คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.2472 ม. 53, 53 ทวิ

เดิมกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการมีฝิ่นและมูลฝิ่นไว้ในมาตราเดียวกัน ต่อมาได้มีการแก้ไขโดยบัญญัติแยกไว้คนละมาตรา เป็นคนละฐานความผิด จึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกการมีฝิ่นและมูลฝิ่นไว้เป็นคนละความผิดกัน ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีฝิ่นและมูลฝิ่นไว้ในความครอบครองในวาระเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 31 (2)

สภาพปกติของการนัดหยุดงานได้แก่การที่ลูกจ้างหยุดการกระทำใด ๆอันลูกจ้างมีหน้าที่ต้องกระทำอยู่ตามปกติผลที่เกิดขึ้นจากการหยุดผลิตหรือหยุดการขนส่งย่อมถือเป็นผลธรรมดาหรือธรรมชาติของการหยุดงาน แต่การที่ผู้คัดค้านกับพวกซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เพียงแต่หยุดงาน แต่กลับปิดกั้นประตูทางเข้าออกบริษัทผู้ร้อง จนเป็นเหตุให้บริษัทผู้ร้องไม่อาจปฏิบัติตามสัญญากับคู่สัญญาได้ และต้องรับผิดในความเสียหายต่อคู่สัญญา ย่อมถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นมิใช่ผลธรรมดาของการนัดหยุดงาน แต่เป็นเรื่องที่กรรมการลูกจ้างผู้คัดค้านจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60, 61, 84, 172, 183

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์เนื่องจากถูกไฟไหม้ ซึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งแล้วว่าผู้เอาประกันภัยจะเป็นผู้เผารถเองหรือใครเผาก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย คำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่กล่าวถึงผู้เผารถมาเช่นนี้เป็นการเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ดังฟ้องหรือไม่ มิได้ทำให้จำเลยหลงต่อสู้แต่ประการใด และเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์เนื่องจากถูกไฟไหม้ จำเลยต่อสู้คดีว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เผารถยนต์คันที่เอาประกันภัยเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ดังนี้ หน้าที่นำสืบในข้อนี้ตกแก่จำเลย

ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามว่า เมื่อทนายความได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีใดแล้ว จะทำหน้าที่เป็นทนายความในคดีนั้นอีกไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความเป็นผู้ฟ้องคดีแทน และแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นทนายความของตนอีกฐานะหนึ่งด้วย ศาลก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยผู้แพ้คดีใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1649

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ ต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกส. ผู้ตาย หาใช่ ส.ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของส. ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพ สผู้ตาย แม้โจทก์จะได้จัดการทำศพและใช้จ่ายในการปลงศพส. ผู้ตายไปจริง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่าทำศพแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (1), 172

การที่จำเลยขอผัดชำระหนี้ด้วยวาจาหรือยอมรับด้วยวาจาต่อหน้าผู้อื่นว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ด้วยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172

โจทก์ผู้เป็นพ่อค้าใช้สิทธิเรียกร้องราคาสินค้าจากจำเลยเกินกว่าสองปีนับแต่วันส่งมอบคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 148, 177 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582, 852

จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เคยฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว และโต้เถียงข้อแถลงของโจทก์ที่ว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ตามที่โจทก์แถลง ดังนั้น การที่ศาลแรงงาน ฯ วินิจฉัยว่า จำเลยได้ให้คำมั่นกับโจทก์ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำจึงเป็นการไม่ชอบ

โจทก์เคยฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันคืน แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยว่า จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง โจทก์ยอมตามที่จำเลยตกลงโดยไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์ใด ๆ และไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไปทั้งทางแพ่งและอาญาจากการเลิกจ้างนี้ ดังนี้ สิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยต่างมีมูลมาจากการเลิกจ้างซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยตั้งแต่จำเลยเลิกจ้างแล้ว ข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลรวมไปถึงโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยด้วย การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904/2525

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 4, 13

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518มาตรา 13 บัญญัติห้ามเฉพาะการผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2เท่านั้นว่ามีความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 และตามมาตรา 4 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า ' ขาย ' ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจกแลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้นการขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน

จำเลยขายวัตถุออกฤทธิ์ชนิดเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ 2 เม็ด และต่อมาในเวลาใกล้เคียงกันตรวจค้นได้จากตัวจำเลยอีก 4 เม็ด วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวทั้ง 6 เม็ดจึงเป็นจำนวนเดียวกัน ที่จำเลยขายและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวคือการขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 99 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87, 88, 142

สิทธิการเช่าตึกแถว มีราคาและอาจโอนกันได้ จึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 99

พยานหลักฐานที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยาน โจทก์เสร็จ เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับสูติบัตรที่โจทก์อ้างหมายจ. 1 นั่นเองจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานที่ขออ้างเพิ่มเติมนั้นมาสืบ หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานนั้นมีอยู่ การที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อเสร็จการสืบพยานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงไม่มีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ระบุอ้างพยานเพิ่มเติมได้

แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่ารถคันพิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่ทางพิจารณากลับได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้ขายทรัพย์มรดกอื่นไปแล้วไม่ถึงหนึ่งเดือน จำเลยก็ซื้อรถคันพิพาท ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าจำเลยขายทรัพย์อะไรไป ศาลก็มีอำนาจพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบรับดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานในสำนวนและฟังว่าจำเลยขายทรัพย์มรดกอื่นเอาเงินมาซื้อรถคันพิพาท และถือได้ว่ารถคันพิพาทเป็นทรัพย์มรดก หาเป็นการนอกฟ้องและนอกคำให้การไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 869

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 869/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 36 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493

สุราของกลางถูกเจ้าพนักงานศุลกากรยึดไว้ในฐานะเป็นของไม่เสียภาษีศุลกากรตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2517 โจทก์เข้ามอบตัวต่อตำรวจเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2517 จนกระทั่งศาลพิพากษาเรื่องโจทก์ปิดอากรแสตมป์สุราไม่ครบถ้วนตาม พระราชบัญญัติสุราฯแล้วโจทก์จึงมาขอสุราของกลางคืนซึ่งก็เป็นเวลาเกิน 30 วันนับแต่วันยึดแล้ว สุราของกลางจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม พระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 24 วรรค 2 ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1004

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1004/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 572, 574

ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นปรากฏว่า คู่ความได้สละประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การที่มีอยู่ คงโต้เถียงกันแต่เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์แล้วหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยังมิได้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ จำเลยก็ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ ส่วนค่าเสียหายถ้าสูงเกินไปศาลมีอำนาจลดลงได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกราคารถยนต์ที่เช่าซื้อได้อีก จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

« »
ติดต่อเราทาง LINE