กฎหมายฎีกา ปี 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2537

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 339 วรรคสาม, 340 ตรี, 83, 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195, 225

จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกนอกเส้นทางพาผู้เสียหายไปที่เกิดเหตุ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 คอยอยู่แล้วปล่อยให้ผู้เสียหายอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่คอยช่วยเหลือจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ถือว่าเป็นตัวการร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหาย เป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534 ม. 18

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 290,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2ฎีกาว่า ป. มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 จึงรับผิดไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นการโต้แย้งในข้อเท็จจริงและจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาศาลฎีกาก็วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1627 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161

การรับรองบุตรนอกกฎหมายจะต้องกระทำโดยบุคคลผู้เป็นบิดาเมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาไม่ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้คัดค้านหรือมอบหมายให้ผู้ใดอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้คัดค้านแทน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของตนโดยพฤตินัย ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทที่มีสิทธิในมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ศาลฎีกาย่อมเห็นสมควรแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 193 วรรคสอง, 216, 225

จำเลยที่ 2 กล่าวในฎีกาว่า "ขอยื่นฎีกาต่อศาล เนื่องจากจำเลยมิได้กระทำผิดในคดีนี้แต่ประการใด ถึงแม้ในการต่อสู้คดีของจำเลยนั้น พยานและคำให้การของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ก็ตาม แต่จำเลยก็ขอยืนยันคำให้การเดิมที่ได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์" โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ประสงค์จะยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาแต่อย่างใด ทั้งมิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้ไม่ถูกต้องในข้อใดอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 2 เช่นนี้ไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 216

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 193 ทวิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไถดินบนทางพิพาทอันเป็นทางสาธารณะ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยไถคันดินและโค่นต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไถทางและต้นไม้เข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2537

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362

จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ราชพัสดุอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมตำรวจ แต่กรมตำรวจมิได้มีการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไม่มีประกาศในที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ราษฎรทราบโดยเปิดเผยว่าเป็นที่ส่วนของทางราชการ จำเลยเข้าใจว่าไม่ใช่ที่สงวนหวงห้ามจึงได้ซื้อและเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มาตลอดก็ไม่มีเจ้าพนักงานผู้ใดทักท้วงหวงห้าม นอกจากจำเลยแล้วยังมีราษฎรอื่นอีกหลายรายยึดถือครอบครองเช่นกัน เมื่อมีการห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่เกิดเหตุ จำเลยก็ไม่ยอมพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยหลงเข้าใจโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะเข้าถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดอาญาฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 305, 315 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 83

การอายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 มิได้บัญญัติถึงผลของการอายัดโดยชัดแจ้งว่า หากมีการโอนที่ดินไปยังบุคคลภายนอกในระหว่างอายัดแล้ว นิติกรรมการโอนไม่มีผลบังคับดังเช่นผลการอายัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นนิติกรรมการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขณะที่มีคำขออายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นนิติกรรมการโอนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และทำให้นิติกรรมการโอนเสียไปและไม่มีผลผูกพัน เพราะถ้าผู้รับโอนได้รับโอนโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบแล้วนิติกรรมการโอนดังกล่าวย่อมสมบูรณ์มีผลผูกพันกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6815

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6815/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537 พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8

ในสัญญาเช่าไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่าและไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่า ส่วนที่มีการตกลงให้ชำระค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกปี ก็เป็นเพียงวิธีตกลงกันให้ชำระค่าเช่าอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้ในการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินระยะยาวตามปกติธรรมดาทั่วไป ไม่มีลักษณะเป็นการตกลงซื้อและไม่มีความเกี่ยวพันกับราคาซื้อทรัพย์ที่เช่าแต่อย่างใด ส่วนที่มีข้อตกลงจะขายทรัพย์ที่เช่าให้ผู้เช่าก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าหากผู้เช่าประสงค์จะซื้อในอนาคตโดยเสนอราคาจะขายไว้ล่วงหน้าเท่านั้นดังนั้น สัญญาเช่าฉบับนี้จึงเป็นสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 จำเลยทั้งสองจึงนำค่าเช่าตามสัญญาดังกล่าวมาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 ได้ ที่ดินที่โจทก์ให้เช่าตามฟ้องตั้งอยู่คนละเขตกับที่ดินอีก 4 แปลง ที่โจทก์นำค่ารายปีมาเปรียบเทียบ และนอกจากจะเป็นที่ดินที่ไม่ได้อยู่ใกล้เคียงกันแล้วที่ดินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่เจ้าของที่ดินใช้ประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการคนละประเภทกับของโจทก์ ทั้งที่ดินของโจทก์ตามฟ้องเป็นที่ดินให้เช่าโดยกำหนดค่าเช่าไว้ในสัญญาเช่าเป็นการแน่นอน ในเมื่อไม่มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าที่กำหนดไว้มิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ การที่จำเลยที่ 1กำหนดค่ารายปีโดยถือค่าเช่าเป็นหลักในการคำนวณ จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1727, 1729, 1731 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกก็เพราะเหตุที่ผู้ร้องเห็นว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและบุตรของผู้ร้องเท่านั้นและทรัพย์มรดกที่มีอยู่ทั้งหมดถูกระบุไว้ในพินัยกรรมแล้ว การไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกในกรณีเช่นนี้ยังไม่เป็นเหตุให้ถอนผู้จัดการมรดก การที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องโอนทรัพย์มรดกอันเป็นสินสมรสของผู้คัดค้านเป็นของตน เป็นการส่อไปในทางทุจริตนั้น คดีไม่มีประเด็นให้พิจารณาว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ผู้ร้องได้รับตามพินัยกรรมมีสินสมรสของผู้คัดค้านอยู่ด้วยหรือไม่ ผู้คัดค้านกับ ส. มิได้มีสิทธิในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมทั้งไม่มีประเด็นว่าทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมมีสินสมรสของผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยหรือไม่ จึงยังไม่มีเหตุผลสมควรจะตั้ง ส.เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 447, 1523 วรรคสอง

ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้

« »