กฎหมายฎีกา ปี 2537
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6136/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 113 เดิม ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 86, 113
ซ. สามีของจำเลยเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากอ.แต่ให้ส. เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่าง ซ.กับอ.และนิติกรรมการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทของ ส.แทนซ.จึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 และมาตรา 113 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150ที่แก้ไขใหม่)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 69, 75 ประมวลรัษฎากร ม. 3 เตรส กฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ.2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร
เมื่อโจทก์จดทะเบียนและเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานข้าวโพดแล้ว โจทก์จะมาอ้างว่ากรรมการของโจทก์ไปจดทะเบียนนอกเหนือวัตถุประสงค์ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ไม่ได้ โจทก์ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในเงินที่จ่ายซื้อข้าวโพดให้ผู้ขายเพื่อนำส่งจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248 วรรคหนึ่ง
ทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นทรัพย์ที่พิพาทกันมาในศาลชั้นต้นซึ่งคู่ความตกลงกันว่ามีราคา 90,000 บาท ปัญหาเรื่องราคาทรัพย์ที่พิพาทจึงยุติตามที่ตกลงกัน โดยไม่อาจขอให้กำหนดราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันใหม่ให้มีจำนวนเกินกว่า 200,000 บาท เพื่อให้มีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริงได้อีก คดีนี้จึงเป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)
บรรยายฟ้องคดีอาญาฐานลักทรัพย์ว่าเหตุเกิดระหว่างต้นเดือนมีนาคม 2534 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดเป็นฟ้องที่บอกวันเวลาตามที่สามารถจะบอกให้จำเลยเข้าใจดีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกออกโฉนดใหม่ให้แก่ อ. ซึ่งเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์บางส่วนในที่ดินมีโฉนดมาโดยการครอบครอง แต่คำขอท้ายฎีกาของผู้ร้องกลับขอให้ศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในอีกคดีหนึ่งที่สั่งอายัดที่ดินดังกล่าวเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์บางส่วนในที่ดินโดยการครอบครองให้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของ อ. ต่อไป จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจบังคับให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 234
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2535 ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ปรากฏว่า เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้นำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางไว้ต่อศาลแล้ว ส่วนเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ ก็ปรากฏว่าจำเลยได้นำเงินมาวางเป็นประกันไว้ต่อศาลแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 โดยเป็นการวางเงินตามคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งสั่งตามคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2535 จึงถือได้ว่าจำเลยได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 แล้ว ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 674, 675, 976
คำว่า เจ้าสำนักโรงแรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 674,675 หมายถึงเจ้าของกิจการโรงแรม ผู้ถือกรรมสิทธิ์เก็บผลประโยชน์รายได้จากกิจการโรงแรม หาใช่บุคคลผู้ควบคุมและจัดการโรงแรมซึ่งเป็นตัวแทนไม่ โจทก์เข้าพักในโรงแรมของจำเลยที่ 1 เมื่อรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าไปจอดที่ลาดจอดรถของโรงแรมหายไป โจทก์ได้แจ้งต่อผู้จัดการโรงแรมทันที ที่ทราบเหตุการณ์ ย่อมถือได้ว่า โจทก์แจ้งเหตุที่รถยนต์หายแก่เจ้าสำนักโรงแรมทันทีแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างให้ตนพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารบ้านพัก มีห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1ห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.ได้มอบให้อ. ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างของห้างนำรถยนต์บรรทุกไปใช้ในการก่อสร้างโดยจำเลยที่ 2และ อ. ได้ใช้รถยนต์บรรทุกนั้นร่วมกัน และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็ใช้อยู่ตลอดทั้งวันน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้รถยนต์บรรทุกนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่โจทก์ขับสวนมาได้รับความเสียหาย โดยจุดชนห่างจากสถานที่ก่อสร้างประมาณ 30 เมตร และเป็นเวลาหลังจากเลิกงานประมาณ1 ชั่วโมง ถือได้ว่าอยู่ในระหว่างเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเอกสารต่าง ๆเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไว้ที่ศาล ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงมีผลผูกพันผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา145 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2), 246, 247
ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 2 นำส่งสำเนาฎีกาให้ผู้ร้องภายใน 7 วัน โดยมีคำสั่งในวันเดียวกับวันที่ผู้คัดค้านที่ 2ยื่นฎีกา จึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งของศาลชั้นต้นถือว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทิ้งฎีกา สำหรับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่กรรมในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาคำสั่งของศาลที่แต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลต่อไปและการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 จะรับมรดกความกันไม่ได้