คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255 - 256/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 173, 177 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 87
ฟ้องของโจทก์จะถูกต้องสมบูรณ์หรือเคลือบคลุมนั้น อยู่ที่ตัวฟ้องของโจทก์การที่จำเลยจะได้รับสำเนาฟ้องครบถ้วนหรือไม่หาทำให้ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์กลายเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไปไม่
การกระทำโดยสหภาพแรงงานกับการกระทำโดยกรรมการสหภาพแรงงานนั้นไม่เหมือนกัน เพราะการกระทำโดยสหภาพแรงงานอาจเป็นการกระทำโดยมติของกรรมการอันมีเสียงข้างมากตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบโดยที่กรรมการบางคนอาจไม่เห็นด้วย และคัดค้านการกระทำของสหภาพแรงงานนั้นก็เป็นได้ฉะนั้นการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างนั้น เป็นความรับผิดชอบของกรรมการผู้กระทำแต่ละคนไป ผู้ใดมิได้ร่วมกระทำด้วยก็หาต้องรับผิดชอบแต่ประการใดไม่
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนวันและเป็นเงินตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการวันเริ่มเข้าทำงาน อัตราค่าจ้าง และรายได้อื่น ๆ ของโจทก์ซึ่งบางรายการก็ตรงกับบัญชีของโจทก์อันเป็นการรับรองว่าถูกต้องบางรายการก็ไม่ตรงหรือไม่มี เท่ากับปฏิเสธว่าไม่ถูกต้อง สำหรับรายการเงินค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยมิได้ระบุไว้ในบัญชี คงกล่าวไว้ในคำร้องที่ส่งบัญชีต่อศาลอันถือเป็นคำให้การว่านอกเหนือจากนั้นถือว่าปฏิเสธความถูกต้องทั้งสิ้น เพราะยังคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิเสธจำนวนวันและเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2525
พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 ม. 3 (3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
คดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องในข้อหาคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่รับอนุญาต ได้ถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้กำเนิดในราชอาณาจักรไทย โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทย เช่นนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแพ่งขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งเพิกถอนสัญชาติไทยของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 240/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 205, 386, 572
สัญญาเช่าซื้อระบุว่า เมื่อผู้เช่าซื้อชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วผู้ให้เช่าซื้อจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้เช่าซื้อทันที หากบิดพลิ้วให้ปรับเป็นสองเท่า ดังนี้ เมื่อโจทก์ชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้วจำเลยไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ทันทีได้ จึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเบี้ยปรับได้ ข้ออ้างที่ว่าทางราชการแบ่งแยกที่ดินไม่เสร็จจึงไม่สามารถโอนให้โจทก์ได้นั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยขอแบ่งแยกที่ดินหลังจากโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว เช่นนี้ ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างให้ตนพ้นความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1473 ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ม. 1477, 7
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในระยะเริ่มแรกที่ประกาศใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ โดยให้คู่สมรสฝ่ายที่มีอำนาจจัดการสินบริคณห์อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมคงมีอำนาจจัดการต่อไป ไม่ขัดต่อหลักการชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1477บัญญัติว่า อำนาจจัดการสินสมรสรวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ดังนั้น ที่ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ใช้คำว่าอำนาจจัดการก็ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจ จำหน่ายด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยที่1(สามี) ได้รับมรดกจากบิดา ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ (ภรรยา)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223 - 235/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391, 577 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์จากจำเลยร่วมโดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 ตกลงรับช่วงจ้างคนงานจากจำเลยร่วมให้ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป ลูกจ้างของจำเลยร่วมจึงเปลี่ยนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับลูกจ้างจึงเป็นอันระงับ อันเป็นกรณีนายจ้างเดิมโอนสิทธิของตนให้แก่นายจ้างใหม่ โดยความยินยอมของลูกจ้าง เพราะลูกจ้างได้ทำงานให้แก่จำเลยที่1 จนถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลาสองเดือนเศษดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า และแม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้เลิกสัญญากับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลทำให้หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกจ้างต้องเปลี่ยนแปลงไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538, 987
เช็คและหนังสือรับเช็คมิได้มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นการชำระค่าเช่า ย่อมไม่เป็นหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 406 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 249
การที่จำเลยรับเงินค่าซื้อหุ้นไว้จากสามีโจทก์ เป็นการรับไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ กรณีจึงไม่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืน เป็นเรื่องฟ้องเรียกทรัพย์คืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องอยู่ในบังคับแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีอายุความ 10 ปี
ข้อที่จำเลยให้การไว้ เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อต่อสู้นั้นแล้ว จึงเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 163, 193, 448, 882 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่ยกอายุความเรื่องละเมิดขึ้นต่อสู้ ดังนี้ ศาลจะอ้างอายุความเรื่อง การเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งไม่เป็นประเด็นแห่งคดีมาเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 221 - 222/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 41, 110
หลังจากจำเลยได้เช่ากิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้าพ.มาดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2523. โจทก์ทุกคนซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทอผ้า พ. ได้ทำงานกับจำเลยต่อมาและจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้ตามปกติแสดงว่าโจทก์ตกลงทำงานให้กับจำเลย จำเลยตกลงให้ค่าจ้างแก่โจทก์ เท่ากับจำเลยยอมรับโจทก์เป็นลูกจ้างและโจทก์ยอมรับจำเลยเป็นนายจ้าง ถือได้ว่าการปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นลูกจ้างนายจ้างกันตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" และ "นายจ้าง" ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2523 จำเลยไม่อาจตั้งเงื่อนไขให้โจทก์สมัครงานใหม่กับจำเลยได้
การที่จำเลยปิดโรงงาน 30 วัน โดยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงาน ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46
การขอเลื่อนคดีหลายครั้งโดยไม่มีเหตุสมควร ถือว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้าศาลชอบที่จะงดสืบพยานฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีนั้นเสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2525
พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 72 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงคือกระทำความผิด ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่กรรมหนึ่ง และกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรโดยพยายามลักลอบนำโลหะรูปกวางและอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนออกนอกราชอาณาจักรอีกกรรมหนึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป