คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 4

จำเลยทั้งสองห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเข้าใจว่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดท.เนื่องจากโจทก์มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดท.จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลยทั้งสองดังนี้ย่อมมิใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา4(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 920, 989, 1003

เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วส่งมอบให้ธนาคารก.เพื่อขายลดเช็ค ย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นธนาคารก. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ และเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจึงมิใช่การเรียกเก็บเงินในฐานะที่โจทก์ยังเป็นผู้ทรงเช็คอยู่ครั้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้ธนาคารก.และรับเช็คพิพาทคืนมาโจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช่ผู้ทรงเช็ค ขณะนั้นไม่จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6338

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6338/2539

ประมวลรัษฎากร ม. 12, 40 (8), 46, 61 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ม. 8 ทวิ

การที่โจทก์ทั้งห้ามีความผูกพันต่อบริษัทร.ตามสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ก่อนที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากบริษัทก.และในขณะที่โจทก์ทั้งห้าได้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาโดยการจดทะเบียนซื้อจากบริษัทก. โจทก์ทั้งห้ามีเจตนาที่จะนำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัทร.ตามสัญญาจะซื้อขายที่มีความผูกพันกันอยู่ดังกล่าว และหลังจากซื้อที่ดินมาได้แล้วโจทก์ทั้งห้าได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่บริษัทร. ไปตามเจตนาที่ซื้อมาเมื่อราคาที่ซื้อมาต่ำแต่ราคาที่ขายไปสูงและคำนวณผลต่างของราคาซื้อบวกด้วยค่าใช้จ่ายในการซื้อลบด้วยราคาขายแล้ว โจทก์ทั้งห้ามีกำไรหลายเท่าตัวทั้งราคาที่ขายไปเป็นราคาที่บริษัทร. ตกลงไว้ตามสัญญาจะซื้อขายหาใช่ราคาตลาดของที่ดินทั้งสองแปลงสูงขึ้นเอง หลังจากที่โจทก์ ทั้งห้าซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาจากบริษัทก. ไม่ ดังนี้ คนที่ขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่บริษัทร. นั้น เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร สำหรับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้ ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) ซึ่งมาตรา 46 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จะได้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา เมื่อพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)พ.ศ.2502 มาตรา 8 ทวิ บัญญัติให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม การที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนในการซื้อที่ดินมา ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอันเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรจึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้สามารถหาหลักฐานค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้ครบถ้วน และเจ้าพนักงานประเมินได้หักให้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว หาใช่กรณีโจทก์ทั้งห้าไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้ตามนัยหนังสือกรมสรรพากร ที่ กค.0802/766 ลงวันที่18 มกราคม 2528 และที่ กค.0802/7789 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2531ไม่ จึงใช้อัตราร้อยละ 78 ของเงินได้พึงประเมินตามนัยหนังสือดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ การที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้มีเจตนาซื้อและขายที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวและมิได้รับเงินจากการขายที่ดินนั้น แต่ลงชื่อ ร่วมในการซื้อและมอบอำนาจในการขายไปตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมิได้เป็นผู้ได้รับเงินได้ พึงประเมินในการที่ที่ดินทั้งสองโฉนดนั้นได้ขายไปโดยการดำเนินการ ของโจทก์ที่ 2 และตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด เจ้าพนักงาน ประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 การที่โจทก์ที่ 1 ไม่ชำระเงินตามการประเมินจึงถือเป็นภาษีอากร ค้างนายอำเภอแห่งท้องที่นั้นมีอำนาจสั่งอายัดที่ดินของโจทก์ที่ 1 ได้ แต่เนื่องจากการประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากโจทก์ที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ 4 จึงไม่เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง นายอำเภอ แห่งท้องที่จึงไม่มีอำนาจอายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 และขายทอดตลาด เพื่อให้ได้ชำระภาษีอากรค้างตามการประเมินได้ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องว่าโจทก์ทั้งห้ามิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงมีเหตุอันควรผ่อนผันให้โจทก์ทั้งห้าตามประมวลรัษฎากร ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดเป็นประเด็นไว้แล้วว่ามีเหตุอันควรลดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้หรือไม่ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้งดเบี้ยปรับภาษีการค้าและเบี้ยปรับภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นในคำฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6309

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6309/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 209, 248 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นเงิน207,000บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน57,000บาทแก่โจทก์จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกายกเหตุอ้างว่าไม่จงใจขาดนัดพิจารณาอันเป็นข้อเท็จจริงแม้ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ใช่ปัญหาในประเด็นที่พิพาทตามคำฟ้องและคำให้การก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดพิจารณาก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นเงิน57,000บาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358, 362, 365 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 144 วรรคสอง, 145 วรรคหนึ่ง

โจทก์และจำเลยโต้เถียงการครอบครองที่พิพาทอยู่การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก ต้นไผ่ที่จำเลยเข้าไปตัดฟันปลูกอยู่ในที่พิพาทแม้โจทก์เป็นผู้ปลูกแต่ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา145วรรคหนึ่งและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา144วรรคสองเมื่อโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทการที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2539

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8 วรรคสอง, 8 วรรคสาม, 13 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 30 มีนาคม 2535

เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าในเขตของหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีจำเลยที่1นั้นมีลักษณะของทรัพย์สินขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันกับทรัพย์สินของโจทก์มีการให้เช่ากันอันสามารถนำค่าเช่ามาเทียบเคียงในการประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินลงวันที่30มีนาคม2535ได้พนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินขึ้นเองให้เห็นได้ว่าเป็นจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา8วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475โดยหาฐานในการคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าด้วยเหตุผลที่ว่าการให้เช่าเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สินดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ให้เช่าต้องคำนึงถึงและนำมาใช้เป็นฐานของการคำนวณหาจำนวนเงินค่าเช่าได้กล่าวคือทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยก็สมควรได้ค่าเช่าน้อยกว่าทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากและค่าเช่านั้นเกิดขึ้นตามระยะเวลาของการเช่าหรือระยะเวลาในการใช้ทรัพย์ที่เช่าใกล้เคียงกับประโยชน์ที่ผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารตามฐานของจำนวนเงินที่ฝากประกอบระยะเวลาที่ฝากดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงนำมาเทียบเคียงเพื่อใช้ในการคำนวณหาจำนวนค่าเช่าได้ด้วยโดยเหตุนี้การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจำเลยที่2อาศัยมูลค่าทรัพย์สินคูณด้วยอัตราผลประโยชน์ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีที่เทียบเคียงมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารโดยที่ได้ลดมูลค่าของทรัพย์สินในส่วนที่เป็นเครื่องจักรลงให้ประมาณกึ่งหนึ่งและลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วนั้นย่อมเป็นการประเมินค่ารายปีขึ้นโดยประมาณด้วยกฎเกณฑ์อันสมควรและมีเหตุผลโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าการชี้ขาดตามการประเมินดังกล่าวไม่ชอบหาได้นำสืบให้เห็นว่ามีกฎเกณฑ์ใดที่สมควรและมีเหตุผลสามารถนำมาเทียบเคียงในการคำนวณหาค่าเช่าอันสมควรสำหรับทรัพย์สินรายพิพาทของโจทก์ได้เหมาะสมไปกว่านี้ศาลจึงต้องฟังว่าค่ารายปีตามคำชี้ขาดของจำเลยที่2เป็นค่ารายปีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6333

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6333/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 104, 117

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 วรรคสองมิได้บัญญัติให้มีผลถึงว่า หากยังถามค้านพยานคนใดไม่เสร็จสิ้นแล้วก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานดังกล่าวเลยไม่ศาลจึงมีอำนาจที่จะนำคำพยานดังกล่าวที่ตอบคำซักถามของทนายโจทก์และตอบคำถามค้านทนายจำเลยแล้วบางส่วนมารับฟังประกอบพยานเอกสารของโจทก์และจำเลยที่ยื่นประกอบคำซักถามพยานปากนี้ได้ ส่วนจะรับฟังได้มากน้อยเพียงใดก็เป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนักคำพยาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6312

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6312/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 84 ประมวลรัษฎากร ม. 48, 78

คำว่า "การขายที่ดินโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร"หาได้หมายความว่าเป็นการขายที่ดินที่มีการพัฒนา เช่นแบ่งที่ดินออกเป็นแปลง ๆ เพื่อสะดวกแก่การขาย หรือจัดทำสาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา เข้าที่ดินเท่านั้นไม่การซื้อที่ดินมาเพื่อขายต่อเพื่อเอากำไร แม้จะมิได้กระทำให้ที่ดินเจริญขึ้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ซื้อที่ดินซึ่งอยู่ที่จังหวัดราชบุรีในปี 2532 เมื่อซื้อแล้วมิได้ทำประโยชน์ใด ๆ และโจทก์ได้ขายไปในปี 2533 เป็นการขายในเวลาอันสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาในการใช้ที่ดินเพื่อประกอบอาชีพอื่นอันมิใช่การค้าที่ดิน แสดงให้เห็นเจตนาว่าซื้อที่ดินมาเพื่อหากำไร การขายที่ดินจึงเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษี โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่โจทก์มิใช่ตกแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 329 (3)

จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350

แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

« »
ติดต่อเราทาง LINE