คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 195, 218

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่1และที่2ได้รับชำระหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อยู่แล้วข้อความดังกล่าวจำเลยที่3ย่อมเข้าใจคำฟ้องได้ดีว่าโจทก์ได้อ้างว่าจำเลยที่3รู้และได้กระทำไปโดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่2ต่อศาลอาญาและกำลังใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา350แล้ว

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่3ปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินโดยกล่าวอ้างว่าเป็นของตนการซ่อนเร้นนั้นย่อมเข้าใจความหมายได้ชัดเจนดีอยู่แล้วส่วนจะกระทำด้วยวิธีอย่างใดเป็นเรื่องรายละเอียดซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

จำเลยเจ้าของที่ดินจะต้องยอมให้โจทก์ปักเสาและพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของตนต่อเมื่อได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้เสนอค่าทดแทนให้จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิกระทำดังกล่าวได้ และคดีไม่มีประเด็นเรื่องค่าทดแทน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าตอบแทนแก่จำเลย จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยโดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้ให้ลูกจ้างขับรถให้จำเลยแล้วเกิดอุบัติเหตุลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเกี่ยวกับความประมาทจึงไม่จำต้องบรรยายว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท

การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทน มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ส่วนจำเลยถ้าไม่พอใจคำสั่งเงินทดแทนดังกล่าว ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่ออธิบดีกรมแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 8 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ม. 16 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ม. 5, 7, 9, 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521

ผู้ร้องซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายยื่นคำร้องต่อหัวหน้ากองแรกรับ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเพื่อเข้าพบเยาวชนซึ่งถูกควบคุมตัว ณ กองแรกรับ หัวหน้ากองแรกรับจะอนุญาตหรือไม่เป็นเรื่องธุรการซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกองแรกรับ หากผู้ร้องไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว ก็ชอบที่จะร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป หามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งหัวหน้ากองแรกรับอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าพบลูกความตามที่ต้องการไม่ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจะมีอำนาจสั่งได้เมื่อเยาวชนนั้นถูกฟ้องต่อศาลแล้ว

กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทเป็นหลักในการปกครอง ศาลจะมีอำนาจสั่งการใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายเฉพาะเรื่อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2525

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

โจทก์เป็นหัวหน้าประกอบแบตเตอรี่ของจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลงานในแผนกเกี่ยวกับการผลิตให้มีคุณภาพดูแลการทำงานของเครื่องจักรในแผนก ควบคุมบังคับบัญชาคนงานจำนวนมาก ตระเตรียมวางแผนงานและประสานงานกับแผนกอื่นเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและตามนโยบายของฝ่ายผลิตเมื่อปรากฏว่าผลงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งไม่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้ง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์เสียได้ กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 606 - 607/2525

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8, 96, 114, 116 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164

กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้สั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้กระทำไปในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลายตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องยื่นต่อศาลภายในเวลาใด จึงต้องนำอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับ(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 702-705/2513)

ก่อนที่จะถูกโจทก์ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้ได้ทำสัญญายอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต่อมาลูกหนี้จึงได้หย่ากับภริยาและโอนที่ดินสินสมรสให้ จึงฟังได้ว่าการโอนที่ดินดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน เมื่อได้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิร้องต่อศาลให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และบุคคลภายนอกแม้จะรับโอนต่อมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แต่เป็นการโอนในภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116

ก่อนล้มละลายและก่อนที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินที่จำนองไว้กับธนาคารบางส่วนให้แก่ธนาคาร แต่ยังมีทรัพย์จำนองเหลืออยู่อีกซึ่งมีราคาสูงกว่าหนี้จำนองที่เหลือเป็นจำนวนมาก และลูกหนี้ยังคงประกอบการค้าขายต่อไปตามปกติทั้งเป็นเวลาก่อนที่ลูกหนี้จะได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ดังนี้เชื่อได้ว่าธนาคารรับโอนทรัพย์สินไว้โดยไม่ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และทรัพย์สินที่รับโอนไว้ก็เป็นทรัพย์สินที่จำนองจำนำไว้กับธนาคาร แม้ลูกหนี้จะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ธนาคารในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิพิเศษที่จะขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น การที่ธนาคารรับโอนทรัพย์สินที่รับจำนองจำนำไว้จากลูกหนี้เพื่อชำระหนี้บางส่วน จึงไม่ทำให้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 298, 420, 442, 1649 กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 ม. 70 ข้อ 1 อนุ 2

โจทก์ที่ 1 สามีผู้ตายขับรถแทรกเตอร์มีกระบะพ่วงท้ายผู้ตายนั่งมาด้วยในรถกระบะโดยมิได้ติดโคมไฟท้ายรถกระบะให้มีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล จำเลยขับรถโดยสารแล่นตามหลังไม่อาจมองเห็นรถที่โจทก์ขับในระยะไกล จึงไม่อาจหยุดรถหรือหลบหลีกได้ทันเกิดชนกันเสียหาย ดังนี้ ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ที่ 1มีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 บุตรของผู้ตาย หนึ่งในสามส่วน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 676/2524)

การที่จำเลยชดใช้ค่าทำศพให้ ส. ซึ่งมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นการชำระให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำศพ ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298 จำเลยจึงยังต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายที่มีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพผู้ตายอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142

การที่โจทก์จำเลยมีสิทธิครอบครองที่นาร่วมกันโดยยังมิได้แบ่งแยกกันเป็นส่วนสัดว่าของโจทก์เท่าใด ของจำเลยเท่าใดและอยู่ตรงส่วนไหนดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิเข้าทำนาที่พิพาทได้ตามป.พ.พ. ม.1360 และเมื่อจำเลยมิได้ห้ามปรามมิให้โจทก์เข้าทำนาที่พิพาท จึงไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินขัดต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่นา ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์จำเลยมีสิทธิครอบครองที่นาร่วมกัน ดังนี้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่นาให้โจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 320, 807, 810, 812 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 182, 183, 225

ตามคำให้การของจำเลย จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิที่จะนำใบหุ้นที่ซื้อในวันอื่นส่งมอบให้โจทก์แทนได้ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และจำเลยจัดซื้อหุ้นให้โจทก์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 จริงหรือไม่ ต่อมาได้เพิ่มประเด็นพิพาทอีกข้อหนึ่งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่และก่อนมีการสืบพยาน ศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า คู่ความมีประเด็นโต้เถียงกันเพียงว่าหุ้นตามใบหุ้นและเลขที่ตามหนังสือที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับใบหุ้นนั้น จำเลยได้มีการซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 หรือไม่ โดยโจทก์ว่าไม่มีการซื้อในวันดังกล่าว จำเลยว่ามีการซื้อในวันดังกล่าวจริง คดีหาได้มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีสิทธิจะนำใบหุ้นที่ซื้อในวันอื่นส่งมอบให้โจทก์แทนได้หรือไม่แต่อย่างใด ดังนั้นในชั้นอุทธรณ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่จำเป็นต้องส่งมอบใบหุ้นที่ซื้อในวันที่ 27 พฤศจิกายน2521 โดยมอบใบหุ้นที่ซื้อในวันอื่นให้โจทก์แทนได้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ตั้งประเด็นและวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

ในประเด็นที่โต้เถียงกันตามที่ศาลชั้นต้นได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา.โจทก์จำเลยมิได้ตกลงท้ากันให้เป็นข้อแพ้ชนะกันในคดี และยังมีประเด็นในข้ออื่นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ศาลจึงพิพากษาคดีให้ผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้แพ้คดีหาได้ไม่

โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การชำระหนี้ไม่ถูกต้องหรือผิดนัดตามสัญญาตัวแทน โจทก์เพียงแต่ฟ้องให้จำเลยคืนเงินค่าหุ้นที่จำเลยคิดเกินไปเท่านั้นโจทก์จึงถือเอาราคาหุ้นในวันที่จำเลยส่งมอบหุ้นให้โจทก์มาเป็นหลักคำนวณว่าจำเลยคิดเงินค่าหุ้นเกินไปหาได้ไม่

แม้จำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าหุ้นที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์ได้มีการซื้อในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 แต่ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ตามฟ้องที่ว่าจำเลยคิดเงินค่าหุ้นจากโจทก์เกินไปซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธนั้น ภาระการพิสูจน์ในข้อนี้ย่อมตกอยู่แก่โจทก์ โดยโจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าหุ้นที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์นั้นได้มีการซื้อในวันที่เท่าใดแน่ และมีราคาซื้อขายกันเท่าใด เพื่อที่ศาลจะได้นำมาเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะตัวแทนของโจทก์คิดเงินค่าหุ้นจากโจทก์เกินไปจริงหรือไม่ และเป็นหลักในการคำนวณว่าได้มีการคิดเงินค่าหุ้นเกินไปเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใดหรือไม่อย่างไรทั้งนี้ เพราะราคาหุ้นแต่ละวันมีการขึ้นลงไม่แน่นอนเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหุ้นที่จำเลยมอบให้โจทก์นั้นเป็นหุ้นที่ซื้อในวันที่เท่าใด และในวันนั้นมีราคาซื้อขายกันเท่าใด ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยคิดเงินค่าหุ้นจากโจทก์เกินไปจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. ,

พนักงานเงินทดแทนมิได้สอบสวนหรือมีคำสั่งในกรณีที่ ป.ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากนายจ้างเกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใด เพราะไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างว่าโจทก์ต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนรายนี้ด้วย โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทนจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายหรือไม่จ่ายเงินทดแทน

« »
ติดต่อเราทาง LINE