กฎหมายฎีกา ปี 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 166 เดิม, 193/33, 653 วรรคแรก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วยเมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้เป็นลายมือชื่อปลอมก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยได้ที่สมบูรณ์อยู่แล้วเสียไปไม่ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนดอายุความ5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา166เดิม(มาตรา193/33ใหม่)หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้องส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเกิน5ปีโดยไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6928

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6928/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 208

จำเลยมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและคำขอนั้นมิได้โต้แย้งคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นอันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ส่งหมายแจ้งวันนัดชี้สองสถานให้จำเลยทราบซึ่งจะถือว่าจำเลยทราบวันนัดสืบพยานตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในวันชี้สองสถานไม่ได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาย่อมเป็นกรณีที่มิได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาอันเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070/2537

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36

เดิมรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลมีคำสั่งให้ริบเป็นของ ว.ซึ่งจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอเช่าซื้อมา แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1มีเงินไม่พอจึงไปติดต่อผู้ร้องเพื่อทำสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องจึงได้ซื้อรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมาจาก ว. และได้ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้ออีกทอดหนึ่ง ดังนี้ กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์จึงตกเป็นของผู้ร้องแล้วโดยผู้ร้องไม่จำเป็นต้องเอารถจักรยานยนต์เข้ามาอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องก่อน และไม่จำต้องโอนใส่ชื่อผู้ร้องในคู่มือการจดทะเบียนด้วย ทั้งการทำสัญญาเช่าซื้อนี้ก็มิใช่นิติกรรมอำพรางการกู้เงินของจำเลยที่ 1 เพื่อไปซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางด้วย เมื่อผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3060

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3060/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 47, 55, 172, 183, 225 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 41

ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ทำที่เมืองฮ่องกงมีหนังสือของโนตารีปับลิกแห่งเมืองฮ่องกงรับรองว่าผู้มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ โดยมีกงสุลไทยเมืองฮ่องกงรับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิกอีกชั้นหนึ่งเมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง จึงฟังได้ว่าใบมอบอำนาจฉบับนี้ลงชื่อโดยผู้มีอำนาจของโจทก์จริง ไม่จำเป็นต้องให้โนตารีปับลิกรับรองด้วยว่าผู้ที่ลงชื่อมอบอำนาจได้กระทำต่อหน้าตนและรับรองว่ามีตราดุนประทับในใบมอบอำนาจ ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีดังกล่าวย่อมมีผลใช้ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายฮ่องกง และแนบหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกซึ่งรับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายฮ่องกงมาท้ายฟ้อง ย่อมเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์แจ้งชัดแล้ว ไม่จำต้องแนบหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลมาท้ายฟ้องด้วย ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่ผู้เดียว ไม่ได้กล่าวอ้างว่าเป็นของบุคคลอื่นใด ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของผู้อื่นไม่ใช่ของโจทก์จึงเป็นการอุทธรณ์นอกคำให้การ และนอกประเด็น เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 6 เป็นอักษรโรมันคำว่าLEEKUMKEE รูปที่ 2 เป็นอักษรจีนอ่านว่า ลีคุมกี หรือลีคุมคีหรือลีคัมกีหรือลีกัมกี รูปที่ 6 เป็นกรอบรูปประดิษฐ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลาง เป็นรูปวงกลมมีหญิงจีนยืนชิดโต๊ะอาหารหันหน้าเข้าโต๊ะ มือซ้ายวางคว่ำบนโต๊ะหลังมือชิดจานอาหาร รูปที่ 7 เป็นรูปแถบชายธงโค้งด้านเว้าหงายขึ้น ตรงกลางมีรูปวงกลม หญิงจีน โต๊ะอาหารและจานอาหารเช่นเดียวกับในรูปที่ 6 ตรงชายแถบด้านซ้ายมีอักษรจีนอ่านว่า ลีกัมกี และชายแถบด้านขวามีอักษรโรมันคำว่า LEEKUMKEE อ่านว่า ลีกัมลี รูปที่ 8 เป็นรูปพัดจีนประดิษฐ์ มีอักษรโรมัน L.K.K. อ่านว่า แอลเคเคอยู่เหนืออักษรจีนที่อ่านว่า ลีคัมกี รูปที่ 9 เป็นรูปพัดจีนประดิษฐ์เหมือนรูปที่ 8 แต่เพิ่มตัวอักษรจีนอ่านว่าลีคุมกี อยู่เหนือพัดจีน และ อักษรโรมันคำว่า LEEKUMKEEอ่านว่า ลีคัมกี อยู่ใต้พัดจีน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยรูปภาพและตัวอักษรมีทั้งหมดสองส่วน 3 รูปส่วนบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ภายในมีกรอบรูปประดิษฐ์ล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปเรือสำเภาจีน เหนือขึ้นไปเป็นอักษรโรมันคำว่า LEEMIANKEE อ่านว่า ลีเมียนกี ด้านซ้ายและขวามีอักษรจีนอ่านว่า ลีเมียนกี อยู่ในกรอบรูปประดิษฐ์เล็ก ๆ ส่วนล่างประกอบด้วยรู)2 รูปเรียงกัน รูปแรกด้านซ้ายเป็นรูปประดิษฐ์คล้ายเข็มขัดมีหัวอยู่ตรงกลาง มีรูปหญิงจีนถือจานอาหารอยู่ตรงหัวเข็มขัด ส่วนสายเข็มขัดด้านขวามีอักษรโรมันอ่านว่า LEEMAINKEE อ่านว่า ลีเมียนกีกับอักษรจีนอ่านว่า ลีเมียนกี รูปที่ 2 ด้านขวาเป็นรูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์ตั้งตรงด้านมือจับชี้ลง มีอักษรโรมัน L.M.K.อ่านว่า แอลเอ็มเคและอักษรจีนอ่านว่าลีเมียนกีอยู่ภายในกรอบรูปพัดจีนโดยอักษรโรมันอยู่เหนืออักษรจีนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 7 รูป ดังกล่าวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 1 และ 2 มีเพียงตัวอักษรเท่านั้นไม่มีรูปภาพ การอ่านออกเสียงก็ต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจุดเด่นอยู่ที่รูปภาพส่วนของโจทก์อยู่ที่ตัวอักษร เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 6 เป็นรูปภาพเดี่ยว ของจำเลยมีรูปภาพถึง 3 รูปแม้จะมีรูปหญิงจีนเหมือนกันแต่ท่าทางก็ต่างกัน ของโจทก์รูปหญิงจีนเป็นรูปเด่น ของจำเลยเป็นเพียงรูปเล็ก ๆ ของรูปหนึ่งใน 3 รูป เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 7 แม้จะมีอักษรโรมันและอักษรจีนเช่นเดียวกับของจำเลย แต่ก็ออกเสียงคนละอย่างและอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 8 และรูปที่ 9 เป็นรูปเดี่ยว ของจำเลยเป็นรูปภาพ 3 รูป มีรูปพัดจีนเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ และเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามส่วนของโจทก์นั้นขอบรูปพัดเป็นรูปเถาไม้เลื้อย คดเคี้ยวคล้ายลายกนก ไม่มีด้ามแม้รูปที่ 9ของโจทก์จะมีตัวอักษรภาษาจีนและอักษรโรมันก็อ่านออกเสียงคนละอย่างกับของจำเลย ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปหนึ่งรูปใดใน 7 รูปดังกล่าวเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2537

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถส่งของจำเลยตอกบัตรบันทึกเวลาทำงาน ของ ณ. ซึ่งเป็นเด็กท้ายรถที่โจทก์ขับเพื่อแสดงเวลากลับจากทำงานของ ณ. ซึ่งมิได้กลับมาที่บริษัทจำเลยโดยได้ลงจากรถส่งของของจำเลยระหว่างทางแทน ณ. ซึ่งในวันดังกล่าว ณ. ก็ได้ไปทำงานจนสิ้นสุดเวลาทำงานปกติแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าการตอกบัตรดังกล่าวจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ ณ.หรือไม่ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงประการอื่นใดอีก การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 (1)

คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.4 และงานงวดที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยมิได้ชำระให้โจทก์เป็นการโต้เถียงความรับผิดตามสัญญาและผลงานในงวดดังกล่าว โดยยังไม่ได้เลิกสัญญาต่อกัน แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างงานงวดที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.4 และงานงวดที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.5 กับเงินที่จำเลยหักไว้ร้อยละสิบของเงินค่างวดเป็นการโต้เถียงความรับผิดตามสัญญาและผลงานคนละงวดคนละตอนกันทั้งเงินร้อยละสิบของเงินค่างวดที่จำเลยหักไว้ โจทก์จะได้รับคืนหรือไม่เมื่อเลิกทำงานกันก่อนที่งานจะเสร็จเรียบร้อย เป็นความรับผิดหลังจากเลิกสัญญาแล้ว จึงเป็นการแบ่งแยกความรับผิดเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกัน เมื่อมีการผิดนัดหรือความรับผิดในส่วนใดโจทก์ย่อมฟ้องส่วนนั้นได้ทันที และฟ้องในส่วนที่จะต้องรับผิดใหม่ได้อีกต่างหาก ฟ้องโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 177 วรรคสอง

คำให้การต่อสู้คดีที่ว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม โดยไม่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ว่าปลอมอย่างไร เช่น เป็นการปลอมเอกสารทั้งฉบับหรือปลอมเพียงบางส่วน ซึ่งจำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งไว้ในคำให้การไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองจำเลยจึงไม่มีสิทธินำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้สืบพยานบุคคลของจำเลยมาแล้วก็ไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 เดิม (2) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 14

การยื่นคำร้องขอฟ้องคดีต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เดิม กฎหมายให้พิจารณาถึงความสะดวกเป็นสำคัญว่าจะให้ฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นหรือไม่ เมื่อมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดชลบุรีโจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดชลบุรีได้และโจทก์จะยื่นคำร้องเมื่อศาลจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งรับฟ้องแล้วก็ได้เมื่อศาลจังหวัดชลบุรีได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดชลบุรีแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เดิมศาลจังหวัดชลบุรีมีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 62, 243 (2) พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2477 ม. 33, 44 (3)

ขณะที่โจทก์แต่งตั้งให้ ป.เป็นทนายความเข้าว่าต่างคดีให้โจทก์ในศาลชั้นต้นและลงชื่อในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลนั้นป.เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความและต้องห้ามมิให้ว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้อง คำให้การ คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา ฯลฯตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 44(3) และมาตรา 33มาแต่แรก แม้ต่อมาภายหลัง ป. จะได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตลอดชีพก็ตาม แต่ขณะที่ว่าต่างคดีให้โจทก์นั้นป. ได้ขาดจากการเป็นทนายความ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่วันที่ ป. รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นทนายว่าต่างมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก และมาตรา 62ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบมาตรา 247และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2537

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 337 วรรคหนึ่ง

ผู้เสียหายที่ 2 ได้ต่อเติมห้องน้ำที่บ้านของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่นายตรวจอาคาร มีอำนาจหน้าที่ตรวจอาคารตามคำสั่งของสำนักงานเขตพญาไท จำเลยได้ข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายที่ 2 ถ้าผู้เสียหายไม่ให้จำเลยจะดำเนินคดีในเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานกรรโชกและกระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล เพราะการที่ผู้เสียหายที่ 2 เจรจากับจำเลยแล้วขึ้นไปชั้น 2 โทรศัพท์เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2ไม่ยอมให้เงิน เพียงแต่ทำทีเป็นยอมเพื่อวางแผนจับกุมจำเลยหาใช่ยอมให้เงินแก่จำเลยด้วยใจจริงไม่

« »