คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 983

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 983/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23

คำร้องของจำเลยที่ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ มีใจความว่าทนายจำเลยพิมพ์อุทธรณ์ไม่ทันเนื่องจากติดว่าความที่ศาลจังหวัดนครปฐมในตอนเช้า และกลับมาพิมพ์อุทธรณ์ในตอนบ่าย แล้วมายื่นต่อศาลไม่ทันเนื่องจากจราจรติดขัดเพราะนักศึกษาเดินขบวนดังนี้ ไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จะยกขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 11, 54, 69, 72 (ตรี), 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 ม. 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 ม. 22 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 ม. 3, 7, 9 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2505

การตัดฟันไม้หวงห้ามกับการมีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน. แม้จะยังมิได้เคลื่อนย้าย ไม้หวงห้ามนั้นจากที่ได้ตัดฟันไปไว้ที่อื่นก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 169

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างตึกแถวแล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาได้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาเมื่อใด แต่โจทก์นำสืบว่าสัญญากันเสร็จโจทก์จะเข้าทำการก่อสร้าง จำเลยกลับไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปทำการก่อสร้าง ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะบังคับตามสัญญาเริ่มตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีเมื่อเกินกำหนด 10 ปีนับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์เป็นอันขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163,164และ 169

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 177, 183, 243 (2)

จำเลยให้การตอนแรกปฏิเสธว่าสามีจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงิน โจทก์สัญญากู้ยืมโจทก์ทำปลอมขึ้น เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสามีจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไป โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

จำเลยให้การตอนหลังว่าสามีตนเคยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมซึ่งไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระค่าเช่านา จะเป็นฉบับเดียวกับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องหรือไม่ จำเลยไม่ได้ให้การยอมรับ และตอนสุดท้ายก็ยืนยันว่าสัญญานี้เป็นเอกสารปลอม เพราะลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของสามีจำเลย คำให้การเช่นนี้มีประเด็นที่จำเลยจำนำสืบได้

เมื่อหน้าที่นำสืบตกอยู่แก่ฝ่ายโจทก์ การจะให้จำเลยนำสืบอาจเป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบได้. เมื่อจำเลยไม่นำพยานเข้าสืบก่อนตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงจะถือว่าจำเลยไม่ประสงค์สืบพยานหาได้ไม่ เพราะจำเลยได้คัดค้านไว้แล้ว และเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จจำเลยก็แถลงขอสืบพยานแต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณากรณีมีเหตุสมควรให้พิจารณาคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 422, 1250, 1264, 1269, 1270

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าบริษัทลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้ให้บริษัทเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1264 กลับเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเฉลี่ยคืนเงินที่เหลือแก่บรรดาผู้ถือหุ้นไปจนหมด จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 แสดงว่าผู้ร้องจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อบริษัทเจ้าหนี้ตาม มาตรา 422

เมื่อหนี้สินระหว่างบริษัทเจ้าหนี้ และบริษัทลูกหนี้ยังไม่ได้รับการชำระสะสางให้เสร็จสิ้นไป การชำระบัญชีของบริษัทลูกหนี้ก็ยังไม่สำเร็จลง และผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทลูกหนี้มิได้วางเงินที่เหลือตามบทบัญญัติว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเฉลี่ยคืนเงินที่เหลือ การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 ผู้ร้องจึงจะอ้างว่าได้กระทำไปโดยสุจริตตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2525

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 31, 65, 69 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 134, 193 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา ม. 62

จำเลยถูกฟ้องว่าปลูกสร้างอาคาร ไม่ตรงตามแบบที่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯลฯ อันจะทำให้ ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด เช่นนี้การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดครบถ้วนแล้ว และเป็นหน้าที่ของจำเลย ที่จะต้องนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเข้าข้อยกเว้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ข้อบัญญัติส่วนท้องถิ่นเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่คนทั่วประเทศมิใช่บังคับเฉพาะแต่คนในท้องถิ่นเท่านั้น จึงเป็น ข้อกฎหมายที่ศาลจะต้องทราบเอง โดยโจทก์มิต้องนำสืบความในข้อบัญญัติดังกล่าว

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า "ก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากคณะเทศมนตรีเมืองปทุมธานี" เช่นนี้เป็นการแจ้งข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 พนักงานสอบสวนหาจำต้องแจ้งชื่อพระราชบัญญัติด้วยไม่การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

จำเลยทราบอยู่แล้วว่าการก่อสร้างอาคารในเขตเทศบาลต้องได้รับอนุญาตจากเทศบาล ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ในเขตเทศบาลเมืองปทุมธานี ฯ แล้ว การที่จำเลยก่อสร้างฝ่าฝืนต่อเติมอาคารผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต จึงจะยกเป็นเหตุอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 80, 33

จำเลยขี่รถจักรยานยนต์พา ข. นั่งซ้อนท้ายไปยิงผู้เสียหายโดย ข. เป็นผู้ยิง แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย ดังนี้รถจักรยานยนต์ไม่ใช่ของที่ใช้ร่วมในการกระทำผิดแต่เป็นเพียงพาหนะที่ใช้ในการไปมาเท่านั้น จึงไม่ใช่ของกลาง ที่จะพึงริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 226

การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในคดีก่อน จะถือว่าจำเลยครอบครองโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหาได้ไม่ และเมื่อคดีก่อนนั้นถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ล. ผลของคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างคดีก่อนมาใช้ยันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมและเข้าเป็นคู่ความแทน ล. ผู้มรณะได้

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง จากพยานหลักฐานในคดี เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 เมื่อจำเลยต้องการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา ก็ต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 14, 41, 98, 123

เมื่อสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างและตกลงกันได้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงคือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งยื่นข้อเรียกร้องนั้น จึงถือได้ว่าสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานยื่นต่อนายจ้าง ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 การที่นายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41(4) มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งเรื่องค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมได้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะกำหนดค่าเสียหายให้ลูกจ้างตามที่เห็นสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2525

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 13, 15, 16

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13,16(3)กำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสำคัญว่า ทหารประจำการทำผิดคดีใดจะให้ฟ้องต่อศาลทหารหรือศาลพลเรือน

แม้ตามคำฟ้องจะมีชื่อจำเลยว่า สิบเอกประยุทธ และทางไต่สวนมูลฟ้องจะปรากฏในคดีอื่นที่โจทก์อ้างเป็นพยานว่าจำเลยมียศเป็นสิบเอก เป็นข้าราชการสังกัดกรมแพทย์ทหารบกก็ตาม แต่เป็นยศและหลักฐานประจำการก่อนเกิดเหตุคดีนี้เมื่อไม่ปรากฏตามคำฟ้องหรือทางไต่สวนมูลฟ้องว่า ขณะกระทำผิดจำเลยยังคงเป็นทหารประจำการอยู่ ครั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องแล้วซึ่งถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาจำเลยจึงยื่นคำร้องและแสดงหลักฐานซึ่งรับฟังได้ว่า จำเลยยังรับราชการเป็นนายทหารชั้นประทวนประจำการ จึงเป็นการที่ปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE