไม่สามารถปูโฉนดได้ ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่ปฏิบัติไม่ได้ จึงต้องถือแนวเขตตามที่ปกครองกันมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1410/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 910, 916, 988, 989, 1002
จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ค. โดยไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ต่อมาจำเลยยอมให้ ค. ลงวันที่ในเช็คตามที่จำเลยบอก แล้ว ค. นำเช็คพิพาทไปชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารดังนี้ ถือไม่ได้ว่า ค.สมคบกับโจทก์ฉ้อฉลจำเลย
การที่จำเลยยอมให้ ค. ลงวันที่ในเช็คตามวันที่ที่จำเลยบอก ย่อมถือได้ว่าวันที่ที่ลงในเช็คดังกล่าวเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริงเพราะ ค. ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ย่อมมีสิทธิที่จะลงวันที่ที่ถูกต้องแท้จริงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 910, 989 ถือได้ว่าเช็คพิพาทได้ลงวันออกเช็คถูกต้องแล้ว
วันกำหนดชำระเงินตามเช็คก็คือวันที่ลงในเช็ค เมื่อโจทก์ฟ้องคดีไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงในเช็ค คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1754, 1755 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243
จำเลยมิใช่ทายาทของเจ้ามรดกจะยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387, 1390
แม้สร้างตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาท แต่ยังเดินผ่านและรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นเข้าออกได้สะดวก ไม่ทำให้เสื่อมสภาพต่อการใช้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงลักษณะแห่งภารจำยอมมิใช่บทบัญญัติห้ามเจ้าของภารยทรัพย์สร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425, 442 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถโจทก์เสียหายปรากฏว่า กรณีเดียวกันนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกอัยการฟ้องต่อศาลทหารว่า ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์กับพวกได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุด แล้วโจทก์จำเลยแถลงศาลและศาลจดรายงานไว้ว่าฝ่ายโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย ตกลงกันให้ฝ่ายโจทก์จำเลยนำหลักฐานมา แสดงจำนวนค่าเสียหายเมื่อหักจำนวนค่าเสียหายของจำเลยจากค่าเสียหายของโจทก์แล้ว เหลือเท่าใด จำเลยยอมใช้เป็นจำนวนค่าเสียหายซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ตามที่ศาลจดรายงานดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงสละประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ โดยเฉพาะข้อที่ว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของฝ่ายใดเสียแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายใดประมาทจึงยุติคงมีประเด็นเรื่องค่าเสียหายตามข้อตกลงของคู่ความเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107, 420, 1316, 1332, 1336
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันพิพาทพร้อมตัวถังและอุปกรณ์ตามฟ้องหรือไม่คดีย่อมมีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยแต่เพียงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันพิพาทโดยซื้อมาจากเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่ การที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ซื้อมาจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ขายมิใช่เจ้าของที่แท้จริง แม้โจทก์จะรับซื้อไว้โดยสุจริตโจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 การที่เจ้าของและเจ้าพนักงานยึดรถยนต์บรรทุกคันพิพาทคืนจากโจทก์ จึงไม่เป็นการละเมิด
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกซึ่งไม่มีตัวถัง แต่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างให้ต่อตัวถังขึ้น ตัวรถยนต์บรรทุกถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธาน จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันนั้นแต่ผู้เดียว เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ราคารถยนต์บรรทุกทั้งคันอันเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์เป็นของตนทั้งหมด แต่ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งคือค่าต่อตัวถังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142
โจทก์ขายที่ดินรวมทั้งที่ปลูกบ้านพิพาทไปแล้วก่อนฟ้องคดีนี้ ต้องถือว่าบ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบย่อมโอนไปด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ ในบ้านพิพาทแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1307, 1367
ที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาโดยครูใหญ่เป็นผู้จับจองไว้ และต่อมาได้แจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.1 ในนามของศึกษาธิการอำเภอ ขณะนั้นโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้โอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์จำเลยร่วม จำเลยร่วมได้สร้างโรงเรียนในที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศตะวันออกอันเป็นที่ดินพิพาทเคยให้โจทก์เช่า ดังนี้ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ทางราชการคือจำเลยร่วมสงวนไว้สำหรับสร้างโรงเรียน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(3) (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2798-2799/2523)
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้โจทก์จะครอบครองมาและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วก็ไม่ได้สิทธิครอบครองและใช้ยันจำเลยร่วมไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 58, 801 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ธ. ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ไม่ปรากฏว่าเป็นหุ้นส่วนลงทุนในการก่อสร้างห้องแถว จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของ ธ. แต่อย่างใด ธ.จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัว เมื่อ ธ. มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาล และไม่ปรากฏว่าศาลได้อนุญาตให้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของ ก.ผู้ไม่อยู่ได้ ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะดังกล่าว จะถือว่าการที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฟ้องในฐานะดังกล่าวหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1384/2525
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 91 วรรคสอง, 94, 105
แม้เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งตัดสินหลังวันพิทักษ์ทรัพย์แต่คำพิพากษานั้นได้แสดงถึงมูลหนี้เดิมอยู่แล้วว่าเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมถือได้ว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระดังกล่าวมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2525)