คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6048

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6048/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1600

ป. ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ป. เข้าทำการค้าในสถานที่หรือแผงขายสินค้าด้วยตนเองจะนำไปให้บุคคลอื่นทำการค้าหรือโอนสิทธิให้บุคคลอื่นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยที่ 1ก่อน สิทธิอันเกิดจากสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของป. ไม่เป็นทรัพย์ในกองมรดกของ ป. ที่ผู้จัดการมรดกจะจัดการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 601

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่1ซ่อมแซมถนนพิพาทโดยมีจำเลยที่2ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่1ซ่อมแซมถนนพิพาทและส่งมอบงานให้โจทก์แล้วต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์พบความชำรุดบกพร่องจึงแจ้งให้จำเลยที่1ซ่อมแซมแก้ไขจำเลยที่1เพิกเฉยโจทก์จึงจ้างบุคคลอื่นซ่อมแซมแก้ไขซึ่งจำเลยที่1ต้องรับผิดใช้ค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามที่ระบุในสัญญาจ้างและจำเลยที่2ต้องร่วมรับผิดด้วยถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่1รับผิดตามสัญญาจ้างธรรมดาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ10ปีหาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา601ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88, 147, 271 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้อ้างสรรพเอกสารในสำนวนทวงหนี้ลูกหนี้รายผู้ร้องเป็นพยาน โดยระบุไว้ในบัญชีพยานแล้ว แม้จะขออ้างส่งเฉพาะเอกสารบางฉบับในสำนวนก็ไม่จำต้องยื่นบัญชีพยานหรือขอระบุพยานเพิ่มเติมต่างหากอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเรียกหนี้ค่าหุ้นที่ค้างชำระจากผู้ร้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ถือว่าคดีถึงที่สุดนับแต่ระยะเวลาที่อาจฎีกาได้สิ้นสุดลง ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 861, 877

สัญญาประกันภัยข้อ2.1ข้อ2.2และข้อ2.3กำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่จำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยไว้แต่ในข้อ2.13.4ระบุว่าการประกันภัยตามข้อ2.1ข้อ2.2และข้อ2.3ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดันเว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับจำเลยด้วยเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามสัญญาประกันภัยเมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยอาศัยสัญญาประกันภัยดังกล่าวและเหตุที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยนั้นแล้วจำเลยก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 213 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 86, 94

โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีสิทธิทำสัญญาจะซื้อขาย ที่ดินจากจำเลยได้เพราะกฎหมายมิได้ห้ามขาดมิให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ สัญญาจะซื้อที่ดินจึงไม่เป็นโมฆะหรือโมฆียะ เมื่อสัญญามีผลบังคับและยังไม่ระงับ โจทก์ที่ 2ย่อมฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฎิบัติตามสัญญาได้ แต่ศาลจะบังคับให้เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ในการถือกรรมสิทธิ์ก่อน เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีโดยยังมิได้ปฎิบัติให้ครบหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ต้องยกฟ้องโจทก์ และวางเงื่อนไขให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132, 198

คดีที่มีจำเลยหลายคนเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความเพราะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา198วรรค2ไม่จำต้องเกิดขึ้นแก่จำเลยทุกคนในคดีเสมอไปกรณีอาจเกิดขึ้นแก่จำเลยเป็นรายบุคคลก็ได้ในกรณีที่เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นแก่จำเลยในคดีเป็นรายบุคคลศาลจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยรายที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเท่านั้นเพราะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยรายนั้นต่อไปศาลจะสั่งจำหน่ายคดีทั้งคดีออกเสียจากสารบบความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 366 วรรคสอง

โจทก์ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายเครื่องดูดฝุ่นให้จำเลยต่อมาจำเลยมีหนังสือเชิญโจทก์ไปทำสัญญา โจทก์ส่งผู้แทนไปลงนามในสัญญาซื้อขายแล้ว แต่ผู้อำนวยการของจำเลยยังไม่ลงนามเนื่องจากยังมีการต่อรองราคากันอยู่และปรากฏเงื่อนไขในการประกวดราคาว่า ถ้าโจทก์ไม่ไปทำสัญญากับจำเลยจำเลยจะริบหลักประกัน แสดงว่าสัญญาที่มุ่งจะทำนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยยังไม่ลงนามในสัญญา ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาซื้อขายจึงยังไม่เกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93

การส่งเอกสารโดยวิธีโทรสารเป็นวิทยาการแบบใหม่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่าผู้ส่งจะนำต้นฉบับของเอกสารที่จะทำการส่งไปลงในเครื่องโทรเลขแล้วจัดการส่งโดยวิธีโทรสารไปยังเครื่องโทรสารของผู้รับ ต้นฉบับผู้ส่งจะเป็นผู้เก็บไว้ โทรสารที่โจทก์ส่งศาลเป็นพยานซึ่งจำเลยยอมรับความถูกต้องแล้ว จึงรับฟังได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 243 (1), 247 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 3 ทวิ, 19 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ.2532

ศาลอุทธรณ์ภาคใดมีเขตอำนาจเพียงใดจะต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาคพ.ศ.2532และพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนที่ตั้งเขตศาลและวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาคพ.ศ.2532กำหนดไว้มิใช่คู่ความเลือกเองได้การที่โจทก์ขออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค1ซึ่งมิได้มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเห็นได้ว่าเป็นการเข้าใจผิดหรือพิมพ์ผิดพลาดเมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์แล้วส่งมายังศาลอุทธรณ์ภาค2ซึ่งมีเขตอำนาจตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค2จึงมีอำนาจพิพากษาคดีนี้ได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่1และที่2ร่วมกันสั่งซื้อข้าวสารชนิดต่างๆไปจากโจทก์หลายครั้งโดยจำเลยที่1มอบหมายให้จำเลยที่2เป็นผู้มาติดต่อขอซื้อข้าวสารจากโจทก์โจทก์ส่งมอบข้าวสารให้ตามที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อหลายครั้งจำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าและชำระราคาให้โจทก์แล้วบางส่วนคงค้างชำระอยู่เป็นเงิน1ล้านบาทเศษขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ไม่มีข้อหาว่าจำเลยที่2กระทำการแทนจำเลยที่1และเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่1อันพอจะถือได้ว่าจำเลยที่1ได้เชิดจำเลยที่2หรือยอมให้จำเลยที่2เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่1ในการซื้อสินค้าของโจทก์ไปแต่อย่างใดดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค2วินิจฉัยว่าจำเลยที่2เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่1ในการซื้อข้าวสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่2ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยนั้นจึงเป็นการตัดสินนอกคำฟ้องและนอกข้อหาของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา243(1)ประกอบมาตรา247มีเหตุอันสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5947

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5947/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 229

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพียงวันที่14มกราคม2537ต่อมาวันที่24มกราคม2537โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าดูตัวเลข14เป็น24จึงเข้าใจว่าศาลอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่24มกราคม2537ดังนี้คำสั่งศาลชั้นต้นได้เขียนวันที่ไว้ชัดเจนแล้วการดูวันที่ผิดเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เองไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่24มกราคม2537จึงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายให้

« »
ติดต่อเราทาง LINE