คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 115, 525, 531, 1367, 1377, 1378

โจทก์ให้ที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญหรือเอกสารสิทธิสำหรับที่แก่จำเลยแม้มิได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลใช้บังคับ เพราะโจทก์ได้ส่งมอบและสละเจตนาครอบครองให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ให้ ถ้าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์ย่อมฟ้องขอถอนคืนการให้ได้จะอ้างว่าการยกให้เป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หาได้ไม่ เพราะที่ดินชนิดนี้ผู้เป็นเจ้าของมีแต่เพียงสิทธิครอบครองหามีกรรมสิทธิ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 456

ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสารสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ไปโดยชำระราคาตามที่ตกลง หากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงไว้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1214/2498)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814 - 815/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521

โจทก์ออกจากงานได้รับเงินผลประโยชน์ ซึ่งคำนวณตามกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานของจำเลยข้อ 12(3) ไปแล้ว โดยต้องหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน ตามข้อ 15(1)(ข) เหลือเท่าใดจึงจ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกตามข้อ 12(1) เช่นนี้ เงินผลประโยชน์ที่โจทก์รับไปนั้นจึงมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานรวมอยู่ด้วยครบถ้วนแล้ว หาใช่มีเพียงเงินผลประโยชน์เพียงประเภทเดียวไม่

การที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันว่า จำนวนเงินผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับให้หักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน เป็นการตกลงกันในเรื่องเงินผลประโยชน์โดยเฉพาะ ไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 19 วรรคสอง

ในการฟ้องคดีด้วยวาจา โจทก์ได้บรรยายในบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาและบันทึกคำฟ้องว่า จำเลยนี้โดยทุจริต ได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นตัวแทนของบริษัท พ. จะส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศโดยขอเบิกเงินจากผู้เสียหาย 150,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้เสียหายไป ซึ่งความจริงจำเลยมิได้เป็นตัวแทนบริษัท พ. แต่อย่างใด ดังนี้ เป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา341 และถูกต้องตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 19 วรรคสองแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าผู้เสียหายมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท พ. หรือจำเลยอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2525

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497

เช็คของจำเลยจะต้องลงชื่อผู้สั่งจ่าย 2 คน แต่จำเลยที่ 2 ลงชื่อสั่งจ่ายเพียงคนเดียว โดยเซ็นทั้งชื่อและนามสกุลไม่ตรงกับตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารซึ่งมีแต่'ชื่อ' เท่านั้นเป็นเหตุให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแสดงว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ออกเช็คฉบับนี้ จำเลยที่ 2 เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2525

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 38

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 38 ที่บัญญัติว่า 'ถ้าการบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา 35 มาตรา36 หรือมาตรา 37 มีผลเมื่อผู้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ในนาแล้ว ให้ผู้เช่านามีสิทธิในนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยวแล้วแต่ต้องเสียค่าเช่านาตามส่วน' นั้นคำว่า 'ในนา' หมายถึงนาเฉพาะส่วนที่ผู้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ไปแล้วเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงส่วนที่ยังมิได้ลงมือทำประโยชน์ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 448, 1336 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

คำสั่งตาม มาตรา17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เรื่องให้ทรัพย์สินในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตราธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐ เป็นคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรและโดยมติคณะรัฐมนตรีจึงมีผลบังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งในข้อ (ข) ระบุให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งในและนอกประเทศซึ่งเป็นของบุคคลดังกล่าวตกเป็นของรัฐทันทีตั้งแต่วันออกคำสั่ง

เมื่อจำเลยถูกกำจัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายพิพาทโดยกฎหมายและกระทรวงการคลังโจทก์ได้ยึดถือทรัพย์รายพิพาทไว้ในนามของรัฐแล้วการที่จำเลยลักลอบไปจดทะเบียนรับมรดกทรัพย์รายพิพาทมาเป็นของจำเลยแล้วจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไปการกระทำของจำเลยจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

จำเลยลักลอบไปจดทะเบียนรับมรดกทรัพย์รายพิพาทเป็นของตนแล้วจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไป จึงเท่ากับเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปขายโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ที่จำเลยเอาของโจทก์ไปขาย ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด จึงนำอายุความตาม มาตรา 448แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับ เฉพาะกรณีผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 227

โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาร่วมกัน เพื่อให้จำเลยชำระเงินตามส่วนเฉลี่ยที่แต่ละคนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ในฐานที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกันได้ออกชำระแทนไปให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงแล้ว ฉะนั้น สำหรับหนี้เงินที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ที่จะรับผิดต่อไปนับจาก วันที่ โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปนั้นเมื่อไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย จึงไม่มีเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้ว แม้โจทก์จะต้องเสียค่าดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอัตราร้อยละสิบสี่ต่อปีก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 113, 379, 383

ขณะทำสัญญากับจำเลย ภ. ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ คือโจทก์ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี การลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนและตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการของโจทก์ ดังนี้ถือได้ว่า ภ. ได้กระทำการไปในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์มีอำนาจลงนามในสัญญาแทนโจทก์ได้โดยชอบ โดยไม่จำต้องมีการมอบอำนาจเพื่อการนี้อีก

เงินทุนมูลนิธิฟอร์ดมอบให้แก่รัฐบาลไทยเพื่อเป็นการช่วยเหลือในการจัดส่งข้าราชการไปศึกษาอบรมและฝึกงาน ณต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการไทยเมื่อโจทก์ติดต่อจนได้รับทุนมาแล้วได้จัดส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาณ ต่างประเทศ โดยโจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการในสังกัดโจทก์ ดังนี้ วัตถุประสงค์ของสัญญาที่ทำกันไว้หาได้ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำไว้

จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินเดือนที่ได้รับไปจากโจทก์พร้อมด้วยเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินเดือนคืนให้แก่โจทก์อันเป็นการบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ส่วนหนึ่งแล้วจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของจำเลยที่ 1 และประโยชน์อันจะพึงมีแก่โจทก์โดยส่วนรวมแต่ถ่ายเดียว จึงมีเหตุผลที่ควรได้รับความเห็นใจ เห็นได้ว่าในกรณีเช่นนี้การคิดเอาเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 2 อีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินทุนที่ต้องชดใช้คืนน่าจะสูงเกินส่วน สมควรลดเบี้ยปรับเฉพาะส่วนนี้ลงกึ่งหนึ่ง

จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันฎีกาขอให้ลดจำนวนเบี้ยปรับแต่เพียงผู้เดียวเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับและกรณีเป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกมิได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 537, 538, 569

ผู้เช่าได้เสียเงินกินเปล่าให้ผู้ให้เช่าจำนวน 50,000 บาท และเสียค่าเช่าในอัตราต่ำเพียงเดือนละ 70 บาท โดยจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 18 ปีถึงแม้ในสัญญาเช่าจะมีข้อสัญญาว่า หากผู้ให้เช่าขายทรัพย์ที่เช่าก่อนครบกำหนดสัญญา ผู้เช่าต้องออกจากที่เช่า ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นการขัดกับเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญา ผู้รับโอนทรัพย์ที่เช่าต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่า ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา569 เมื่อสัญญายังไม่ครบกำหนดผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า โดยอาศัยข้อสัญญาที่ขัดกับเจตนาอันแท้จริงนั้น

(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1361/2523)

« »
ติดต่อเราทาง LINE