คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
เงินช่วยเหลือค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515
การที่ลูกจ้างขอลาออกจากงานก่อนครบเกษียณอายุ 2 เดือนมิใช่การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน นายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267 - 268/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 41
เมื่อปรากฏว่าค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ ในกรณีเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแยกเป็นค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน 6 เดือน ค่าที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1 เดือน และค่าเสียหายเท่ากับระยะเวลาที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาคำร้องอีก 3เดือน ประกอบกับตามใบรับเช็คที่โจทก์เซ็นรับก็ระบุว่า โจทก์ยอมรับว่าในค่าเสียหายนั้นมีเงินค่าชดเชยและเงินค่าสินจ้างเนื่องจากเลิกจ้างรวมอยู่ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยไปถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2525
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 135 (3)
ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้บางรายได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ไปสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้หมดสิ้นไป สำหรับเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้รายที่ไม่มีข้อโต้แย้ง ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รับไปครบถ้วนแล้ว ส่วนรายที่ลูกหนี้ยังมีข้อโต้แย้งปฏิเสธความรับผิดอยู่ ลูกหนี้ก็ได้ทำสัญญาและจัดให้มีธนาคารมาค้ำประกันไว้ต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เจ้าหนี้เต็มจำนวน พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ผู้ล้มละลายจะต้องรับผิดตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว กรณีถือได้ว่าหนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยลงโทษปรับจำเลย 2,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปีนั้น คู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255 - 256/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 173, 177 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 87
ฟ้องของโจทก์จะถูกต้องสมบูรณ์หรือเคลือบคลุมนั้น อยู่ที่ตัวฟ้องของโจทก์การที่จำเลยจะได้รับสำเนาฟ้องครบถ้วนหรือไม่หาทำให้ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์กลายเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไปไม่
การกระทำโดยสหภาพแรงงานกับการกระทำโดยกรรมการสหภาพแรงงานนั้นไม่เหมือนกัน เพราะการกระทำโดยสหภาพแรงงานอาจเป็นการกระทำโดยมติของกรรมการอันมีเสียงข้างมากตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบโดยที่กรรมการบางคนอาจไม่เห็นด้วย และคัดค้านการกระทำของสหภาพแรงงานนั้นก็เป็นได้ฉะนั้นการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างนั้น เป็นความรับผิดชอบของกรรมการผู้กระทำแต่ละคนไป ผู้ใดมิได้ร่วมกระทำด้วยก็หาต้องรับผิดชอบแต่ประการใดไม่
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนวันและเป็นเงินตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการวันเริ่มเข้าทำงาน อัตราค่าจ้าง และรายได้อื่น ๆ ของโจทก์ซึ่งบางรายการก็ตรงกับบัญชีของโจทก์อันเป็นการรับรองว่าถูกต้องบางรายการก็ไม่ตรงหรือไม่มี เท่ากับปฏิเสธว่าไม่ถูกต้อง สำหรับรายการเงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยมิได้ระบุไว้ในบัญชี คงกล่าวไว้ในคำร้องที่ส่งบัญชีต่อศาลอันถือเป็นคำให้การว่านอกเหนือจากนั้นถือว่าปฏิเสธความถูกต้องทั้งสิ้น เพราะยังคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิเสธจำนวนวันและเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2525
พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 ม. 3 (3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
คดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องในข้อหาคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่รับอนุญาต ได้ถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้กำเนิดในราชอาณาจักรไทย โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทย เช่นนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแพ่งขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งเพิกถอนสัญชาติไทยของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 240/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 205, 386, 572
สัญญาเช่าซื้อระบุว่า เมื่อผู้เช่าซื้อชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วผู้ให้เช่าซื้อจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้เช่าซื้อทันที หากบิดพลิ้วให้ปรับเป็นสองเท่า ดังนี้ เมื่อโจทก์ชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้วจำเลยไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ทันทีได้ จึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเบี้ยปรับได้ ข้ออ้างที่ว่าทางราชการแบ่งแยกที่ดินไม่เสร็จจึงไม่สามารถโอนให้โจทก์ได้นั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยขอแบ่งแยกที่ดินหลังจากโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว เช่นนี้ ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างให้ตนพ้นความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1473 ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ม. 1477, 7
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในระยะเริ่มแรกที่ประกาศใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ โดยให้คู่สมรสฝ่ายที่มีอำนาจจัดการสินบริคณห์อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมคงมีอำนาจจัดการต่อไป ไม่ขัดต่อหลักการชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1477บัญญัติว่า อำนาจจัดการสินสมรสรวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ดังนั้น ที่ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ใช้คำว่าอำนาจจัดการก็ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจ จำหน่ายด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยที่1(สามี) ได้รับมรดกจากบิดา ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ (ภรรยา)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223 - 235/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391, 577 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์จากจำเลยร่วมโดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 ตกลงรับช่วงจ้างคนงานจากจำเลยร่วมให้ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป ลูกจ้างของจำเลยร่วมจึงเปลี่ยนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับลูกจ้างจึงเป็นอันระงับ อันเป็นกรณีนายจ้างเดิมโอนสิทธิของตนให้แก่นายจ้างใหม่ โดยความยินยอมของลูกจ้าง เพราะลูกจ้างได้ทำงานให้แก่จำเลยที่1 จนถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลาสองเดือนเศษดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า และแม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้เลิกสัญญากับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลทำให้หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกจ้างต้องเปลี่ยนแปลงไป