คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987 - 990/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46

แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและถูกศาลพิพากษาลงโทษทางอาญาแต่เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ขับรถ แต่นำรถคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปใช้โดยพลการ จึงมิใช่เป็นการกระทำของ ลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด กับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954 - 956/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328

จำเลยเขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์แบบอันธพาล มีสันดานชอบเขียนใส่ร้ายประณามสุจริตชน รีดไถ ขู่เข็ญ ทำให้วงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยถูกหาว่าสกปรกทั้งหมด ย่อมทำให้ผู้อ่านบทความมีความรู้สึกว่าโจทก์ใช้การเป็นนักหนังสือพิมพ์แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยผู้เขียนบทความจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบด้วยมาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 183 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 569

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยให้การต่อสู้ไว้หลายประการ เช่น จำเลยไม่เคยติดค้างค่าเช่าและไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวเลิกการเช่า โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบในข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างและจำเลยมีหน้าที่นำสืบแก้ตามคำให้การจำเลย ในข้อเหล่านี้โจทก์จะอ้างว่าเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับเจ้าของเดิม ไม่เกี่ยวกับโจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย ดังนี้ศาลจะสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและตัดสินคดีไปย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 979

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978 - 979/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 2

โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสารก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่มาเสียภายหลังตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการแก้ไขกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับการอ้างเอกสารซึ่งบกพร่องให้บริบูรณ์แล้วเช่นนี้เอกสารที่โจทก์อ้างจึงรับฟังได้และหาทำให้การพิจารณาของศาลชั้นต้นเสียไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุถึงการกระทำของจำเลยแต่ละคนที่ได้นำโคของตนปล่อยเข้าไปกัดกินต้นยางในสวนยางของโจทก์เป็นไปในลักษณะจำเลยแต่ละคนต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งการกระทำอันละเมิดต่อโจทก์ของจำเลยแต่ละคนนั้นจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนของแต่ละคนมากน้อยเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏชัด ข้ออ้างแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยแต่ละคนตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ใช่หนี้ร่วมที่โจทก์จะฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมได้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นการขัดแย้งกันในตัว ยากที่จำเลยแต่ละคนจะต่อสู้คดีของตนได้ถูกต้องจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957 - 958/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177

ในคดีแพ่งและคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างเป็นคดีนี้ว่าจำเลยเบิกความเท็จ มีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า การที่โจทก์นำตู้และสิ่งของไปวางไว้บนทางเดินพิพาทเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยหรือไม่ และมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ไม่มีประเด็นว่าโจทก์เช่าห้องเลขที่ 111 ของจำเลยหรือไม่แต่อย่างใด ทั้งในคดีดังกล่าวโจทก์ก็ให้การและนำสืบรับว่าโจทก์เช่าห้องเลขที่ 111 ของจำเลยจริง เพียงแต่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเท่านั้นสัญญาเช่าจะได้ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้หรือไม่ ไม่เป็นเหตุให้การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวมีผลแตกต่างออกไปแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลยแต่โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าฉบับที่จำเลยยึดถือไว้จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีทั้งสองนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 237 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118, 456

ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกัน แต่ได้ทำนิติกรรมจำนองอำพรางไว้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ จำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงในเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

การซื้อขายที่ดินต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่กรณีว่าตั้งใจจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลังหรือไม่ หากไม่มีเจตนาดังกล่าวก็เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาตกเป็นโมฆะ หากมีเจตนาดังกล่าว ก็เป็นสัญญาจะซื้อขายการชำระราคาและส่งมอบที่ดินให้แก่กัน ก็ถือเป็นการชำระหนี้บางส่วนซึ่งจะบังคับตามสัญญาซื้อขายได้ เมื่อโจทก์จำเลยมีเจตนาชัดแจ้งที่จะไม่นำการซื้อขายที่ดินพิพาทไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังอีก แต่โจทก์จะโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นต่อไปโดยอาศัยใบมอบอำนาจของจำเลยจึงเป็นการซื้อขายเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 18, 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 247

โจทก์ประกอบกิจการโรงแรมชื่อรามาดาอินน์ ในประเทศทั่วโลก จำเลยประกอบกิจการโรงแรมในประเทศไทยใช้ชื่อว่ารามาดาโฮเต็ล ชื่อทางการค้าของโจทก์และจำเลยแม้จะคล้ายคลึงกันและโจทก์ใช้ชื่อนี้ก่อนจำเลยก็ตาม ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในนามของบุคคล การจะขอห้ามจำเลยมิให้ใช้ชื่อเดียวกับโจทก์จะต้องปรากฏว่าเป็นเหตุให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์หรือได้รับความเสียหาย และจะเสียหายอยู่สืบไป และเมื่อคำว่า รามาดาเป็นภาษาเมกซิกันอินเดียนแดง มีความหมายว่าที่พักแรม มิใช่คำที่โจทก์ประดิษฐ์คิดขึ้นเอง และโจทก์ก็มิได้เข้ามาประกอบกิจการ โรงแรมในประเทศไทย จึงถือไม่ได้ว่ากิจการโรงแรมของจำเลยในประเทศไทยเป็นการแข่งขันกับกิจการโรงแรมของโจทก์ในต่างประเทศอันจะกระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ของโจทก์ โจทก์ จึงไม่มีสิทธิอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้ชื่อนั้นในการประกอบกิจการโรงแรมของจำเลยในประเทศไทยได้ และปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 208, 215, 386, 387, 388, 587

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคาร จำเลยผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องมอบพื้นที่และกำหนดแนวเขตพื้นที่ที่โจทก์จะต้องก่อสร้างการที่จำเลยสั่งระงับการก่อสร้างเฉพาะการวางผังและตอกเสาเข็มรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นนั้นเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่ตรวจแนวเขตที่ดินให้แน่นอนเสียก่อนจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่สามารถให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาต่อไปได้แต่ในสัญญาจ้างเหมาไม่มีข้อสัญญาให้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาไว้เลย สิทธิในการบอกเลิกสัญญาจึงย่อมมีอยู่เฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้นแม้สัญญาจ้างเหมาจะกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน แต่เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นข้อสำคัญอีกต่อไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการให้โจทก์ลงมือก่อสร้างต่อไปโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยแก้ไขข้อขัดข้อง ไม่สามารถแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดให้แล้ว โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ หากโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติดังกล่าว โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อโจทก์ยังไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 76, 177, 197, 199, 228 (3), 247

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การ เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3), 247

ตามรายงานเจ้าหน้าที่ของพนักงานศาลได้ระบุว่า ว. เป็นพี่ชายจำเลยมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 ทั้งในหมายเรียกก็ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้จำเลยทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายใน 8 วันฉะนั้น เหตุที่จำเลยกล่าวอ้างว่าในวันที่เจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกนั้นจำเลยไม่ได้อยู่บ้านเพราะสามีซึ่งป่วยไปรักษาตัวที่กรุงเทพมหานคร ว. ซึ่งเป็นญาติและอยู่บ้านเดียวกับจำเลยเป็นผู้รับหมายเรียกไว้ ครั้นเมื่อ จำเลยนำสามีกลับมาถึงบ้านตรงกับวันที่ครบกำหนดยื่นคำให้การ จึงโทร ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปอีก 7 วัน เพื่อไปติดต่อหาทนายความ ที่กรุงเทพมหานครแก้ต่างให้นั้น ไม่เป็นเหตุให้รับคำให้การของจำเลยได้

กรณีของจำเลยเป็นการยื่นคำให้การพ้นกำหนดเวลาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้มิใช่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 197 จึงรับคำให้การของจำเลยไว้พิจารณาในฐานะที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 199 ไม่ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE