คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2525
พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 ม. 8, 10, 17, 23, 24, 30, 40, 43, 45 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33
จำเลยมีน้ำตาลทรายปริมาณเกิน 1,000 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยมิได้ยื่นคำขอและรับอนุญาตจากเลขาธิการหรือประธานกรรมการส่วนจังหวัด อันเป็นการฝ่าฝืน ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฯลฯแต่น้ำตาลทรายดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 มาตรา 40 เป็นเรื่องให้อำนาจศาลอันเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับ และเงินรางวัลแก่ผู้จับ จาก เงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลมีคำสั่งริบไว้แล้ว จึงมิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลสั่งริบของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 856, 859
ตามระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันของธนาคารโจทก์มีว่าถ้าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่ายตามเช็ค เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คนั้นให้ไปจำเลยย่อมเป็นอันผูกพันตนที่จะจ่ายเงินสวนที่เกินคืนให้ธนาคารโจทก์เสมือนหนึ่งได้ขอร้องให้เบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่ธนาคารธนาคารโจทก์จะคิดดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชีเป็นรายวัน(ดอกเบี้ยทบต้น)และจะนำผลดอกเบี้ยนั้นหักบัญชีเป็นรายเดือนจำเลยฝากเงินกระแสรายวันแก่ธนาคารโจทก์โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ได้โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นย่อมถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี
การที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีและเบิกเงินอยู่เรื่อย ๆโดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้งและยอมเสียดอกเบี้ยทบต้น ตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารดังนี้ เข้าลักษณะ สัญญาบัญชีเดินสะพัด แม้หลังจากจำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเบิกเงินครั้งสุดท้ายแล้วบัญชีของจำเลยได้หยุดเดินสะพัดโดยจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากธนาคารโจทก์ อีกเลยจนถึงวันฟ้องจะเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วก็ตามกรณีก็ต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยเรื่องบัญชีเดินสะพัดมาปรับซึ่งการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของ สัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินที่คงเหลือเมื่อไม่ปรากฏว่าการ เบิกเงินเกินบัญชีนี้ได้ตกลงกันชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใดสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อ มีการหักทอนบัญชีกันและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856,859
ธนาคารโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 5 มีนาคม2519 ไปยังจำเลยให้จัดการชำระเงินตามยอดเงินในบัญชีเงินฝากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2518 ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถามพ้นกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน 2519 จำเลยทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้และไม่ชำระหนี้ดังนี้ถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
(วรรคสามวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 198 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 69
จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์และศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้แล้วต่อมา เมื่อล่วงเลยกำหนดอายุอุทธรณ์ จำเลยจึงยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมอุทธรณ์อีกฉบับหนึ่งซึ่งมีลักษณะและเนื้อหาเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้แล้วถือเท่ากับเป็นการยื่นอุทธรณ์นั่นเองซึ่งจะต้องกระทำภายในกำหนด 15 วันศาลไม่รับเป็นเพิ่มเติมอุทธรณ์แต่ให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์
ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองกับความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2525
ประมวลรัษฎากร ม. 5, 140 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2, 78, 120
เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรซึ่งมีเฉพาะแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกรมสรรพากร ร้องขอเท่านั้น หาได้มีข้อยกเว้นให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับในกรณีความผิดซึ่งหน้าแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรมิได้มีคำขอให้ดำเนินคดีแต่อย่างใดเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีการสอบสวนที่ได้กระทำไปจึงไม่ชอบพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2525)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 288, 391 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
การที่จำเลยกับผู้เสียหายกอดปล้ำฟัดเหวี่ยงพลิกไปพลิกมาเพื่อแย่งมีดกันนั้น อาจเป็นเหตุให้มีดที่แย่งกันซึ่งเป็นมีดปลายแหลมแทงเข้าไปที่สะบักซ้ายด้านหลังของผู้เสียหายโดยจำเลยไม่มีเจตนาแทงได้ กรณีไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยเหตุที่เกิดขึ้นผู้เสียหายเป็นฝ่ายที่ ท้าจำเลยให้ต่อยกันก่อน มีดที่แย่งกันก็เป็นมีดของผู้เสียหายที่ผู้เสียหายหยิบขึ้นมาเพื่อใช้แทงจำเลยก่อนฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยชกต่อยผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.391 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2525
ประมวลรัษฎากร ม. 78, 89, 89 ทวิ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นและลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2511 ม. 4 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 43) พ.ศ.2516 ม. 9 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 ม. 3 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีการค้า (ฉบับที่ 57) พ.ศ.2518 ม. 3
การที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ฯ(ฉบับที่ 28)พ.ศ.2511 และ (ฉบับที่ 57) พ.ศ.2518 นำคำว่า'นอกจากมันเนย' ไปต่อท้ายคำว่า'เนย' แสดงว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามประมวลรัษฎากรถือว่า 'เนย' มีความหมายถึง'มันเนย' ด้วย จึงกำหนดข้อยกเว้นไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ประสงค์จะเก็บภาษีการค้าสำหรับมันเนยในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายรับฉะนั้นโจทก์นำสินค้ามันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่43) พ.ศ.2516 ซึ่งไม่ได้กำหนดยกเว้นสำหรับสินค้ามันเนยไว้บังคับโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ 7 ของรายรับ
โจทก์ผู้นำเข้ามีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องยื่นแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์ยื่นแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีไม่ถูกต้องหรือผิดพลาด ทำให้จำนวนที่ต้องเสียภาษีคลาดเคลื่อน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจเรียก ให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89,89 ทวิ
การที่โจทก์เสียภาษีนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าแล้วมิได้หมายความว่าโจทก์ได้ชำระภาษีการค้าตามใบแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินในภายหลังว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง โจทก์ก็หาพ้นจากหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1377
สัญญามีข้อความระบุว่า โจทก์ขายฝากที่นาพิพาทแก่จำเลยมีกำหนดไถ่ 1 ปี ถ้าไม่ไถ่ถอนตามกำหนด โจทก์ยอมมอบที่นาให้จำเลยถือครองกรรมสิทธิ์ต่อไป และจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้ต่อไปในภายหลังดังนี้ ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองของโจทก์ในเมื่อโจทก์ไม่ไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนดสิทธิครอบครองที่นาพิพาทของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. ม.1377
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1339 วรรคหนึ่ง, 1340
น้ำใช้แล้วหรือน้ำโสโครกไม่อยู่ในความหมายของน้ำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339,1340 ซึ่งหมายความเฉพาะน้ำตามธรรมชาติ เช่นน้ำฝนเป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 420, 422, 429, 438, 442 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 ม. 16, 30
ว. บุตรผู้เยาว์ของจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทชนรถยนต์โดยสารโจทก์ซึ่งลูกจ้างของโจทก์ขับสวนทางมารถยนต์โดยสารทับรถจักรยานยนต์ ว. พาครูดไปตามถนนจนเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่รถจักรยานยนต์ ลูกจ้างของโจทก์มีโอกาสจะขับรถถอยหลังออกไปให้พ้นจากรถจักรยานยนต์ได้ แต่ไม่กระทำกลับทิ้งรถหลบหนีไป จนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไปไหม้รถโดยสารโจทก์เสียหาย ดังนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายของรถโจทก์ถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วยและเป็นฝ่ายที่ก่อให้ความเสียหายเกิดขึ้นยิ่งกว่าฝ่ายจำเลย ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับทั้งหมด จึงให้ตกเป็นพับแก่โจทก์
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุลูกจ้างของโจทก์จะขับรถโดยสารอยู่ในช่องทางเดินรถช่องที่ 3 อันเป็นการปฏิบัติผิดต่อกฎข้อบังคับในการจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477ที่บังคับให้รถยนต์โดยสารประจำทางวิ่งในช่องทางเดินรถช่องที่ 1 หรือช่องทางด้านซ้ายสุด แต่การปะทะกันของรถทั้งสองคันก็หาใช่ผลโดยตรงที่เกิดจากการขับรถผิดต่อกฎข้อบังคับในการจราจรของลูกจ้างโจทก์ไม่ หากแต่เป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของ ว. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา4 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ใช้แก่ศาลทั่วไป แต่สำหรับอำนาจของศาลแพ่งนั้นยังมีอำนาจที่จะพิจารณา พิพากษาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลแพ่งด้วยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม.14(4) คดีที่เกิดนอกเขตศาลแพ่งและจำเลยมีภูมิลำเนานอกเขตศาลแพ่ง เมื่อศาลแพ่งรับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จ ดังนี้แสดงว่า ศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม.14(4) แล้ว