คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 406, 1574 (13), 1599
เงินบำเหน็จตกทอดซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่ทายาทของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย มิใช่มรดกของผู้ตาย
โจทก์เป็นผู้เยาว์ มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมจะทำนิติกรรมที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้ชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
จำเลยเป็นเจ้าหนี้ผู้ตาย และได้รับเงินบำเหน็จตกทอดไปเป็นการชำระหนี้โดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ให้ความยินยอมโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ผู้เยาว์ และถือได้ว่าเป็นการได้ซึ่งทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2525
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 4, 48, 50 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512
การไสไม้ ตัดไม้ บังใบ แม้จะกระทำต่อไม้ที่แปรรูปแล้ว แต่ก็ย่อมทำให้รูปและขนาดของไม้เปลี่ยนไป ไม่มากก็น้อย จึงเป็นการแปรรูปไม้ตามกฎหมาย
แม้จำเลยจะได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานไสไม้และซอยไม้จากกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 แต่เมื่อโรงงานของจำเลยตั้งอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2482 มาตรา 48 ซึ่งแก้ไขแล้ว คือจำเลยจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1368, 1381 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 95, 104
โจทก์จำเลยพิพาทกันว่าใครมีสิทธิครอบครองที่พิพาท คำที่จำเลยได้เคยกล่าวกับบุคคลภายนอกว่า จำเลยรับจำนำที่นาแปลงพิพาทไว้จากโจทก์นั้น เป็นคำกล่าวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง ใช้ยันจำเลยได้
โจทก์กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยการที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาท และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมานั้น เป็นการครอบครองแทนโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161, ตาราง 6 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2521
นอกจากโจทก์ร้องเรียนในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับยศร้อยตำรวจเอกแล้ว ยังกล่าวหาผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและจำเลยในฐานะอธิบดีกรมตำรวจว่าเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรมอันดีทำลายภาพพจน์ของกรมตำรวจให้เสื่อมทรามลงโจรผู้ร้ายชุกชุมก็ไม่มีความสามารถปราบปรามบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงานซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโจทก์แต่อย่างใดกรณีเช่นนี้จึงมีเหตุที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เห็นว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงชอบที่จำเลยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์และไม่มีกฎหมายใดห้ามผู้บังคับบัญชาที่เป็นคู่กรณีตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาสอบสวนคู่กรณีแต่อย่างใด
ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงรวมทั้งค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้แก่จำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา161 แม้พนักงานอัยการจะเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87, 226
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับบัญชีพยานของจำเลยก็ดี หรือสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ได้รับบัญชีพยานของจำเลยไว้แล้วก็ดี จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวนั้นเลยเพิ่งมาโต้แย้งเมื่อศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยดังนี้เป็นการโต้แย้งคำสั่งงดสืบพยานเพื่อผลในการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226. คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับบัญชีพยานและที่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับบัญชีพยานของจำเลยจึงยังคงมีอยู่ ซึ่งมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีพยานเลย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 449 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150, 248
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 60,000 บาทต่อมาในวันสืบพยาน คู่ความแถลงรับกันในเรื่องค่าเสียหายว่าหากโจทก์ชนะคดีจำเลยยอมชำระค่าเสียหายให้ 40,000 บาทโจทก์พอใจรับค่าเสียหายตามที่ตกลงกัน ดังนี้ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีมี ทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดก็ดี จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำละเมิดก็ดี เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ส. เป็นคนร้ายลักตาข่ายดักปลาของจำเลย จำเลยทั้งสองแอบซุ่มดูอยู่ แล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงถูกส. ถึงแก่ความตายโดย ส. มิได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยทั้งสองแต่อย่างใดดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจฆ่า ส. ไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้พ้นจากความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 449
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2525
ประมวลรัษฎากร
เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย โจทก์อุทธรณ์การประเมินยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จริง ขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิ ฟ้องว่าการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องและขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งได้ยุติไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 820, 900, 904
จำเลยนำเช็คไปขายลดให้แก่โจทก์ แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้อื่นไปโดยบกพร่องต่อหน้าที่อันส่อไปในทางไม่สุจริต โจทก์จำต้องรับผิดในการที่จำเลยไม่ได้รับเงินค่าขายลดเช็ค การขายลดเช็คยังไม่สมบูรณ์เพราะถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าขายลดเช็คให้จำเลยตามสัญญาขายลดเช็ค. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 438, 442 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243
ลูกจ้างขับรถแทรกเตอร์ของจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่จุดโคมไฟแสงแดงที่ท้ายรถและที่ปลายสุดของผาลไถซึ่งยื่นล้ำข้างท้ายของรถ เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถชนกันแต่บุตรโจทก์ก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วยคือขับรถตามหลังมาด้วยความเร็วสูง มิได้ใช้ความระมัดระวังพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันท่วงทีหากมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าแต่ลูกจ้างจำเลยประมาทมากกว่าจึงให้จำเลยรับผิด 2 ใน 3 ส่วน
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าลูกจ้างจำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง เมื่อศาลฎีกาฟังว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ก็วินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7), 121, 123 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497
ข้อความในรายงานประจำวันเป็นถ้อยคำที่โจทก์ผู้แจ้งได้เล่าเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ออกเช็คชำระหนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงนำเช็คมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความตำรวจรับแจ้งไว้และได้มอบเช็คคืนให้โจทก์รับไปในวันนั้น ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)