คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386
โจทก์จำเลยทำสัญญากันโดยจำเลยยอมแบ่งที่นาพิพาทให้โจทก์และโจทก์ยอมยกกระบือและแบ่งเงินกับข้าวเปลือกให้จำเลยสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจะบอกเลิกสัญญากับโจทก์ได้จะต้องมีเหตุที่ระบุไว้ในข้อสัญญาว่าให้บอกเลิกสัญญาได้ หรือมีเหตุอื่นที่กฎหมายให้อำนาจจำเลยบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาโดยอ้างเหตุแต่เพียงว่าข้อสัญญาไม่เป็นไปตาม ความประสงค์ของจำเลย โดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยหาได้ไม่ เพราะโจทก์ มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและตามข้อสัญญาก็มิได้ให้สิทธิจำเลยที่จะ เลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1462/2525
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 5, 31, 39, 46
โจทก์เช่านาจำเลยทำอยู่โดยไม่มีกำหนดเวลาก่อนพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิในการเช่านาจำเลยมีกำหนดหกปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาหกปีแล้ว จะต้องมีการตกลงเช่ากันอีกเป็นคราว ๆ จึงจะมีสิทธิในการเช่าต่อไปอีกคราวละหกปี หาใช่ว่าเมื่อตกลงเช่ากันครั้งแรกและครบกำหนดหกปีแล้วต้องถือว่าได้มีการเช่านากันไปเรื่อย ๆ คราวละหกปีโดยไม่ต้องมีการตกลงเช่ากันแต่อย่างใดไม่
หลังจากสิ้นระยะเวลาการเช่านาแล้ว แม้จำเลยผู้ให้เช่าจะมิได้บอกเลิกการเช่านา แต่ปรากฏว่าขณะนั้นโจทก์จำเลยกำลังดำเนินคดีกันอยู่โดยโต้เถียงเกี่ยวกับการเช่านาระงับลงแล้วหรือไม่ และโจทก์ผู้เช่ามิได้ทำนาต่อไป จึงถือไม่ได้ว่ามีการเช่านากันต่อไปตามมาตรา 5
สัญญาประนีประนอมยอมความที่ให้โจทก์เลิกเช่านาจำเลยในพ.ศ. 2523 เป็นสัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาเกินกว่าหกเดือนก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านาจึงถือไม่ได้ว่ามีการตกลงเลิกการเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยตามความหมายของมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118, 650 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 วรรคท้าย, 183
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้อง เดิมจำเลยถูกศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ให้สามีโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินเดือนฯของจำเลยต่อนายจ้างของจำเลย เมื่อนายจ้างของจำเลยส่งเงินมายังกรมบังคับคดีครบตามจำนวนหนี้แล้วสามีโจทก์จึงขอถอนการอายัดและให้จำเลยไปรับเงินจากกรมบังคับคดีมาให้สามีโจทก์ แต่สามีโจทก์เกรงว่าเมื่อจำเลยรับเงินแล้วจะไม่นำมาให้สามีโจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์ จำเลยได้รับเงินจากกรมบังคับคดีและมอบให้สามีโจทก์แล้ว สามีโจทก์ไม่คืนสัญญากู้ให้ แต่โจทก์กลับนำเอาสัญญากู้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังจำเลยต่อสู้ ศาลย่อมวินิจฉัยได้ว่าสัญญากู้ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาลวงและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การดังกล่าวได้เพราะเป็นการนำสืบถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จะให้จำเลยรับผิดหรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 456
จำเลยมีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายไม้ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจลงชื่อแทนจำเลย เอกสารที่มีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงขายไม้ให้โจทก์ ซึ่งมี พ. กรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงชื่อในช่องผู้ขาย แม้จะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลย ก็แสดงว่าพ. ตกลงขายไม้ในนามจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ส่งมอบไม้ตามข้อตกลงหรือเรียกค่าเสียหายได้
เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายที่แน่นอน ศาลก็กำหนดค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 587, 602
จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยการที่จะฟังว่าจำเลยรับมอบบ้านพิพาทจำต้องมีข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดถึงการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายของจำเลยว่ายอมรับมอบบ้านพิพาท การที่จำเลยแจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้าอยู่ในบ้านพิพาทเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการที่จำเลยย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทก็เพื่อนำบุตรเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครและโจทก์ก็นำสืบว่าจำเลยยังไม่ได้รับมอบบ้านพิพาทเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยรับมอบบ้านพิพาทจากโจทก์ โจทก์ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46, 227
ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ไม่ เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 121
คำให้การจำเลยอ้างเพียงว่าโจทก์ใช้กลอุบายร่วมกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลจำเลยให้ทำบันทึกข้อตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนเพื่อยึดเอากิจการของห้างไปดำเนินการเอง มิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ฉ้อฉลจำเลยด้วยวิธีการอย่างใด จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามข้ออ้างของตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429 - 1430/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 1330 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 306
เดิมที่ดินและเรือนพิพาทเป็นของจำเลยมีราคารวมกัน150,000 บาท ในวันขายทอดตลาดโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีบอกจำเลยว่าศาลไม่มาให้กลับไปก่อน วันหลังจะขายใหม่แล้วเลื่อนการขายไปอีก 1 ชั่วโมงเศษและขายให้โจทก์ไปในราคา 21,500 บาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากโดยจำเลยไม่มีโอกาสคัดค้านดังนี้ การซื้อของโจทก์มิได้เป็นไปโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินและเรือนพิพาทไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดโทษฐานดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ของยามไว้ให้มีโทษถึงให้ออกหรือไล่ออกอันเป็นโทษสูงสุด แสดงว่าจำเลยประสงค์ให้การฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้เป็นกรณีที่ร้ายแรง ทั้งผู้ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยก็ประสงค์ให้ยามปราศจากการมึนเมาอย่างแท้จริง จึงกำหนดไว้ในสัญญาว่ายามที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องงดเว้นการดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดหรือบกพร่องได้โดยง่ายเพราะขาดสติสัมปชัญญะ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งแก่บริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างของโจทก์ และแก่ผู้ที่ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยให้ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรง อ้าปากคำรามอยู่ในกรอบรูปไข่สองชั้นส่วนบนเป็นรูปลายฝรั่งส่วนล่างมีอักษรโรมันคำว่า 'LION'ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า สิงโตอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมทับบนกรอบรูปไข่ ส่วนของจำเลยเป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรง อ้าปากคำรามอยู่ภายในกรอบรูปวงกลมสองชั้น ไม่มีตัวอักษร ที่ใต้วงกลมมีรูปช่อรวงข้าวสองช่อโค้งรองรับตามขอบวงกลม แต่ไม่จรดกันระหว่างรวงข้าวทั้งสองช่อมีโบผูกห้อยชายอยู่ตรงกลาง หากพิจารณาแต่เพียงส่วนประกอบก็จะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมาก เพราะเป็นรูปหัวสิงโตหน้าตรงอ้าปากคำรามอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่าย ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น จำเลยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน การที่จำเลยเลือกใช้เครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกับโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้จะใช้สำหรับสินค้าคนละประเภทกับโจทก์ ก็เป็นการลวงให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์