กฎหมายฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 242 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา288จำคุก10ปีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา78คงจำคุก6ปี4เดือนจึงเป็นการลงโทษที่ผิดพลาดต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขโดยกำหนดโทษจำเลยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 163, 182, 208 (2), 225 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 92, 93

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากเดิมซึ่งขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา92เป็นเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา93ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่และมิได้สอบถามจำเลยส่วนจำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำร้องการที่ศาลชั้นต้นด่วนพิพากษาคดีไปโดยมิได้สอบและสั่งคำร้องขอของโจทก์นับได้ว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดพลาดดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา92เพียงหนึ่งในสามและศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษายืนเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาชอบที่จะยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ก่อนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6427/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 55, 143, 145

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าคำพิพากษาในคดีแพ่งเป็นโมฆะเพราะศาลฟังพยานหลักฐานผิดไปจากความเป็นจริงปรากฏว่าคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดไปแล้วโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของส. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผลแห่งคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าวย่อมผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145ผู้ร้องจำต้องรับผลแห่งคำพิพากษานั้นจะมาโต้เถียงอีกว่าคำพิพากษาพิจารณาไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและศาลพิจารณาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งๆที่คำพิพากษาให้เป็นฝ่ายแพ้คดีหาได้ไม่ทั้งมิใช่กรณีที่มีกฎหมายสนับสนุนให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลอันจะยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเป็นคดีนี้ได้ตามมาตรา55และการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา27นั้นจะต้องยื่นคำร้องขอในคดีที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเองจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีใหม่ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176, 227

พยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ต้อง ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพนั้นเอง การรับฟังคำรับชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสี่ซึ่งปฏิเสธในชั้นพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมต้องมีพยานประกอบว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดจริงโดยพยานประกอบนั้นต้องไม่ใช่คำของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สอบสวนคำรับนั้นเอง ส่วนบันทึกการจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของ จำเลยทั้งสี่ บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และภาพถ่ายประกอบนั้นแม้มีภาพจำเลยทั้งสี่และมีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพ ของจำเลยทั้งสี่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเท่านั้นไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เพื่อให้เห็นว่ากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่อย่างใดอีกเมื่อจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาและนำสืบปฏิเสธว่า พนักงานสอบสวนได้คำรับสารภาพมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมเพียงเท่าที่นำสืบมาจึงไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 6, 150, 113 เดิม, 172 วรรคแรก ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 31

การที่โจทก์ตกลงยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยจำเลยชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแทนโจทก์มีผลเท่ากับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา31แล้วข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(มาตรา150ที่แก้ไขใหม่)และเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา172วรรคแรกที่แก้ไขใหม่การที่โจทก์มาฟ้องคดีจึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 95 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

แม้โจทก์ไม่ได้ผู้เสียหายและนางสาว ล. มาเบิกความเป็นพยานแต่โจทก์มีสิบตำรวจโท ค. กับร้อยตำรวจเอก ส. พยานโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกคำให้การของผู้เสียหายและนางสาว ล.ที่ร้อยตำรวจเอก ส. พนักงานสอบสวนบันทึกและเบิกความรับรองไว้เชื่อว่าเป็นความจริงเพราะหากไม่เป็นความจริงแล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กสาวย่อมละอายต่อการถูกข่มขืนคงไม่กล้าให้การต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้นเมื่อนำบันทึกคำให้การดังกล่าวมาประกอบคำเบิกความของสิบตำรวจโท ค. กับร้อยตำรวจเอก ส. ว่าชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพแล้วเชื่อว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9156

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9156/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม

ฟ้องแย้งของจำเลยส่วนหนึ่งมีคำขอบังคับบุคคลภายนอกมิใช่ฟ้องแย้งโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี ส่วนฟ้องแย้งอีกส่วนหนึ่งก็จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงที่จำเลยฟ้องแย้งบุคคลภายนอกนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 56 วรรคท้าย, 248 วรรคหนึ่ง, 249 วรรคสอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 11 (3), 124

จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่่มีอำนาจฟ้องปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ คดีนี้เป็นคดีละเมิดมิใช่คดีครอบครัวที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใดๆในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา11(3)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534ดังนั้นเมื่อมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของโจทก์ที่2ถึงที่7ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในคดีนี้ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องโดยตั้งโจทก์ที่1เป็นผู้แทนเฉพาะคดีให้แก่โจทก์ที่2ถึงที่7ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา56วรรคสุดท้าย โดยโจทก์ที่1ไม่จำต้องขออำนาจในการดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ที่2ถึงที่7จากศาลเยาวชนและครอบครัว คดีนี้โจทก์ทั้งแปดต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2ที่3และที่4ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาทซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่2ที่3และที่4ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145 (2), 287

คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยยอมชำระเงินให้แก่โจทก์หากไม่ชำระจำเลยยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นไม่ใช่คำพิพากษาที่แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าเป็นของโจทก์เมื่อว.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและได้ขออายัดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่โจทก์และจำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันสิทธิของโจทก์กับของว.ใครจะดีกว่ากันจึงยังไม่แน่นอนหากศาลมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ผลแห่งการบังคับคดีย่อมไปกระทบกระเทือนสิทธิของว.ซึ่งมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยอันเป็นการไม่ชอบโจทก์จึงขอบังคับคดีให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ยังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 104 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 81

โจทก์ไม่ได้มาให้ถ้อยคำยินยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินทั้งมิได้มอบอำนาจให้ บ. ซึ่งเป็นภริยาไปให้ถ้อยคำยินยอมแทนในการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาท การกระทำของ บ. ไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้นำทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทั้งหมดมาให้ถ้อยคำยินยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทคนอื่น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81และกฎกระทรวง ฉบับที่ 24(พ.ศ. 2516) การจดทะเบียนรับมรดกคงสมบูรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 สิทธิครอบครองที่ดินที่จะมีการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ต้องเป็นของผู้อื่นหาได้หมายถึงที่ดินที่ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเองไม่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อสู้ว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และมีสิทธิครอบครองแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง

« »