คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 336/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 241, 341, 344, 1144
การที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและมีตำแหน่งเป็นกรรมการจัดการบริษัทจำเลยนั้น แม้โจทก์จะได้รับตำแหน่งด้วยการเลือกจากผู้ถือหุ้น และต้องอยู่ในตำแหน่งตามวาระที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ตำแหน่งของโจทก์คือผู้บริหารงานของบริษัทซึ่งมีรายได้เป็นเงินเดือนหรือที่เรียกว่าค่าตอบแทนรายเดือนและโจทก์ก็ยังมีสิทธิและหน้าที่ในสวัสดิการของบริษัทเช่นเดียวกับพนักงานอื่นอีกด้วย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทเพื่อรับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนรายเดือน อันนับได้ว่าเป็นลูกจ้างตามความหมายในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การรอการจ่ายเงินประกันหรือเงินสะสมไว้ก่อน โดยคาดคะเนหรือสันนิษฐานว่าโจทก์และภรรยาอาจสมคบกันเบียดบังเงินของจำเลยไปทำให้จำเลยเสียหาย โดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะยก ขึ้นอ้างได้ หากจำเลยเสียหายจริงก็อาจไปว่ากล่าวกัน เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จำเลยจึงต้องคืนเงินดังกล่าว ให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318 - 329/2525
ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 4, 9, 20 พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ม. 5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1374, 1375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 240 (2), 243 (2), 247
ที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์โจทก์และจำเลยจึงอาจมีได้แต่สิทธิครอบครองที่ดินเมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาทภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ส่วนจำเลยแม้จะครอบครองที่พิพาทมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แต่ จำเลยก็หาได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาตามที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัติไว้ไม่ โจทก์และจำเลยจึงต่างไม่มีกรรมสิทธิ์และ สิทธิครอบครองในที่พิพาทโดยชอบดังนั้น แม้โจทก์จะแย่ง การครอบครองที่พิพาทจากจำเลยเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ก็ เป็นการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้รับ อนุญาต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของโจทก์ คงมีอำนาจฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนเท่านั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทจำเลยต่อสู้ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ออกหลักฐานสิทธิครอบครองที่พิพาทแก่จำเลย หาก ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยต่อสู้ จำเลยอาจมี สิทธิครอบครองที่พิพาทดีกว่าโจทก์โดยการที่รัฐจัดที่ดิน ให้แก่จำเลยตามกฎหมาย จึงชอบที่จะฟังข้อเท็จจริงไป ก่อนหาควรด่วนงดสืบพยานไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 317/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59, 248
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดโดยโจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหาย7,000 บาท ดังนี้ ถึงแม้จะฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน สิทธิอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314 - 316/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 173, 1374, 1375 กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ
การแย่งการครอบครองที่บ้าน ที่สวน ที่ต้องใช้อายุความ9 ปี 10 ปี ตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 นั้น ต้องได้ความว่ามีสภาพเป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ถ้าไม่ปรากฏว่าเป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แล้ว ก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 อันว่าด้วยที่ดินมือเปล่าซึ่งผู้ยึดถือมีแต่สิทธิครอบครอง
การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ไม่ทำให้การครอบครองที่ดินสะดุดหยุดลง เพราะมิใช่เป็นการฟ้องคดีต่อศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308 - 309/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดในวงเงินที่เอาประกันไว้ จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวฎีกาศาลฎีกาฟังว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์เอง เมื่อเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.ว.พ. ม. 245 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296 - 297/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
เมื่อปรากฏว่า นายจ้างจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้ลูกจ้างเป็น ประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับค่าจ้างหรือ เงินเดือน เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน
นายจ้างจ่ายเบี้ยเลี้ยงมีจำนวนแน่นอนให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานประจำ ณ หน่วยงานแห่งหนึ่งของนายจ้าง มิใช่จ่ายเฉพาะลูกจ้างที่ออกไปทำงานนอกสถานที่เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งเป็นครั้งคราว ดังนี้ เบี้ยเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 15, 31
วินัยและโทษทางวินัยเป็นรายการที่นายจ้างต้องให้มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 68 ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย แม้ไม่มีระบุไว้ในรายการของข้อ 68 แต่นายจ้างจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยก็ได้เพราะรายการในข้อ 68 เป็นเพียงรายการที่กำหนดว่าอย่างน้อยต้องมีเท่านั้น และการที่นายจ้างกำหนดวินัยและโทษทางวินัยขึ้นใช้บังคับก็หาเป็นการทำให้นายจ้างลงโทษลูกจ้างโดยปลดออกจากงานแล้วไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่เพราะการที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อปลดออกจากงานนั้น ต้องพิจารณาว่าเป็นการปลดออกในกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าวข้อ 47(1) ถึง (6) หรือไม่ 'ข้อเรียกร้อง' ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 31 หมายถึงข้อเรียกร้องที่สมบูรณ์ตามบทบัญญัติมาตราอื่น ๆ ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นช่องทางให้ลูกจ้างผู้ไม่สุจริตหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทางวินัยได้โดย ง่าย ดังนั้น เมื่อได้ความว่าสหภาพแรงงานมีสมาชิกไม่ถึงหนึ่งในห้า ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ขอให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงไม่สมบูรณ์เป็นข้อเรียกร้องตามมาตรา 15 แม้ข้อเรียกร้องนั้นจะผ่านการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทจนอยู่ในระหว่างการพิจารณาชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และการที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การที่นายจ้างปลดโจทก์ ออกจากงานระหว่างนั้นจึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 65
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 มิได้บังคับว่าเมื่อทนายความยื่นคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการเป็นทนายของคู่ความศาลจะต้องอนุญาตเสมอไป จึงอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งตามควรแก่กรณี จำเลยได้ขอเลื่อนคดีมาแล้ว 4 ครั้ง ด้วยเหตุที่พยานป่วยหนึ่งครั้ง พยานมา ศาลเพียงปากเดียวหนึ่งครั้ง จำเลยป่วยหนึ่งครั้งและพยานไม่มาศาลหนึ่งครั้ง สำหรับในวันนัดสืบพยานจำเลยก่อนที่ทนายจำเลยจะยื่นคำร้องขอถอนตัวนั้น ปรากฏว่าพยานจำเลยมีตัวจำเลยกับพยานอื่นหนึ่งปากมาศาล แต่โจทก์คัดค้านจึงต้องเลื่อนคดีไป โดยทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานมาศาล 3 ปากขอหมายเรียกพยานหนึ่งปากหากไม่นำพยานมาศาลก็ไม่ติดใจ สืบ ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าจำเลย ทนายจำเลยและพยานจำเลยไม่มาศาล คงมีแต่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยมาศาลและยื่นคำร้องที่ทนายจำเลยขอถอนตนจากการเป็นทนายต่อศาลและอ้างว่าติดว่าความในคดีอื่นจึงไม่อาจมาศาลได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ตัวจำเลยจะต้องมาศาลและนำพยานจำเลยมาศาลด้วยตามที่ได้แถลงไว้ในนัดก่อนเพราะศาลอาจสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยขอถอนตนจากการเป็นทนายและให้สืบพยานจำเลยไปก็ ได้ พฤติการณ์ของจำเลยในการขอเลื่อนคดีถึง 4 ครั้งและไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและสั่งงดสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 286/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 656, 801 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60
การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจำเลยหรือผู้ใด และแม้ว่าขณะมอบอำนาจโจทก์ยังไม่มีสิทธิ์ไล่เบี้ยหรือรับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลย ก็ไม่ทำให้ใบมอบอำนาจนั้นเสียไป
ว. เช่าสถานที่สถานีบริการน้ำมันจอดรถ โดยนำรถเข้าไปจอดเองแล้วนำกุญแจรถกลับไปด้วย ต้องดูแลรับผิดชอบรถเองโดยจำเลยจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจอดรถ ทั้งยังมี ข้อตกลงกันว่าให้เช่าเฉพาะที่จอดรถ ไม่รับผิดชอบในการที่รถสูญหายหรือเสียหายด้วย ใบเสร็จรับเงินที่ออกให้ก็เขียนไว้ทุกฉบับว่าเป็นค่าเช่าที่จอดรถดังนี้ ข้อตกลงและพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างจำเลยกับ ว. เป็นเรื่องให้เช่าที่จอดรถ จำเลยมิได้รับมอบรถเพื่อเก็บรักษาไว้ในความอารักขาแห่งตน จึงไม่เป็นการรับฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายเกี่ยวกับรถที่สูญหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 219, 372, 572, 573
สัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572นั้น เป็นสัญญาเช่าอย่างหนึ่ง ผู้ให้เช่าย่อมมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญา โจทก์ตกลงเช่าซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ขายพร้อมที่ดิน มิใช่เช่าซื้อมาเพื่อรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนเมื่อจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ตามสัญญาเพราะที่ดินถูกเวนคืน การชำระหนี้ย่อมตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะชำระหนี้ตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 372 วรรคแรก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย
สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน แม้จำเลยจะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา 372วรรคแรก กรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องชำระหนี้ตอบแทน
สัญญาเช่าซื้อนั้น ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และในกรณีที่การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยตามมาตรา 219 แม้สัญญาไม่เลิกกัน ก็ย่อมระงับเพราะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย