คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 177 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474

โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้นำคดีมาสู่ศาลภายใน 90 วัน นับแต่รับคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้จะถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามวันที่ระบุในฟ้องหาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีโอกาสที่จะทราบว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยตั้งแต่เมื่อใดจำเลยจึงไม่อาจให้การปฏิเสธได้โดยชัดแจ้งถึงวันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยนั้น คำให้การดังกล่าวเป็นการปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความโดยชัดแจ้งแล้วโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้เมื่อโจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำคดีมาสู่ศาลภายในกำหนด90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน สิทธินำคดีมาสู่ศาลจึงเป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

การที่จำเลยให้โจทก์ไปทำงานกับอีกบริษัทหนึ่ง แม้การทำงานของโจทก์ในบริษัทใหม่จะเป็นการทำงานเช่นเดิมในสถานที่เดิมก็เป็นงานของบริษัทใหม่ โจทก์มิได้ทำงานให้จำเลย ถือว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 พระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ม. 6

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการริเริ่ม วิจัยสนับสนุน ฝึกอบรมและให้บริการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในการให้บริการจะเรียกเก็บเงินจากผู้ขอบริการบ้างก็ตามแต่ก็เป็นเพียงค่าใช้จ่ายซึ่งสถาบันฯ ได้ออกไปจริงกับผู้ขอบริการ และบางกรณีถ้าผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สถาบันฯ ก็อาจไม่คิดค่าบริการได้ ดังนี้ไม่ถือว่ากิจการของจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 71 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4

จำเลยเป็นบริษัทอยู่ต่างประเทศ ได้มอบให้สำนักงานสาขาในประเทศไทยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังนี้ ถือว่าบริษัทจำเลยมีภูมิลำเนาในส่วนกิจการนี้ในประเทศไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเรื่องเครื่องหมายการค้าในศาลไทยได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1), 334 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 34 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นหัวหน้าคนงานได้บอกให้คนงานเก็บเครื่องมือและหยุดงานประท้วงจำเลยเพราะไม่พอใจที่จำเลยไล่ลูกจ้างบางคนออกจากงาน เมื่อการนัดหยุดงานดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยจึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้าง ได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(2) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เมื่อเลิกจ้าง

จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะโจทก์ ลักเอาใบลาและบัตรลงเวลาของโจทก์ไป แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในภายหลังหาใช่เกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์เอาใบลาและบัตรลงเวลาคืนไป จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า การที่โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้าง มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามิใช่เป็นกรณีเลิกจ้างคดีถึงที่สุด แล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้เรียกค่าชดเชยโดยอาศัยเหตุว่า เป็นการเลิกจ้างอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ เพราะแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ก็มิใช่กรณีที่ยกเว้นให้ฟ้องซ้ำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 16 เมษายน 2515

การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจอยู่ในบังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานที่มิให้ใช้บังคับแก่การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวง กำไรในทางเศรษฐกิจนั้นหมายถึงเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่ว ๆ ไปตามที่จำแนกไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมวดที่ 1 ถึงหมวดที่ 9เท่านั้นไม่หมายถึงเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีสืบเนื่องมาจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งกำหนดว่า ลูกจ้างจะต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โจทก์ลาหยุดพักผ่อนแล้วไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2525

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

โจทก์ลูกจ้างเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมีกรณีขัดแย้งกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้าซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวแม้จะมีข้อความบางตอนไม่เหมาะสม ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีถึงผู้บังคับบัญชารวมทั้งไม่สมควรที่จะให้ทนายความมาเกี่ยวข้องตอบโต้หนังสือแทน ในการทำงานระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชาก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

การเลิกจ้างแม้จะมีมูลความผิดหรือมีความผิดอยู่บ้างแต่หากยังไม่สมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้แล้ว การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 127, 129 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

เมื่อลูกจ้างได้กระทำการอันส่อว่าทุจริตเกี่ยวกับการเงินแล้วนายจ้างบอกให้ลูกจ้างลาออกมิฉะนั้นจะดำเนินคดีเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ดังนั้น เมื่อลูกจ้างสมัครใจลาออก จึงถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้าง

« »
ติดต่อเราทาง LINE