คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 169, 386 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไปส่งที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่1แม้ไม่พบจำเลยที่1และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยเกิดจากการที่จำเลยที่1หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับก็ถือว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ไปถึงจำเลยที่1และมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5839/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1197 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 183, 249
ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการประชุมใหญ่ประธานที่ประชุมไม่ได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นพิจารณาและไม่มีการลงมติในเรื่องที่ประชุมและไม่มีการอ่านข้อความที่เลขานุการที่ประชุมได้บันทึกไว้คงมีเพียงผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมและเลขานุการที่ประชุมสนทนากันเพียงเบา ๆและบันทึกข้อความเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งโจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นได้โต้แย้งคัดค้านและขอสำเนาบันทึกการประชุม แต่ประธานที่ประชุมปฏิเสธและกล่าวปิดประชุมทันที เท่ากับโจทก์ยอมรับว่ามีการลงมติกัน ไปตามบันทึกการประชุมดังกล่าว เป็นเพียงการบรรยายฟ้องกล่าวถึงวิธีการประชุมที่ไม่ชอบทั้งตอนท้ายของคำฟ้องยังกล่าวยืนยันว่าการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533และมติของที่ประชุมฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533 เสียจึงไม่มีประเด็นว่า การประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2533ที่ประชุมได้มีการลงมติหรือไม่ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดการกำหนดประเด็นของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1197 วรรคสองกำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ส่งสำเนางบดุลให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทก่อนรับนัดประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน หากบริษัทใดฝ่าฝืนต้องรับโทษตาม พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิฯ มาตรา 18(2) ฉะนั้นโจทก์กับจำเลย จะตกลงปฏิบัติต่อกันให้แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1197 วรรคสองไม่ได้ เมื่อจำเลยมิได้ส่งสำเนางบดุลไปยังผู้ถือหุ้นของบริษัททุกคนรวมทั้งโจทก์ก่อนรับนัดประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน การลงมติในการประชุมในระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองงบการเงินจึงไม่ชอบโจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนเสียได้ โจทก์ขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่หลายเหตุและได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แต่โจทก์ถอนอุทธรณ์ดังกล่าวและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์นั้นแล้วทั้งโจทก์มิได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์เหตุดังกล่าวจึงมิใช่ข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 141, 142, 157, 202, 243, 246
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่6ทราบวันนัดด้วยการที่ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์ไปและมีคำสั่งว่าจำเลยที่6ขาดนัดพิจารณาให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินค้าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่6ไปฝ่ายเดียวจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(2)ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่6ทราบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่6ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีความหมายว่าให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่6ขาดนัดพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่6ให้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่6ทราบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่6ตามรูปคดีโดยพิพากษายืนในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ที่2ที่3ที่5และที่7แต่ปรากฏว่าหลังจากโจทก์ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่6ซึ่งศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่6ได้ตามคำร้องและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่6เสียจากสารบบความของศาลฎีกาจึงไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่6ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อไปอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่6ทราบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่6ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ที่2ที่3ที่5และที่7ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีความหมายว่าพิพากษายืนในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ที่2ที่3ที่5และที่7นั้นจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา141(4)และมาตรา142ประกอบด้วยมาตรา246อันเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358
แม้ผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยยังมีเรื่องโต้เถียงกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะทำลายต้นยูคาลิปตัส ที่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นผู้ปลูกที่ดินพิพาทได้ หากจะถือว่าการปลูกต้นยูคาลิปตัส ลงในที่ดินเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของจำเลย ในกรณีที่ต่างโต้เถียงสิทธิครอบครองกันเช่นนี้ต่างก็ต้องฟ้องเอาคืนการครอบครองโดยต้องว่ากล่าวกันในทางศาล การที่จำเลยเข้าตัดฟัน ขุดและเผาต้นยูคาลิปตัส จึงเป็นการทำให้เสียทรัพย์ของผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5813/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 880
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้เมื่อผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกในอายุความอย่างใดผู้รับประกันภัยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกภายในอายุความอย่างเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132, 260, 264
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฎว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่นั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วโดยพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นผลก็คือโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยผู้ขอคุ้มครองชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา264เป็นฝ่ายชนะคดีและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาย่อมเป็นอันยกเลิกไปในตัวตามมาตรา264วรรคสองประกอบมาตรา260(1)จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ยอมส่งตัวลูกจ้างที่ขับรถยนต์พิพาทไปเกิดอุบัติเหตุไปให้พนักงานสอบสวนและไม่นำรถยนต์พิพาทไปมอบให้พนักงานสอบสวนต่อมาเมื่อโจทก์และจำเลยเลิกสัญญาเช่าต่อกันและจำเลยมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์แล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้มายึดรถยนต์พิพาทไปการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถนำรถยนต์พิพาทไปให้เช่าได้ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังนี้การที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์ไปเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายมิใช่การกระทำของจำเลยจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 86, 94
ช. บิดาโจทก์จำเลยเป็นคนต่างด้าวที่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จึงลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทนการที่ซ. ได้ที่ดินมาดังกล่าวแม้จะถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา86แต่การได้ที่ดินมานั้นก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆเสียเลยเพราะซ. ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา94ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดหรืออธิบดีอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้จึงต้องถือว่าตราบใดที่หรืออธิบดียังไม่ได้จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นของซ. เมื่อซ.ถึงแก่ความตายนั้นย่อมเป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของซ. มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจากจำเลยได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5815/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 79 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153
จำเลยอ้างในคำร้องว่าบ้านเลขที่ตามคำฟ้องไม่มีตัวบ้านหรืออาคารที่พักอาศัยและพนักงานเดินหมายนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายเรียกของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปปิดไว้ณหอพักระพีพร ซึ่งไม่ใช่บ้านเลขที่ตามคำฟ้องหากเป็นจริงตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวการส่งหมายดังกล่าวก็เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา79และไม่มีผลตามกฎหมายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ดังนั้นศาลชั้นต้นชอบที่จะรับคำร้องของจำเลยไว้ไต่สวนต่อไปว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยชอบหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 248, 296
คดีเดิมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคสองอุทธรณ์ชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาก็ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน