คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 24, 72, 73

การมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และการจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เป็นความผิดคนละตอนแยกกันได้จำเลยมีกระสุนปืนจำนวน 51 นัดไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวไปจำนวน 24 นัด ดังนี้เป็นความผิด 2 กรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 288

จำเลยใช้ดุ้นฟืนยาว 1 ศอก ตีศีรษะผู้ตาย 2 ทีจนกะโหลกศีรษะผู้ตายแตกยุบถึงมันสมอง เป็นการตีโดยแรงที่อวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายทันที ดังนี้จำเลยมีเจตนาฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212 - 213/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 443, 1649

สิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 นั้นได้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นทายาท เพราะการปลงศพนั้นเป็นหน้าที่ของทายาทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649 ภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ทายาท จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เอาค่าปลงศพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 152/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 94 ประมวลรัษฎากร ม. 118

เอกสารหมาย ล.2 มีข้อความว่า โจทก์ได้ให้จำเลยเช่าเคหะช่วงล่างตึกสามชั้นตึกเลขที่611/1ถนนเทอดไทตำบลบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ให้อยู่ตลอดชีพ จึงได้ทำสัญญาไว้เป็นหลักฐาน แล้วลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้เช่าเอกสารดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นตราสารตามความหมายในประมวลรัษฎากร คงเป็นเพียงหลักฐานการเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 อย่างหนึ่งเท่านั้น แม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยอ้างว่าจำเลยอาศัย หากทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเช่า ก็ไม่เป็นเหตุยกฟ้องเพราะการอาศัยหรือการเช่าเป็นการกล่าวอ้างถึงมูลเดิมว่าจำเลยเข้าอยู่ในตึกพิพาทได้อย่างไรเท่านั้น ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี ศาลต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทต่อไปหรือไม่

โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าตึกพิพาทตลอดอายุของจำเลย แต่การเช่ารายนี้ไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ฉะนั้น จำเลยจึงมีสิทธิบังคับโจทก์ให้จำเลยเช่าตึกพิพาทได้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยก่อนครบกำหนด 3ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 219, 575

การที่น้ำท่วมบริเวณโรงงานแต่มิได้ท่วมตัวโรงงาน จนนายจ้างต้องปิดโรงงาน ประกอบกับลูกจ้างพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเหตุขัดขวางในการที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างและกรณีไม่ถือว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายจ้างยังไม่หลุดพ้นจากการชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74 - 75/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

บุคคลใดจะมีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามคำนิยามของคำว่า 'ลูกจ้าง' ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน บุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายก็อาจเป็นลูกจ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326

ถ้อยคำพูดของจำเลยที่กล่าวถึงโจทก์ต่อบุคคลอื่นว่า 'บักคมเป็นตำรวจหมาๆบ่ฮู้จักอีหยัง ไปบอกมันแน่ถ้ามันเว้าอีกกูสิเอาเรื่อง'เป็นเพียงถ้อยคำพูดไม่สุภาพที่จำเลยกล่าวติเตียนการกระทำของโจทก์เท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นตำรวจเลวหรือไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2525

ประมวลรัษฎากร ม. 79ทวิ (4), 79ตรี (11), 84, 87ทวิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172

โจทก์โอนขายสินค้าที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้า ขณะที่นำเข้าตามมาตรา 79 ตรี (11) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามมูลค่าของสินค้าดังกล่าวในวันโอนขาย ตามมาตรา 79 ทวิ (4) และมาตรา 84 แต่กฎหมายมิได้บัญญัติกฎเกณฑ์ในการคำนวณมูลค่าของสินค้าไว้ คงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 78 ทวิ (6) เพียงว่าให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันโอน เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 7)เรื่องให้ใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อกำหนดมูลค่าของสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรเป็นรายรับ (ราคาซี.ไอ.เอฟ.บวกด้วยค่าอากรขาเข้าและกำไรมาตรฐาน) มาใช้เทียบเคียงในการคำนวณมูลค่าสินค้าของโจทก์โดยเอาราคาซี.ไอ.เอฟ.บวกด้วยค่าอากรขาเข้า แล้วหักค่าเสื่อมราคาให้ได้ผลลัพธ์เท่าใดถือเป็นมูลค่าของสินค้าหรือราคาตลาดของสินค้าในวันโอนแต่ไม่ได้เอากำไรมาตรฐานบวกเข้าไปด้วยการที่ไม่ได้เอากำไรมาตรฐานบวกเข้าด้วยนั้น ทำให้มูลค่าของสินค้าของโจทก์ถูกลง การคำนวณภาษีย่อมลดลงไปด้วยซึ่งเป็นผลดีแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้ รับความเสียหายเพราะเหตุนี้ ดังนั้น โจทก์จะอ้างว่าการประเมินไม่ชอบเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้

ปัญหาว่าศาลควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นคนละกรณีกับปัญหาตามที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่อ้างว่าประเมินโดยไม่ชอบดังนั้น ถ้าโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มด้วยโจทก์ก็ชอบที่จะมีคำขอมาท้ายฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ได้มีคำขอในข้อนี้มาด้วยศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้อง เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209 - 210/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

การแย่งการครอบครองที่ดินที่มี น.ส.3 ก. แม้ผู้ถูกแย่งการครอบครองจะหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้วก็ตามผู้ถูกแย่งการครอบครองก็ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องจดทะเบียนแบ่งแยกให้ จึงฟ้องบังคับขอให้ผู้ถูกแย่งการครอบครองจดทะเบียนให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. , พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 90, 177

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 หมวด 5 ค่าชดเชย มิได้ห้ามการหักกลบลบหนี้ไว้ ดังนั้น นายจ้างย่อมมีสิทธิหักค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่ลูกจ้างยืมไปจากนายจ้างได้

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำผิดระเบียบของนายจ้าง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง

เมื่อการกระทำของลูกจ้างมิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่ร้ายแรง นายจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง

คำให้การแก้ฟ้องแย้งโจทก์ต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้มิได้ปฏิเสธหนี้เงินกู้แต่ประการใด ดังนี้ จำเลยจะส่งสำเนากู้ยืมให้โจทก์หรือไม่ก็ฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยตามสัญญากู้ที่จำเลยฟ้องแย้ง

« »
ติดต่อเราทาง LINE