คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83,343วรรคหนึ่งจำคุก3ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา341คงจำคุก3ปีเช่นกันเป็นการแก้ไขเฉพาะการปรับบทกฎหมายโดยมิได้แก้ไขโทษเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งโจทก์ฎีกาว่าลักษณะการกระทำของจำเลยเป็นการชักชวนบุคคลทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแม้ไม่มีการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปและจำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ทุจริตและมิได้หลอกลวงบรรดาผู้เสียหายรวมทั้งไม่ได้รับเงินจากผู้เสียหายเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค2เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้าม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ม. 58

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคชก.ที่ถึงที่สุดคือไม่ยอมให้โจทก์เช่าทำนาในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่อไปตามเดิมและไม่ยอมขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตามที่คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัยการที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอันถึงที่สุดของคชก.จังหวัดทั้งสองกรณีนี้พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา58วรรคหนึ่งบัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดได้อยู่แล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ย่อมฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5685

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684 - 5685/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 22, 29, 41

คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)และมาตรา29วรรคสองเป็นคนละกรณีกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา22ที่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้ที่โอนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5589

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5589/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34, 624 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 249

จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความและยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยอ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา624เพราะโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน1ปีนับแต่วันที่จำเลยรับมอบของคดีโจทก์จึงขาดอายุความและศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลยโดยเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา624ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์มิได้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา624การที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34ไม่ตรงกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5633

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5633/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ออกตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ77มีผลเพียงเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้างมิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามถ้าโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้การที่จำเลยที่2และที่3ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานออกคำเตือนแก่โจทก์ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเพียงลงชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนบิดาเท่านั้นการที่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยเป็นการกระทำตามคำสั่งของบิดาที่ต้องการให้โจทก์นำที่ดินพิพาทไปขายนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเนื่องจากบิดาไม่ไว้ใจจำเลยถือว่าการที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเป็นเพียงตัวแทนบิดาโจทก์โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแม้จำเลยจะคัดค้านการขายที่ดินพิพาทโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 249

ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและยกขึ้นอุทธรณ์แล้วแต่เมื่อผู้ร้องสอดมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และเมื่อผู้ร้องสอดฎีกาปัญหานี้อีกจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5619

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5619/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1608 (2), 1713

หนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก เจ้ามรดก ได้ทำต่อหน้าช. ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต ซึ่งอยู่ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดุสิตแสดงว่าขณะนั้นผู้อำนวยการเขตดุสิตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่มี ช.ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิตรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขต ดังนั้น ช.ย่อมมีอำนาจและหน้าที่กระทำการแทนได้เพราะเป็นผู้รักษาราชการแทน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนและข้อบังคับในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้มีอำนาจกระทำการไม่อยู่ก็ต้องมีผู้รักษาการกระทำการแทนได้ ไม่ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวเสียไป

เจ้ามรดกแสดงเจตนาชัดแจ้งตัดผู้ร้องมิให้รับมรดกแล้ว การที่จะตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของกองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาเจ้ามรดกประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่มิได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากกองมรดกเพราะถูกตัด และตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์บังคับได้ ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 29, 91, 365 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195, 225 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 21

ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362,365กฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา9,108ทวิวรรคสองและแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเพราะต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกันสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา29,30เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดีไม่จำที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387, 1401

โจทก์ทั้งห้าสิบสี่ได้ร่วมกันใช้ที่ดินแปลงพิพาทเป็นสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ ที่อยู่ในที่ดินโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ตามข้อตกลงที่จำเลยให้ไว้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในหมู่บ้านต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปีแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้าสิบสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อมาจากจำเลยมีสิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงพิพาท จึงได้ภารจำยอมโดยอายุความ เพื่อประโยชน์ในการที่จะใช้เป็นสนามเด็กเล่น

« »
ติดต่อเราทาง LINE