คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 1349
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ก็เนื่องจากถือเอาความจำเป็นของเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมเป็นสำคัญ ส่วนค่าทดแทนตามวรรคสี่เป็นเพียงค่าชดเชยการใช้ทางผ่านเท่านั้นและก็มิได้บังคับให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมต้องปฏิบัติหน้าที่เสียก่อน แล้วจึงจะใช้สิทธิได้ ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้โดยมิจำต้องเสนอชดใช้ค่าทดแทน เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องเรียกร้องขึ้นมาเอง การใช้สิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หาอาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบและไม่สุจริตไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934 - 935/2525
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยไม่ได้ยกข้อที่ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบถึงเรื่องที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยขึ้นต่อสู้ และศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยถึง ในเรื่องการบอกกล่าวจึงไม่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า จำเลยมีสิทธินำเงินไปชำระให้แก่ผู้เสียหายได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อจำเลยได้นำเงินตามเช็คไปชำระให้แก่ผู้เสียหายแล้วก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ย่อมมีผลให้คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 5วรรคท้าย จึงยังไม่เกิดขึ้น
วันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2497 นั้น คือวันที่ลงในเช็ค วันที่เขียนหรือพิมพ์เช็คหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า.ในวันออกเช็คจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และธนาคารได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา3(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
ในคดีซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกามีอำนาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 806, 823, 851
จำเลยทำสัญญาเช่าบ้านพิพาทจาก น. และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ น. ยอมออกจากบ้าน การที่โจทก์ตัวการเข้ารับเอาสัญญาทั้งสองที่ น. ทำไว้แทนตนนั้นเป็นสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 การเข้ารับเอาไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ให้สัตยาบันหรือไม่ เพราะการให้สัตยาบันเป็นปัญหาที่จะพิจารณาถึงความรับผิดของตัวการตาม มาตรา 823 มิใช่ปัญหาเรื่องสิทธิของตัวการซึ่งต้องพิจารณาตามมาตรา 806
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929 - 930/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 249
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ข้อที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 มีทุนทรัพย์แต่ละสำนวนไม่เกินสองหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 927/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
โจทก์เคยฟ้องธนาคารจำเลยที่ 1 ผู้จัดการและสมุห์บัญชีธนาคารสาขาจำเลยที่ 4, ที่ 5 ว่ายักยอกเงินฝากของโจทก์ ศาลอาญาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ปลอมเอกสาร และยินยอมให้เบิกเงินไปตามเอกสารปลอมและเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สาม การสันนิษฐานของผู้ชำนาญการเป็นไปได้หลายนัยฟังเป็นยุติอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ทั้งจำเลยนำสืบโต้แย้งฟังได้ว่าได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจ ไม่ได้ปลอมใบขอซื้อเช็คหรือเช็คแต่อย่างใดพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์การที่โจทก์มาฟ้องคดีแพ่งในเงินฝากรายเดียวกันนี้ อ้างว่าจำเลยที่ 1กับพวกจงใจหรือประมาทเลินเล่อจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ให้แก่ผู้นำเช็คมาเบิกเงินไปเป็นเหตุให้เงินฝากของโจทก์ขาดหายไป จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวนอกจากจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นแล้วในการพิพากษาคดีแพ่ง ศาลยังจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญานั้นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจโดยไม่มีการปลอมใบขอซื้อเช็คหรือเช็คแต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925 - 926/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94
แม้ข้อความในสัญญาซื้อขายจะระบุว่าโจทก์ผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์อ้างว่าการซื้อขายเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวงระหว่างคู่กรณีเท่ากันเป็นการกล่าวอ้างว่าหนี้ตามสัญญาไม่สมบูรณ์ โจทก์มีสิทธิที่จะนำสืบหักล้างเอกสารสัญญาซื้อขายนั้นได้
โจทก์โอนโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยทำเป็นสัญญาซื้อขายณ สำนักงานที่ดิน ก็เพื่อที่จะให้จำเลยนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้จากธนาคารซึ่งจำเลยเป็นลูกค้าอยู่ เพื่อนำเงินมาไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทจากผู้รับซื้อฝากโดยมิได้ตกลงซื้อขายกันจริงจัง สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวงระหว่างคู่กรณี ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 51, 78, 92, 288
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะเกิดเหตุ คงมีแต่พยานพฤติเหตุแวดล้อมเพียงปากเดียวซึ่งเบิกความว่าเห็นจำเลยวิ่งออกมาจากไร่อ้อยภายหลังเกิดเหตุ ที่ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนฆ่าผู้ตาย และฆ่าเพราะอะไรโดยวิธีใด ก็เพราะจำเลยให้การรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงศาล ศาลวางโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเพิ่มโทษและลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 33 ปี 4 เดือน จึงเหมาะสมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 115, 525, 531, 1367, 1377, 1378
โจทก์ให้ที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญหรือเอกสารสิทธิสำหรับที่แก่จำเลยแม้มิได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลใช้บังคับ เพราะโจทก์ได้ส่งมอบและสละเจตนาครอบครองให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ให้ ถ้าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์ย่อมฟ้องขอถอนคืนการให้ได้จะอ้างว่าการยกให้เป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หาได้ไม่ เพราะที่ดินชนิดนี้ผู้เป็นเจ้าของมีแต่เพียงสิทธิครอบครองหามีกรรมสิทธิ์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 456
ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสารสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ไปโดยชำระราคาตามที่ตกลง หากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงไว้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1214/2498)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814 - 815/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521
โจทก์ออกจากงานได้รับเงินผลประโยชน์ ซึ่งคำนวณตามกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานของจำเลยข้อ 12(3) ไปแล้ว โดยต้องหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน ตามข้อ 15(1)(ข) เหลือเท่าใดจึงจ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกตามข้อ 12(1) เช่นนี้ เงินผลประโยชน์ที่โจทก์รับไปนั้นจึงมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานรวมอยู่ด้วยครบถ้วนแล้ว หาใช่มีเพียงเงินผลประโยชน์เพียงประเภทเดียวไม่
การที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันว่า จำนวนเงินผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับให้หักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน เป็นการตกลงกันในเรื่องเงินผลประโยชน์โดยเฉพาะ ไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้