กฎหมายฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6515/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 86, 177
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยไม่สุจริตไม่ได้เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยไม่สุจริตกล่าวคือโจทก์อ้างว่าซื้อที่ดินมาตามโฉนดแต่โจทก์ไม่ได้มาดูที่ดินหรือสอบถามเสียก่อนว่ามีอาณาเขตจากไหนถึงไหนมียุ้งฉางอยู่ก่อนโดยอาศัยสิทธิอย่างไรและมีการล้อมรั้วลวดหนามเป็นอย่างไรซึ่งผิดวิสัยของบุคคลที่จะซื้อที่ดินอันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดถึงการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตของโจทก์คำให้การของจำเลยดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสองจึงมีประเด็นที่จำเลยจะสืบตามข้อสู้ได้ว่าโจทก์ได้สิทธิมาโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1299วรรคสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีมาย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9157/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 474, 503 วรรคสอง
การขายตามคำพรรณนาคือการขายที่ผู้ซื้อไม่ได้เห็นหรือตรวจตราทรัพย์สินที่ขาย แต่ตกลงซื้อโดยเชื่อถึงคำบรรยายถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานและคุณภาพของทรัพย์สินนั้นตามที่ผู้ขายบอกหรือบรรยายไว้และแม้บางกรณีผู้ซื้อจะได้เห็นทรัพย์สินนั้นแล้วแต่หากยากแก่การที่จะตรวจตราถึงคุณภาพได้และผู้ซื้อตกลงซื้อโดยอาศัยคำบรรยายของผู้ขายเป็นหลักก็เป็นการขายตามคำพรรณนาเช่นกัน จำเลยโฆษณาเสนอขายที่ดินในโครงการของจำเลยโดยมีหนังสือชี้ชวนและแผนผังแสดงที่ตั้งโครงการรวมทั้งการแบ่งแยกที่ดินแปลงย่อย โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงได้ระบุไว้ในสัญญาว่าที่ดินที่ซื้อขายกันนั้นปรากฏตามแผนผังที่ดินท้ายสัญญาที่ได้ทำเครื่องหมายไว้โดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงถือได้ว่าเป็นการขายตามพรรณนา เมื่อต่อมาปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงแผนผังของโครงการโดยย้ายทางเข้าออกมาไว้ทางด้านตะวันออกทำให้อยู่ห่างจากที่ดินแปลงของโจทก์ถึง 1,200 เมตรย้ายศูนย์กีฬาและศูนย์อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ไปอยู่ห่างออกไปถึง 1,700 เมตร จึงไม่ตรงตามคำพรรณนา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญามิได้เป็นเรื่องที่จำเลยส่งมอบทรัพย์สินให้โจทก์ตรงตามสัญญา แต่เกิดชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินดังกล่าวจะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 474 มาใช้บังคับมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6457/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/23, 193/27, 193/30, 655, 745, 856 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
ตามคำขอกู้เงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โจทก์ได้ระบุวัตถุประสงค์จะขอกู้เงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากจำเลยจำนวน 984,000 บาท โดยขอนำที่ดินจำนองเป็นประกัน กำหนดชำระคืนภายใน 120 เดือน เดือนละ 16,400 บาทซึ่งต่อมาก็มีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลย โดยโจทก์จำนองที่ดิน เป็นประกันจึงเป็นเรื่องสัญญากู้ยืมเงินธรรมดา แม้ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุข้อความว่า ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ยอมส่งเงินดอกเบี้ยทุก ๆ เดือนเสมอไป ถ้าผิดนัดชำระดอกเบี้ยยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างทบเข้าในบัญชีของผู้จำนองด้วย ก็เห็นได้ว่า โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีหนี้สินอะไรที่จะหักกลบลบหนี้ในทางบัญชีเดินสะพัดได้ ส่วนบัญชีที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทำบัญชีเพื่อประสงค์จะทราบว่าโจทก์กู้เงินไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด ผ่อนชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแล้วเพียงใดกับยังค้างชำระอีกเท่าใด หาใช่บัญชีเดินสะพัดหรือการค้าขายอย่างอื่นทำนองบัญชีเดินสะพัดไม่ เมื่อบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความว่า ต้องรอให้ดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนจึงจะนำมาทบเข้ากับต้นเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น กรณีต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งห้ามเอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงิน ข้อตกลงเฉพาะที่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายข้างต้นตกเป็นโมฆะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
หนี้กู้ยืมที่สัญญาจำนองประกันอยู่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่กรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6452/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1489, 1490 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287
หนี้คดีนี้เป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1490ซึ่งจำเลยและผู้ร้องจะต้องร่วมกันรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมโจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากสินสมรสได้ทั้งหมดเมื่อจำเลยนำที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้องไปจำนองเป็นประกันโจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสได้ทั้งหมดโดยไม่จำต้องฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1489ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนของตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6434/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดฐานละเมิด โดยบรรยายมาในคำฟ้องชัดแจ้งแล้วว่า การร้องเรียนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการจงใจทำละเมิดและกลั่นแกล้งโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายและมีเจตนาไม่ให้โจทก์ทำการก่อสร้างอาคารได้ตามปกติทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด อีกทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และบริวารได้พูดจาข่มขู่บุคคลภายนอกที่มาติดต่อขอรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ว่า หากรับโอนสิทธิการเช่าไปก็จะมีความเดือดร้อนเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังมีข้อพิพาทกับโจทก์อยู่ ทำให้อาคารที่โจทก์สร้างขึ้น 4 หลัง มีผู้รับโอนสิทธิการเช่าเพียงหลังเดียว ส่วนอีก 3 หลัง ไม่มีผู้ใดกล้าเช่าช่วงหรือรับโอนสิทธิการเช่า ดังนี้ การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6430/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 37, 797
โจทก์ดำเนินกิจการให้เช่ารถยนต์แก่บุคคลทั่วไปใช้ชื่อว่าจูนคาร์เรนท์ จำเลยประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์แก่บุคคลทั่วไปเช่นกันด. ขอเช่ารถยนต์จากจำเลยแต่จำเลยไม่มีรถยนต์จึงนำรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ไปให้ด.เช่าเป็นเวลา7วันโดยได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของค่าเช่าเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากรถยนต์พิพาทชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและจำเลยได้ตกลงให้ค่าเช่าเพื่อการที่เอารถยนต์พิพาทไปแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา537แล้วและการเช่าสังหาริมทรัพย์กฎหมายมิได้บัญญัติว่าจำต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือจึงสามารถตกลงกันด้วยวาจาได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเช่ารถยนต์พิพาทไปจากโจทก์หาใช่เป็นเพียงตัวแทนของร้านจูนคาร์เรนท์เพราะถ้าหากจำเลยเป็นตัวแทนแล้วจำเลยจะต้องนำเงินที่ได้รับมามอบให้แก่โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิหักเงินบางส่วนเอาไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญากล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทและต้นไม้เป็นของจำเลยการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยคดีนี้และให้ใช้ค่าต้นไม้ที่เสียหายคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเมื่อผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทและต้นไม้เป็นของจำเลยและคดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วศาลในคดีแพ่งจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 537
เมื่อชื่อสัญญาระบุว่าเป็นสัญญาจองพื้นที่ในอาคารเนื้อหาในสัญญาก็ระบุชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวให้ครบถ้วนแล้วจำเลยจึงจะไปจดทะเบียนให้เช่าพื้นที่ที่จองอีกทั้งขณะทำสัญญาจำเลยก็ไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ในอาคารให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในลักษณะเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา537และ546สัญญาจองพื้นที่ในอาคารจึงไม่เป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งบังคับกันได้ตามสัญญา สัญญาไม่ได้ระบุห้ามโจทก์ทั้งสี่โอนสิทธิการจองให้ผู้อื่นเมื่อโจทก์ทั้งสี่แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้ขายสิทธิการจองให้ผู้อื่นจะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ผิดสัญญาไม่ได้จำเลยจึงอาศัยเหตุนี้บอกเลิกสัญญาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 233, 448, 1169
โจทก์ฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัทบ. โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัทบ. จำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทบ.ไปโดยทุจริตบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัทบ. ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทบ.ซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยละเมิดต่อบริษัทบ.บริษัทบ.ชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทบ.ชอบจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1169ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัทบ.เท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทบ.อยู่การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัทบ.มีอายุความตามมาตรา448เมื่อการกระทำละเมิดเกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัทบ.อยู่คือก่อนวันที่17กันยายน2525ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัทบ. โจทก์ยื่นฟ้องวันที่23กันยายน2535พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้วคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3485/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 147 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ม. 15, 58
พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ.2519มาตรา15บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาจำเลยดำรงตำแหน่งพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์มีหน้าที่ปิดเปิดถุงไปรษณีย์ภัณฑ์และคัดเลือกไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าด้านจ่ายได้เบียดบังเอาจดหมายต่างประเทศต้นทางเยอรมันและบราซิลเป็นของตนโดยทุจริตและตั้งใจกักหรือหน่วงเหนี่ยวไปรษณีย์ภัณฑ์ในระหว่างทางไปรษณีย์ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา147และพระราชบัญญัติไปรษณีย์พ.ศ.2477มาตรา58