กฎหมายฎีกา ปี 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 447, 1523 วรรคสอง

ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ม. 14

พระราชบัญญัติ ญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ คำพิพากษาของศาลที่พิพากษาว่าที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นของโจทก์ จึงไม่ถูกต้อง แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์ในที่พิพาทอยู่ก่อน แล้วจำเลยเข้าไปแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 310

แม้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบงานบริหารราชการจังหวัดและมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับราชการอยู่ในจังหวัดและอยู่ในบังคับบัญชารับผิดชอบของโจทก์ที่ 2 แต่เงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยที่ 1 เบิกเอาไปโดยไม่มีสิทธินั้น มิใช่เป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 2 แต่เป็นเงินงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการโจทก์ที่ 1 เมื่อมีการกระทำละเมิดเอาเงินดังกล่าวไป ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงคือโจทก์ที่ 1 ส่วนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 50,51,53 และฉบับที่ 310 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะละเมิดนั้นเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลาง ที่เป็นผู้เสียหายด้วยไม่เมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5209

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5209/2537

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 31, 45 วรรคสอง, 46, 47, 48, 52 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 141, 243

กรรมการลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นกรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 45 วรรคสอง หรือเป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับเลือกตั้งจากลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 46 วรรคสอง ล้วนแต่จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดตามมาตรา 48 ทั้งสิ้น เมื่อลูกจ้างเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบกิจการของจำเลยมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งกรรมการลูกจ้างแล้วโจทก์จึงมิใช่กรรมการลูกจ้างอีกต่อไปและมิได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 52 อีก สหภาพแรงงาน ท. ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้มีการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานดังกล่าวและจำเลย 4 ครั้งแต่ตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงาน ท. จึงแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามมาตรา 22 จนครบ 5 วัน นับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง จนตกเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว ซึ่งสหภาพแรงงานท. และจำเลยอาจดำเนินการต่อไปโดยตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือจำเลยจะปิดงานหรือลูกจ้างของจำเลยจะนัดหยุดงานก็ได้ จำเลยและสหภาพแรงงานหาได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้นไม่ข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานท. แจ้งต่อจำเลยจึงไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาและการไกล่เกลี่ยอีกต่อไป โจทก์จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 31 ในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีสถิติการลามากเป็นพฤติการณ์ที่ส่อชี้ถึงความตั้งใจของโจทก์ว่ามุ่งมั่นที่จะอุทิศตนให้งานเพียงใด และเมื่อจำเลยเตือนให้โจทก์ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นในเรื่องการขาด ลา มาสาย โจทก์ก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวอันเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่ขวนขวายในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และท้ายที่สุดโจทก์ซึ่งไม่ได้รับอนุมัติให้ลาไปสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ก็ยังฝืนไปและไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอีก จำเลยจึงเลิกจ้าง พฤติกรรมดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ใช้เวลาไปทำกิจกรรมหลายประเภทแม้กิจกรรมดังกล่าวบางส่วนจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการและกิจการบางส่วนเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างอื่นบ้าง แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อตัวโจทก์เองด้วยทั้งสิ้น โจทก์มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลย มีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้างโดยสม่ำเสมอ และไม่ละทิ้งการงานไปอันจะทำให้นายจ้างได้รับความยุ่งยากในการดำเนินกิจการ โจทก์อาจไปทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองในขอบเขตและระยะเวลาที่พอเหมาะพอควรโดยการตกลงยินยอมของจำเลยหรือไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของจำเลยเมื่อโจทก์มีจำนวนวันที่ไปทำงานให้แก่จำเลยน้อยย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยต้องเสียหายจากการกระทำของโจทก์จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ไว้เพียงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยแต่อย่างใดเพราะจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานก็ต่อเมื่อพนักงานได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยหรือเสียชีวิตในขณะเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยเท่านั้น หาได้ยกเรื่องที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดขึ้นต่อสู้ด้วยไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำผิดหรือไม่ การที่ศาลแรงงานหยิบยกปัญหานี้ขึ้นเองและวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516 (4), 1518

เหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)จะต้องเป็นเรื่องที่สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยต่างรับราชการและจำเลยมิได้ย้ายตามโจทก์ จึงมีเหตุสมควรในการแยกกันอยู่ จำเลยไม่ได้เดินทางไปหาโจทก์ เนื่องจากโจทก์จำเลยทะเลาะกัน ประกอบกับจำเลยมีเหตุระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ เหตุที่จำเลยทำลายทรัพย์สินและเอาทรัพย์สินไป เนื่องจากโจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันและจำเลยระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้น จำเลยทำไปด้วยความน้อยใจและโกรธจนควบคุมอารมณ์ไม่ได้และโจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยว่าเป็นผู้ทำลายทรัพย์สินและเอาทรัพย์สินไป แสดงว่าโจทก์ให้อภัยจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6071

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6071/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1330 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 85, 86, 87, 104, 177

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3.) ที่ได้มาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยไม่สุจริตและด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมาเช่นนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทและโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทในขณะที่ซื้อทรัพย์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยมีสิทธินำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยในประเด็นเรื่องการครอบครองนั้นไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 173

คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีมูลคดีอย่างเดียวกัน ที่ดินพิพาทเป็นแปลงเดียวกัน และคู่ความทั้งหมดยกเว้นโจทก์ที่ 2 เป็นรายเดียวกัน ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว โดยพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรก โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจึงต้องถูกผูกพันด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2 คดีนี้ถึงแม้คำพิพากษาจะไม่ผูกพันเพราะเป็นบุคคลภายนอก แต่การที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินพิพาทเป็นคุณแก่โจทก์ และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าคำพิพากษาศาลฎีกาจึงใช้ยันแก่โจทก์ที่ 2ได้ ตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันโจทก์ที่ 1 และใช้ยันโจทก์ที่ 2 ได้เช่นนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6052

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6052/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193, 204, 383, 386 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161, 172 วรรคสอง

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงงานที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1ก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตโดยมีสัญญาว่าจ้างพร้อมทั้งรายละเอียดข้อกำหนดการก่อสร้างคลองและรูปคลอง ซึ่งถือว่าแบบรูปและรายละเอียดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาถือไว้คนละฉบับ โจทก์ได้แนบสัญญาว่าจ้างมาท้ายฟ้องด้วย โดยเฉพาะโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยตรงว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาในงวดที่ 3 และที่ 4 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วและได้ว่าจ้างผู้อื่นทำงานส่วนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 3 ย่อมทราบดีถึงขนาดของคลองส่งน้ำที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้าง โจทก์หาต้องบรรยายขนาด กว้าง ยาว ลึกของคลองส่งน้ำมาด้วยไม่ ส่วนงานที่โจทก์ว่าจ้าง พ. ให้ทำงานต่อจากจำเลยที่ 1 มีอะไรบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบและโจทก์ได้รับมอบงานงวดที่ 2 หลังจากสิ้นสุดการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 แล้วก็ตามแต่ในการรับมอบงานงวดที่ 2 นั้น เนื่องจากล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบงานตามที่ขอต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 โจทก์ได้สงวนสิทธิในการคิดเบี้ยปรับและได้หักเบี้ยปรับจากสินจ้างงวดที่ 2 ที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้หลังจากโจทก์ไม่รับมอบงานงวดที่ 3 และที่ 4 เพราะงานไม่เสร็จตามที่จำเลยที่ 1 ขอส่งมอบแล้ว โจทก์ก็ได้มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอีก แสดงว่าโจทก์ยังมีเจตนายึดถือระยะเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาการที่โจทก์มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำงานว่า ถ้าไม่ทำงานภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โจทก์จะบอกเลิกสัญญานั้น เป็นการให้โอกาส จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยังไม่บอกเลิกสัญญาทันทีเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใดโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องและทิ้งงานไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น สัญญาว่าจ้างได้กำหนดว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียเบี้ยปรับหากไม่ทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเท่านั้น หาใช่กำหนดวันที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น วันผิดนัดชำระเบี้ยปรับที่โจทก์จะพึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดทวงถาม โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดน้อยกว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 จึงควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามส่วนที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 859

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงยังคงมีอยู่ต่อมา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงนำเงินตามใบรับเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 และตามสมุดเงินฝากประจำของ ต. ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันมาหักชำระหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2529 เป็นการบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่า โจทก์ได้เลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้จนถึงวันที่14 มีนาคม 2529 อันเป็นวันเลิกสัญญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5853

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5853/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87 (2)

เหตุที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารใบรับเงินให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยาน ก็เนื่องจากโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารดังกล่าว และได้ยื่นบัญชีระบุพยานเข้ามาในระหว่างที่ยังสืบพยานโจทก์ไม่เสร็จ จำเลยย่อมมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวและนำพยานมาสืบหักล้างได้ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเช่นว่านั้น จึงมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2)

« »