คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 406, 797, 1574, 1600
เงินบำเหน็จที่จะตกได้แก่บรรดาทายาทผู้มีสิทธิของผู้ตาย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2494 นั้น มิใช่มรดกของผู้ตาย
การที่จำเลยแจ้งให้กรมการเงินกระทรวงกลาโหมหักเงินบำเหน็จตกทอดของผู้ตายเพื่อใช้หนี้จำเลยนั้น เป็นการมอบหมายให้เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับทายาทผู้ตาย
การที่มารดาโจทก์ไปตกลงให้หักเงินบำเหน็จตกทอดของผู้ตายที่จะได้แก่โจทก์บางส่วนชำระหนี้แก่จำเลยนั้น เป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งที่ได้กระทำไปแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ และเป็นผลให้โจทก์ต้องชำระหนี้เมื่อมารดาโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลจึงเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(13) ข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะจำเลยไม่มีมูลที่จะอ้างเพื่อการชำระหนี้จากโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713, 1739 (2)
ผู้ร้องเป็นผู้จัดการศพเจ้ามรดก ได้ออกเงินทดรองเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพ เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์กองมรดกแต่ถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันเป็นเหตุจะทำให้โจทก์ถอนคืนการให้ทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า โจทก์ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยมีค่าตอบแทนหรือไม่ ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้นั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนตามที่จำเลยต่อสู้ไว้ จึงต้องถือว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยมีค่าตอบแทนจำเลยได้สละเสียแล้ว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นยอมให้จำเลยนำสืบและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการรับฟังและวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 91
จำเลยถูกลงโทษจำคุกในความผิดหลายกระทงในคดีเดียวกันการรอการลงโทษต้องพิจารณาถึงโทษจำคุกในความผิดแต่ละกระทงศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 กระทง โทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี ศาลรอการลงโทษได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335, 365, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 166, 198
แม้ฟ้องอุทธรณ์จะระบุว่าอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์.เพราะเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลตามนัดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ก็ตาม แต่เมื่อข้อความในฟ้องอุทธรณ์เป็นการคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่. กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วยเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องที่โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2525
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ม. 12
วันยื่นฟ้อง ศาลจังหวัดนครราชสีมาสอบถามแล้วจดอายุจำเลยว่า จำเลยอายุ 18 ปี ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดนครราชสีมาจะพิจารณาพิพากษา และศาลจังหวัดนครราชสีมาได้ทำการพิจารณาพิพากษาคดีไปแล้ว ต่อมาจำเลยอุทธรณ์อ้างว่าวันยื่นฟ้องจำเลยอายุ 17 ปี 7 เดือน 8 วัน โดยแนบสำเนาทะเบียนบ้านมาพร้อมอุทธรณ์คดีอยู่ในอำนาจของ ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาดังนี้ กรณีต้องด้วยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งมีความว่า การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา และศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนนั้นให้เป็นอันใช้ได้แม้ความจริงจะปรากฏในภายหลังว่าข้อเท็จจริงใน เรื่องอายุหรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้องจะผิดไป ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตาม'ดังนี้ การพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครราชสีมามีผลใช้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86 วรรคสอง, 102
พยานที่จำเลยอ้างอันดับ 1 ถึง 4 อยู่จังหวัด น. อันดับ 5 ถึง 7อยู่จังหวัด ก. อันดับ 8 อยู่จังหวัด ต. ครั้งแรกจำเลยขอให้ศาลเดิมส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัด น. และศาลจังหวัด ก. ศาลเดิมอนุญาต ในการสืบที่ศาลจังหวัด น. จำเลยได้นำพยานอันดับ 5 ซึ่งอยู่ที่จังหวัด ก. มาสืบด้วย เสร็จแล้วจำเลยขอให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ในระหว่างที่ศาลเดิมนัดฟังประเด็นอยู่นั้น จำเลยยื่นคำแถลงขอให้ส่งประเด็นไปสืบตามบัญชีพยานอันดับ 6-7 ที่ศาลจังหวัด ก. และพยานอันดับ 8 ที่ศาลจังหวัด ต. ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แถลง ไม่ติดใจสืบพยานตามบัญชีพยานอันดับ 6-7 และคำแถลงของจำเลย ที่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานก็อ้างถึงเหตุที่ไม่ได้ขอให้ส่งประเด็นต่อไปยังศาลจังหวัด ก. หลังจากเสร็จการสืบพยานที่ศาลจังหวัดน. ว่าเป็นเพราะขณะนั้นจำเลยยังติดต่อพยานไม่ได้กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าว ส่วนพยานอันดับ 8 ซึ่งอยู่ ที่จังหวัด ต.นั้นแม้จำเลยจะมิได้ขอให้ส่งประเด็นไปสืบในตอนแรกแต่ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะขอให้ส่งประเด็นไปสืบภายหลังได้ เพราะถ้าจำเลยพอใจการสืบพยานอื่นแล้ว ก็อาจไม่ส่งประเด็นไปสืบพยานปากนี้ก็ได้ ตามพฤติการณ์ไม่พอฟังว่าจำเลยประวิงคดี ยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะสั่งงดสืบพยานจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 114
เงินสะสมที่จำเลยจ่ายให้โจทก์มีหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ จึงเป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชยแม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยเงินทุนสะสม ฯ จะกำหนดว่าเงินสะสมที่โจทก์ได้รับมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยก็ไม่มีผลบังคับ เพราะขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีผลบังคับเป็นกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2525
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 ม. 5 (ข) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (14), 280, 296, 302
อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงเจ้าพนักงานของศาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาลในการที่จะ บังคับคดีเท่านั้น ไม่อาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ แต่อย่างใด เมื่อศาลสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ต้องปฏิบัติการไปตามนั้น ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2525
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 123, 124 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8, 53 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 147
คำฟ้องของลูกจ้างที่กล่าวว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ โดยไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าทั้งยังไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายนั้นเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ด้วย เมื่อนายจ้างและลูกจ้างประนีประนอมยอมความกัน โดยลูกจ้างยอมรับค่าชดเชย ค่าครองชีพและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและตกลงยอมสละข้ออ้างและคำขออื่นทั้งหมด จะไม่รื้อร้องฟ้องคดีเกี่ยวกับมูลความเดียวกันนั้นอีก จึงเป็นการตกลงระงับสิทธิของลูกจ้าง ที่จะได้รับค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์เลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับ ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย จากการกระทำอันไม่เป็นธรรมดังกล่าวอีก
แม้ลูกจ้างจะนำคดีเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมมาฟ้องยัง ศาลแรงงานกลางก่อนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นการ ข้ามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124 และขัดกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้ายก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานกลาง พิพากษาตามยอมและไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คดีถึงที่สุดคำพิพากษาตามยอม ย่อมมีผลบังคับและผูกพันคู่ความ
คำฟ้องของลูกจ้างที่กล่าวว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การคำนวณค่าชดเชยไม่ถูกต้องและไม่ยอมจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการฟ้องบังคับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่ลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง โดยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแม้ลูกจ้างจะยอมความกับนายจ้างโดยไม่ติดใจเรียกร้องอะไรต่อกันอีก ก็หมายถึงค่าเสียหายที่เรียกร้องกันได้ในคดีดังกล่าวเท่านั้นหาหมายความถึงค่าเสียหายในกรณีเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วยไม่