คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300, 1600, 1651 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 142 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 34

ล. เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้กับโจทก์ก่อนที่ ล. จะถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีเพียงบุคคลสิทธิยังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ล. กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม โจทก์ฟ้องโดยอ้างถึงสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาล ซึ่งเดิมโจทก์ได้ฟ้องกองมรดกของ ล. โดยทายาทและจ. ผู้จัดการมรดกคนเดิมของ ล. ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับ ล. และทายาทและผู้จัดการมรดกของ ล. ได้ยินยอมโอนที่ดินให้โจทก์และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ต่อมา จ. ถูกศาลเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกแทน คำพิพากษาตามยอมก็ยังมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับที่ดินตามพินัยกรรม เพราะ จ. กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของ ล.และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับ จ. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของล. ให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับโอนที่ดินมาตามพินัยกรรมของ ล. ก็ต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600,1601 และ 1651(2)จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินให้โจทก์ โจทก์มิได้ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2จัดการโอนที่ดินให้โจทก์ด้วย แต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ก็เพื่อให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ล. โอนที่ดินเมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมา จึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินให้โจทก์ตามกฎหมายศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินให้โจทก์ได้และแม้จำเลยที่ 3 จะเป็นวัด การที่ศาลให้จำเลยที่ 3โอนที่ดินซึ่งตกมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยพินัยกรรมเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มิใช่การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 618, 797

ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศได้ว่าจ้างจำเลยที่2ผู้รับขนในต่างประเทศให้ขนส่งสินค้ามายังกรุงเทพมหานครจำเลยที่1เป็นผู้แจ้งกำหนดวันที่เรือจะเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบติดต่อกรมศุลกากรกองตรวจคนเข้าเมืองกรมเจ้าท่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยค้ำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่าจ้างบริษัทอื่นให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าลงเรือฉลอมเพื่อนำไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับใบตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าการที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้รับขนในต่างประเทศไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยจึงย่อมไม่สามารถจะดำเนินการติดต่อและค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่าจ้างบริษัทอื่นให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็กและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าได้การกระทำดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญในการรับขนทางทะเลจำเลยที่1จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่2อันเป็นการขนส่งโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618แล้วหาใช่เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่2ไม่จำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 145 วรรคสอง (2)

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีซึ่งตามกฎหมายจะเพิกถอนไม่ได้เว้นแต่จะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดสืบโดยคำพิพากษาของศาลในลำดับที่สูงกว่าทั้งเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินและอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดนอกจากอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีก่อนอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทและขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วยังขอให้พิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดอยู่และขอให้ขับไล่จำเลยด้วยพอแปลความหมายแห่งคำฟ้องได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นบุคคลภายนอกมีความประสงค์ให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยและคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา145วรรคสอง(2)ศาลอุทธรณ์ภาค2จึงมีอำนาจพิพากษาให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กรณีไม่ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4964

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4964/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86 วรรคสอง, 142

เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสามไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำการโดยสุจริตหรือคบคิดกันฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสามก่อนการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบโจทก์และจำเลยทั้งสามจึงเป็นการมิชอบ โจทก์กล่าวในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันทำสัญญาซื้อขายเป็นการฉ้อฉลโจทก์อันหมายถึงการกระทำโดยไม่สุจริตหรือฉ้อโกงโจทก์นั่นเองที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าจำเลยที่1โอนขายทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่2และที่3เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93 (2), 123, 142 วรรคหนึ่ง, 183

แม้จำเลยที่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่เมื่อคดีนี้มีการชี้สองสถานและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทโดยโจทก์และจำเลยต่างไม่โต้แย้งคัดค้านเช่นนี้จึงถือได้ว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ระหว่างคู่ความการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและประเด็นข้อพิพาทข้อนี้เป็นคนละประเด็นกับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าจำเลยต้องชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ได้แจ้งต่อศาลตลอดมาว่าเอกสารต่างๆตามที่จำเลยอ้างมานั้นมีจำนวนมากยังค้นไม่พบต่อมาโจทก์ได้ส่งเอกสารตามคำสั่งเรียกมาให้เป็นบางส่วนแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังค้นหาเอกสารไม่พบจริงไม่มีเจตนาจะบิดพลิ้วไม่ส่งเอกสารแต่อย่างใดกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมสามารถนำสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93(2)กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา123ที่จะถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 (2), 1308 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 142 (5)

ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนไม่ได้จดแม่น้ำที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้เกิดที่งอกริมตลิ่งหากแต่เป็นที่งอกที่เกิดจากที่ดอนนอกแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่งอกดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1308 จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยซึ่งเท่ากับปฎิเสธว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า"โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกริมตลิ่งหรือไม่"และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถือว่าเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นข้อพิพาทแล้วหาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 189

จำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปแล้วถูกนายดาบตำรวจก. กับพวกยึดรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปไม่ยอมให้ขับออกไปจำเลยที่2ได้มาพูดกับนายดาบตำรวจก. กับพวกเป็นทำนองให้ปล่อยรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปและจำเลยที่1เมื่อนายดาบตำรวจก.กับพวกไม่ยอมต่อมาจำเลยที่2ก็พาจำเลยที่1ขึ้นรถยนต์ขับหนีไปแสดงว่าจำเลยที่2รู้แล้วว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและมีจำเลยที่1เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษจำเลยที่2จึงต้องมีความผิดฐานช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อไม่ให้ต้องโทษหรือไม่ให้ถูกจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา189

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2539

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 115

การที่จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งภายในระยะเวลา3เดือนก่อนจำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้เพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆของจำเลยเพียงแต่จำเลยฝ่ายเดียวรู้ว่าเป็นการโอนที่ทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นก็เป็นการเพียงพอที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา115โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสุจริตและการเสียค่าตอบแทนของผู้รับโอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 406, 411, 415 วรรคสอง, 419 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 247

ศาลอุทธรณ์ภาค1วินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างที่พิพาทยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511มาตรา12โจทก์จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ข้อที่ว่าโจทก์รู้หรือไม่รู้ว่ามีบทกฎหมายดังกล่าวหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหานี้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค1หยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ทราบว่าการซื้อขายที่พิพาทจะเป็นโมฆะในขณะตกลงซื้อขายกันแต่เพิ่งทราบเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอื่นจึงถือว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนเงินจากจำเลยตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีอื่นนั้นเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน1ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อการซื้อขายที่พิพาทตกเป็นโมฆะตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีอื่นดังนั้นเงินค่าที่พิพาทที่จำเลยผู้ขายได้รับจากโจทก์ผู้ซื้อจึงต้องคืนแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้หากมีการเรียกเงินดังกล่าวคืนเมื่อจำเลยไม่คืนให้ต้องถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนและตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้เรียกให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ต้องถือว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินนับแต่วันฟ้อง ที่พิพาทราคา250,000บาทการที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยเป็นจำนวน410,000บาทจึงเกินไปจากราคาที่พิพาทที่โจทก์มีสิทธิเรียกคืนแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 169 วรรคสอง, 360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247, 248 วรรคสอง, 249 วรรคท้าย

ตามสัญญาเช่ามีข้อความว่าเมื่อครบกำหนดอายุแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปโดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ3ปีและเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็นสองเท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บข้อสัญญานี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไปไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าป. ผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา360ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169วรรคสองมาใช้บังคับคำมั่นของป.จึงไม่เสื่อมเสียไปมีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตามให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม ที่โจทก์ฎีกาว่าโดยพฤตินัยและตามหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนจำเลยต้องรู้หรือควรรู้ว่าป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเพราะเป็นคนในอำเภอเมืองสมุทรสงครามด้วยกันมีประชากรไม่มากน่าจะทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกันและกันดีเป็นฎีกาข้อเท็จจริง เมื่อฟังว่าคำมั่นของป. มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าการที่โจทก์เรียกเก็บค่าเช่าค่าตอบแทนเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อดังกล่าวโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าเอกสารหมายจ.4ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และทายาทผู้รับโอนต่อๆไปในภายหน้าให้ต้องปฏิบัติตามไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดไม่ควรมีผลบังคับแม้ปัญหานี้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โจทก์ก็ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคท้าย เจ้าของทรัพย์สินจะให้เช่าทรัพย์สินของตนในลักษณะใดก็ได้เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกจึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE