คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 7 วรรคสอง, 158 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 5
แม้มาตรา5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จะบัญญัติให้คัดสำเนาประกาศปิดตามสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องก็เป็นเพียงกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในการประกาศเท่านั้นหาใช่บทบัญญัติอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่จึงไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องมาด้วย หากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งจะใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ก็ชอบที่จะยกขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นแต่จำเลยมิได้ต่อสู้เช่นนั้นคงต่อสู้ว่าจำเลยมีบานประตูไม้สักไว้ในความครอบครองโดยชอบ ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าบานประตูไม้สักเป็นเครื่องใช้ซึ่งอยู่ในข่ายควบคุมประกาศดังกล่าว จำเลยมิได้หลงต่อสู้ประการใด ฟ้องของโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่
บานประตูไม้สักมีสภาพเป็นเครื่องใช้ แม้จะเหลือจากการรับเหมาก่อสร้างก็ยังคงมีสภาพเป็นเครื่องใช้อยู่เช่นเดิม
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าประเภทรับเหมาก่อสร้างแม้จะมีบานประตูไม้สักไว้ใช้ในการรับเหมาก่อสร้าง ก็เป็นการมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้าเช่นเดียวกัน หาจำเป็นต้องมีไว้เพื่อขายโดยตรงไม่
จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ซึ่งมีบานประตูไม้สักไว้ในครอบครองเพื่อการค้าจำเลยในฐานะผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ลงมือกระทำการย่อมจะต้องรับผิดในทางอาญาด้วย คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในฐานะตัวการผู้ร่วมกระทำผิดมิได้ลงโทษจำคุกในฐานะที่เป็นผู้แทนนิติบุคคล จึงไม่ขัดกับมาตรา 7 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2525
ประมวลรัษฎากร ม. 78,
ประมวลรัษฎากรมาตรา78 และบัญชีอัตราภาษีการค้าลำดับที่12 ถือว่าการประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์อย่างหนึ่ง
แม้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์จะให้ลูกค้ากู้ยืมเงินโดยจำกัดตัวบุคคลผู้กู้ และมีเงื่อนไขในการกู้ว่า ต้องนำเงินกู้นั้นไปปฏิบัติตามโครงการส่งเสริมการค้าของโจทก์ก็ตาม ก็ย่อมไม่พ้นจากการประกอบธุรกิจในการให้กู้ยืมเงิน เพราะถึงอย่างไรโจทก์ก็ยังต้องการดอกเบี้ยจากผู้กู้อยู่นั่นเองเมื่อการให้กู้ยืมเงินของโจทก์เป็นการประกอบกิจการโดยปกติในทางการค้าของโจทก์ จึงถือเป็นกิจการของผู้ที่ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ2.5 ของค่าดอกเบี้ยที่ได้รับ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2525)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 195, 226, 228, 491, 1316, 1317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
จำเลยขายฝากเรือนเลขที่ 126 ขนาดกว้าง 8 ศอก ยาว 3วาให้โจทก์ ต่อมาระหว่างอายุสัญญาจำเลยรื้อเรือนดังกล่าวแล้วสร้างขึ้นใหม่กว้าง 3 วา ยาว 4 วาโดยใช้ไม้ของเรือนหลังเดิมบางส่วน และใช้บ้านเลขที่ 126 ตามเดิมดังนี้ถือได้ว่าเรือนหลังเดิมซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญาขายฝากและเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้สิ้นสภาพไปแล้วเรือนหลังใหม่คือเรือนพิพาทย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับของสัญญาขายฝากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากเรือนพิพาท คงมีอำนาจที่จะว่ากล่าวแก่จำเลยในกรณีที่จำเลยรื้อเรือนหลังเดิมอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาขายฝากเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208 วรรคสอง
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยสรุปใจความได้ว่า จำเลยไม่เคยร่วมออกเงินปลูกสร้างตึกลงในที่ดินที่เช่า ความจริงจำเลยว่าจ้างโจทก์สร้างบ้านให้จำเลยและจำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์เช่าบ้านสัญญาเช่าท้ายฟ้องเกิดจากจำเลยถูกโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงว่าโจทก์จะนำไปใช้แสดงต่อบุคคลภายนอกเพื่อให้เชื่อถือ โดยจำเลยมิได้รับเงิน 10,000 บาทตามสัญญา สัญญาเกิดจากการแสดงเจตนาลวง เป็นโมฆะ ถ้าจำเลยได้เข้ามาต่อสู้คดีก็มีทางชนะคดีได้ ข้อความดังกล่าวจึงเป็นข้อที่คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นโดยยกเหตุผลขึ้นประกอบโดยละเอียดและชัดแจ้งซึ่งถ้าจำเลยนำสืบฟังได้เช่นนั้น จำเลยย่อมชนะคดีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193, 1375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
จำเลยยกที่ดินมือเปล่าให้โจทก์เป็นการชำระหนี้แต่ยังคงปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินเป็นส่วนสัด ต่อมามีกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นของตนดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองที่ดินส่วนนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 วรรคสอง
กำหนดเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 วรรคสอง ไม่ใช่อายุความแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506 - 508/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 432, 867
โจทก์ฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นคนขับรถฝ่ายหนึ่งรับผิดฐานละเมิดแม้เหตุที่รถชนกันจะเกิดจากความประมาทร่วมของคนขับรถทั้งสองฝ่ายเมื่อโจทก์มิได้มีส่วนร่วมในความประมาทนั้นด้วย จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มตามจำนวนความเสียหาย มิใช่รับผิดเพียงกึ่งหนึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ว่า '50,000 บาท ต่อหนึ่งคน 50,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง' มีความหมายว่าถ้าบุคคลภายนอกได้รับความเสียหายหลายคนก็ต้องเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนกันไปในจำนวนเงิน 50,000 บาทเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501 - 503/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 264, 268
จำเลยปลอมใบสมัครสมาชิกประเภทสวัสดิการสงเคราะห์หนังสือรับรองวันมรณะ สำเนาใบมรณะ สำเนาทะเบียนบ้านและใช้เอกสารปลอมเหล่านั้น ก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการหลอกลวงบริษัทประกันชีวิต เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่จำเลยปลอมไปจนถึงวันที่ใช้เอกสารปลอมฉบับสุดท้ายเพื่อรับเงินจากบริษัท ไม่ว่าจะใช้เอกสารปลอมพร้อมกันครั้งเดียวหรือใช้คนละครั้ง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2525
พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 4, 13, 62, 89 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 193 ทวิ
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518ได้นิยามคำว่าขายให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วยดังนั้นในทางกลับกันมีไว้เพื่อขายก็คือขาย
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยบังอาจมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อขายแก่ผู้อื่นอันเป็นการขายโดยมิได้รับอนุญาตและคำขอท้ายฟ้องระบุมาตรา 13 กับมาตรา 62 มาด้วยนั้นเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเพียงกระทงเดียว คือฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย ในการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดไปว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่สำหรับความผิดฐานมีแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งถือได้ว่าเป็นการขายมีอัตราโทษตามมาตรา 89 ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่มีเขตติดต่อกันจำเลยคัดค้านการรังวัดสอบเขตโดยมิชอบ จำเลยให้การว่าสามีจำเลยซื้อที่ดินมาจากบุคคลภายนอกด้านที่ติดกับที่ดินโจทก์มีรั้วพู่ระหงตลอดแนวสามีจำเลยและจำเลยได้ครอบครองที่ดินตามแนวรั้วต้นพู่ระหงอย่างสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยเห็นว่าโจทก์ชี้เขตที่ดินรุกล้ำที่ดินที่จำเลยครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์แล้วจึงไม่ยอมรับรองดังนี้ คำให้การของจำเลยมิได้ยืนยันว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของจำเลยแต่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินถึงแนวรั้วต้นพู่ระหงจนได้กรรมสิทธิ์แล้วแม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นไว้แต่เพียงว่าจำเลยขัดขวางไม่ยอมรับรองเขตที่ดินของโจทก์โดยมิชอบหรือไม่แต่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก็ต้องวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังได้หรือไม่หากจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองจริงการที่จำเลยไม่รับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ซึ่งรังวัดรวมเอาที่พิพาทไว้ด้วยจะถือว่าจำเลยใช้สิทธิโดยมิชอบหาได้ไม่ จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเรื่องการครอบครองที่ดินตามข้อต่อสู้ของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 564 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 224
คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากบ้านเช่าอันมีค่าเช่าเดือนละ 600 บาท แม้โจทก์จะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเดือนละ 3,000 บาท แต่ก็เป็นค่าเสียหายในอนาคตอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงมาก็เป็นการมิชอบ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงนั้นได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ให้เช่าเมื่อจำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 564