คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 166 เดิม, 173 เดิม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแจ้งความไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 วรรคแรก เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยถือได้ว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เดิมเมื่อผู้คัดค้านได้แจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่12 มกราคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงยังไม่ขาดอายุความ และมิใช่ผู้คัดค้านเพิ่งมาใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เมื่อวันที่12 มกราคม 2537 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามมาตรา 119 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม ใช้บังคับแก่ดอกเบี้ยที่ค้างส่งอยู่ก่อนวันฟ้อง เมื่อการแจ้งความ เป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 มีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีแล้วดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งจะใช้มาตรา 166 เดิมมาบังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 887 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 248
โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่2และหรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทนจำเลยที่1และที่2โดยไม่จำกัดจำนวนจำเลยที่1ลูกจ้างจำเลยที่2ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่2โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ส. บุตรโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายจำเลยที่1ที่2และที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วหาจำต้องบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่1มีความสัมพันธ์กับย. ผู้เอาประกันภัยอย่างไร่และจำเลยที่3มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใดไม่และการที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นศาลจะพิเคราะห์จากคำฟ้องมิได้พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากการพิจารณามาวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่เมื่อฟ้องของโจทก์มีสารครบถ้วนแล้วจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่3ว่าจำเลยที่3ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าย. ผู้เอาประกันภัยยอมให้จำเลยที่1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเมื่อย. ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตรงกันมาเป็นยุติแล้วว่าผู้เอาประกันยินยอมให้จำเลยที่1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนและมีความเสียหายเกิดขึ้นผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ตามข้อตกลงในสัญญาประกันภัยจำเลยที่3จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฎีกาของจำเลยที่3จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 208 (2), 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 19 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ม. 61 วรรคหนึ่ง, 73
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา19ให้ศาลบันทึกข้อความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานหาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าวศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆที่จำเลยกระทำความผิดได้แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น ข้อความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลได้ความว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิดทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดไม่คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5) จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653
สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ให้กู้ยืมไว้นั้นเป็นการสาระสำคัญไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้แม้ในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะมีข้อความว่าผู้กู้ได้นำเช็คเงินสดซึ่งมีการระบุจำนวนเงินเอาไว้ชัดเจนแล้วมอบให้ผู้ให้กู้เพื่อเป็นการค้ำประกันก็ฟังได้แต่เพียงว่าผู้กู้นำเช็คดังกล่าวมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจฟังว่าผู้กู้ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ไปตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5231/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 362
จำเลยเข้าไปในสวนผักของโจทก์ร่วมโดยเจตนาที่จะสอบถามเรื่องราวที่อ. บุตรโจทก์ร่วมท้าชกแล้วจึงเกิดการวิวาทต่อสู้กันยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาเข้าไปเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเจตนาเพื่อกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5192/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 583 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยมานานหลายปีในปีสุดท้ายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งชั้นสูงโจทก์ควรจะมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่การที่โจทก์ลากิจโดยไม่มีกำหนดเวลาแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ของโจทก์ที่ปฏิบัติอยู่และเมื่อโจทก์ยื่นใบลาแล้วโจทก์หยุดงานทันทีโดยไม่รอฟังว่าจำเลยที่1อนุมัติหรือไม่เป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการลาของจำเลยที่1ในที่สุดเมื่อจำเลยที่1ไม่อนุมัติการลาจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดงานและโจทก์ก็ยังคงหยุดงานติดต่อกันมาจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างหากโจทก์มิได้จงใจขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โจทก์สามารถติดต่อแจ้งให้จำเลยที่1ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครทราบได้โดยสะดวกถึงความจำเป็นของโจทก์เพราะโจทก์ไปเฝ้าบุตรที่ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันแต่โจทก์หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ตั้งแต่วันที่โจทก์หยุดงานจนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยติดต่อจำเลยพฤติการณ์ที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันดังกล่าวเกิน3วันและเป็นเวลานานเกือบหนึ่งเดือนจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทั้งถือได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา3วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(5)และกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคห้า พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 62, 106, 106 ทวิ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2538)
ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯมาตรา106ทวิฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้นได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่92(พ.ศ.2538)ออกใช้ภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจะต้องนำมาบังคับใช้ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3ประกาศดังกล่าวระบุว่าเมทแอมเฟตามีนที่ห้ามมีเกินกว่า0.500กรัมนั้นจะต้องคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เสียก่อนแต่ไม่ปรากฎว่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วเกิน0.500กรัมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา106ไม่เป็นความผิดตามมาตรา106ทวิดังนั้นแม้โจทก์จะอ้างว่าได้อ้างมาตราท้ายฟ้องผิดไปเป็นมาตรา106ก็ตามคดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะลงโทษตามมาตรา106ทวิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคห้าได้หรือไม่อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5274/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713
แม้การจดทะเบียนหย่าจะทำให้ผู้คัดค้านที่3มิใช่ทายาทของผู้ตายแต่เมื่อผู้คัดค้านที่3ยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายผู้คัดค้านที่3จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713 กฎหมายมิได้บัญญัติบังคับว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกเพียงแต่บังคับว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอและจะขอให้ศาลตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกก็ต้องให้ผู้นั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5273/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713
การเป็นผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ที่ได้รับการตั้งไม่สามารถเป็นแทนกันได้เมื่อผู้คัดค้านที่1ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจเอกข. ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมไม่อาจตั้งผู้ร้องที่2เข้าไปแทนที่ได้และการจัดการมรดกของผู้ตายก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้เนื่องจากยังมีผู้จัดการมรดกอยู่อีก2คนและศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่1และผู้คัดค้านที่2ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วผู้ร้องที่2จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือร่วมกับผู้ร้องและผู้คัดค้านที่2เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161, ตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ.
ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีซึ่งรวมทั้งค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา161วรรคหนึ่งแต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือแต่บางส่วนก็ได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง