คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5078

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5078/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7, 640, 680, 691 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 183

จำเลยที่1ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เองส่วนปัญหาที่ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสมาชิกกลุ่มสวัสดิการซึ่งสมาชิกของกลุ่มต่างเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นแม้จะรับฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นกรณีที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการดำเนินการของกลุ่มสวัสดิการเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์พ.ศ.2505นั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มสวัสดิการแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่จำเลยที่1กู้ยืมไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2ค้ำประกันไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ สำหรับจำเลยที่1นั้นปรากฏตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.17.2และจ.3ว่าจำเลยที่1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จำนวนแน่นอนเฉพาะสัญญากู้เอกสารหมายจ.1เท่านั้นคืออัตราชั่งละ1บาทต่อเดือนหรือร้อยละ15ต่อปีส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ระบุเพียงว่ายอมให้ดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จไม่ชัดแจ้งแน่นอนว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราเท่าใดต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ7.5ต่อปีสำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา7เท่านั้น ส่วนจำเลยที่2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่1เฉพาะตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.1และจ.2เท่านั้นส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.3จำเลยที่2ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.3ด้วยจึงไม่ถูกต้องทั้งปรากฏด้วยว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.4และจ.5มีข้อความเพียงว่าถ้าจำเลยที่1ไม่ชำระหนี้จำเลยที่2จะเป็นผู้ชำระแทนจำเลยที่2ไม่ได้ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วยจึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 188, 335 วรรคสอง (7) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 120

ผู้เสียหายและล.พี่สาวมีอาชีพให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานของวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยและบ.มีอาชีพติดต่อขอวีซ่าให้แก่บุคคลที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในการให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นผู้เสียหายและล.จะซื้อเช็คเดินทางจากธนาคารโดยไม่ลงลายมือชื่อที่ข้างบนและข้างล่างด้านหน้าของเช็คเดินทางเมื่อมีผู้ขอเช่าผู้เสียหายจะให้ผู้เช่าลงลายมือชื่อที่ข้างบนด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วมอบเช็คเดินทางดังกล่าวให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเมื่อเจ้าหน้าที่สถานทูตออกวีซ่าให้แก่ผู้เช่าแล้วผู้เช่าจะลงลายมือชื่อที่ข้างล่างด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วส่งคืนให้แก่ผู้เสียหายดังนี้พฤติการณ์ที่จำเลยกับบ. เข้ามาพูดทำทีขอเช่าเช็คเดินทางจากผู้เสียหายและล. ก่อนที่จำเลยจะดึงเอาเช็คเดินทางจากมือผู้เสียหายไปการที่จำเลยพูดห้ามมิให้ผู้เสียหายและล.วิ่งตามบ. ขึ้นไปที่อาคารขึ้น4อันเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและบอกว่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เสียหายตลอดทั้งจะคืนเช็คเดินทางให้ผู้เสียหายเป็นเพียงอุบายที่จำเลยกับบ.จะให้ผู้เสียหายส่งมอบการครอบครองเช็คเดินทางของผู้เสียหายเพื่อจำเลยและบ. จะเอาเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปโดยไม่คิดจะคืนให้ผู้เสียหายจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์และการที่จำเลยกับพวกเอาเอกสารเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปแล้วไม่คืนให้แก่ผู้เสียหายแม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารการกระทำของจำเลยก็เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายจึงเป็นการเอาเอกสารผู้อื่นไปเสียจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา188ด้วย การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขึ้นตอนกันในคดีอาญาเมื่อการสอบสวนได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการจับกุมอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกต่างหากหาทำให้การสอบสวนซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 609, 880, 883, 1144 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84

กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลของบริษัทโจทก์ชื่อผู้เอาประกันภัยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชื่อเรือที่ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยคือฟาร์อีสท์นาวีการเรียกร้องตามกรมธรรม์นี้จะชำระให้ที่กรุงเทพมหานครโดยโจทก์และตอนท้ายของกรมธรรม์ระบุชื่อโจทก์และผู้ที่ลงนามเพื่อและในนามผู้รับประกันภัยคือโจทก์นอกจากนั้นในแต่ละลายมือชื่อยังระบุตำแหน่งด้วยว่าลายมือชื่อแรกประธานกรรมการลายมือชื่อที่สองกรรมการผู้จัดการและลายมือชื่อที่สามผู้จัดการทางทะเลจึงเป็นการแสดงออกชัดเจนว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลและออกกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวหาใช่กรรมการโจทก์ออกกรมธรรม์และลงนามในฐานะส่วนตัวไม่การที่มิได้ประทับตราของโจทก์ในกรมธรรม์หาได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่และเมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอากรมธรรม์ดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์เป็นกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ผู้รับประกันภัยที่ออกให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัย กฎของเฮก(HAGUERULES) จะมีอยู่อย่างไรหรือไม่และจะมีผลบังคับแค่ไหนเพียงใดเป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายกล่าวอ้างจะต้องนำสืบเมื่อมิได้นำสืบให้ปรากฏรายละเอียดจึงไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516

โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2518 ต่อมาปี 2532 ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ตกต่ำอาชีพของโจทก์ไม่ค่อยดี โจทก์ติดต่อขอทำงานในประเทศไทยจึงปรึกษากับจำเลยว่าจะกลับประเทศไทย แต่จำเลยเห็นว่าอาชีพพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาดีไม่ยอมกลับ ในปี 2534โจทก์จึงกลับประเทศไทย โจทก์จึงเป็นฝ่ายแยกจากจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่ใช่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าเอกสารสัญญานายหน้าขายที่ดินเป็นสัญญาจ้างทำของหรือไม่และไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่าเอกสารดังกล่าวต้องปิดอากรแสตมป์อีกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่2พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่2เพียงแต่กล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางโดยมิได้อุทธรณ์ขึ้นมาประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำเลยที่2ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ฟ้องเรื่องเช่าซื้ออันไม่เป็นความจริงความจริงโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ฟ้องจำเลยผิดข้อหาหรือฐานความผิดจำเลยไม่ควรรับผิดตามฟ้องของโจทก์และจำเลยที่1กู้ยืมเงินโจทก์มาเป็นเงิน250,000บาทเมื่อจำเลยที่1ชำระให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน125,489บาทคงเหลืออีก124,511บาทเท่าที่จำเลยที่1จะต้องชำระให้แก่โจทก์ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นโจทก์คิดจากจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ต้องชำระให้แก่โจทก์นั้นล้วนเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งและไม่ใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 845

โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับนายหน้าไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใดจึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด10ปี สัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์มีสองจำนวนจำนวนแรกคือร้อยละ5ของราคาไร่ละ160,000บาทกับอีกจำนวนหนึ่งถ้าโจทก์ขายได้เกินกว่านี้ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์เมื่อโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยผู้จะขายได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้จะซื้อแล้วถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้วแม้ว่าผู้จะซื้อผิดนัดไม่มารับโอนที่ดินจนเป็นเหตุให้จำเลยริบมัดจำก็ไม่เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดส่วนข้อความที่ว่าส่วนที่เกินกว่านี้จะเป็นของนายหน้าผู้เดียวนั้นเป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งแยกจากกันได้กับข้อตกลงที่ให้บำเหน็จร้อยละ5ค่าบำเหน็จส่วนนี้ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการเมื่อจำเลยกับผู้จะซื้อไม่มีการซื้อขายกันจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายส่วนที่เกินแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420

หนังสือแบบทดสอบประเมินผลฉบับบูรณาการชั้นประถมปีที่1เป็นหนังสือแบบฝึกหัดไม่จำต้องส่งให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจเพราะไม่ได้เป็นหนังสืออยู่ในบังคับของกระทรวงศึกษาธิการแต่เป็นหนังสือประกอบการเรียนไม่เป็นหนังสือที่บังคับใช้ตามหลักสูตรจึงไม่จำเป็นต้องซื้อโดยเร่งด่วนและไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยวิธีพิเศษแม้ฝ่ายจำเลยจะอ้างว่าในการจัดซื้อหนังสือรายนี้ได้มีการจัดตั้งกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯข้อที่25(4)ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆโดยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนทั้งตามบันทึกเสนอขอซื้อก็มีเพียงระบุตัวกรรมการตรวจรับพัสดุเท่านั้นหาได้มีการเสนอตั้งกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษไม่ฟังไม่ได้ว่าได้มีการจัดตั้งกรรมการจัดซื้อดังที่ฝ่ายจำเลยอ้างการจัดซื้อหนังสือรายพิพาทจึงไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ผู้แทนสำนักพิมพ์ต่างๆเบิกความเกี่ยวกับราคาหนังสือพิพาทว่าเป็นราคาประเมินมีราคาไม่เท่ากันเอาเป็นที่แน่นอนไม่ได้และยังได้ความว่าในการจัดพิมพ์หนังสือรายพิพาทนี้ผู้พิมพ์ให้ค่าตอบแทนค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้เขียนแตกต่างกันโดยภาคเอกชนให้ในอัตราสูงส่วนของทางราชการให้ในอัตราต่ำและเมื่อนำไปประกอบกับผู้แต่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสูงเป็นที่น่าเชื่อถือมีจำหน่ายที่ร้านสหกรณ์กลาโหมจำกัดเพียงแห่งเดียวย่อมทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายกำหนดราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดได้เพราะไม่มีคู่แข่งส่วนที่โจทก์อ้างว่าหนังสือพิพาทมีราคาเล่มละ9.49บาทซึ่งสำนักงานการประถมศึกษาฯซื้อในราคาเล่มละ30บาทเป็นราคาสูงกว่าความเป็นจริงก็เพียงอาศัยการประเมินราคาจากสำนักพิมพ์ต่างๆซึ่งไม่ได้พิมพ์หนังสือพิพาทที่เป็นหนังสือชนิดประเภทและคนแต่งคนเดียวกันที่จะนำมาเปรียบเทียบราคากันได้อีกทั้งผู้ขายได้เสนอขายหนังสือพิพาทไปยังจังหวัดต่างๆซึ่งก็ซื้อในราคาเดียวกันนี้จนทางราชการได้รับหนังสือและแจกจ่ายให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์สมความมุ่งหวังของทางราชการแล้วเมื่อไม่ปรากฎว่ามีการทุจริตกรณีจึงไม่เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือโจทก์แต่อย่างใดดังนั้นแม้จำเลยที่5ถึงที่8จะดำเนินการซื้อหนังสือแบบทดสอบประเมินผลฉบับบูรณาการชั้นประถมปีที่1จากร้านสหกรณ์กลาโหมจำกัดไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการแต่ก็ไม่เกิดความเสียหายการกระทำของจำเลยที่5ถึงที่8จึงไม่เป็นละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 319

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา319คำว่าผู้ปกครองหมายถึงผู้มีฐานะทางกฎหมายเกี่ยวกันกับเด็กเช่นเป็นบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองส่วนผู้ดูแลหมายถึงผู้ควบคุมระวังรักษาเด็กโดยข้อเท็จจริงเช่นครูอาจารย์นายจ้างเป็นต้น ผู้เสียหายเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เยาว์ทั้งในฐานะเป็นน้าและนายจ้างโดยได้รับมอบหมายจากบิดามารดาของผู้เยาว์ด้วยในขณะที่ผู้เยาว์ทำงานอยู่กับผู้เสียหายการที่จำเลยขออนุญาตจากผู้เสียหายพาผู้เยาว์ออกไปข้างนอกหรือพาไปดูภาพยนตร์แต่ผู้เสียหายไม่อนุญาตนับเป็นการใช้อำนาจปกครองและดูแลผู้เยาว์ตามที่ได้รับมอบหมายจากบิดามารดาผู้เยาว์และตามความเป็นจริงเมื่อผู้เสียหายทราบว่าผู้เยาว์ถูกจำเลยพาไปร่วมประเวณีก็ได้เอาใจใส่ให้น. ไปตามจำเลยมาเจรจากันเมื่อได้รับการปฏิเสธก็ได้ติดตามไปพบจำเลยเมื่อเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็พาผู้เยาว์ไปแจ้งความล้วนเป็นการแสดงตนใช้อำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์ตามความเป็นจริงแม้ต่อมาภายหลังผู้เยาว์จะไปทำงานที่อื่นก็เป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุแต่ขณะเกิดเหตุผู้เยาว์ยังอยู่ในความดูแลของผู้เสียหายการกระทำของจำเลยที่พาผู้เยาว์ไปร่วมประเวณีจึงเป็นการรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลผู้เยาว์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเป็นการพรากผู้เยาว์ไปจากความดูแลของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา319

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1349

โจทก์มีทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะโดยเดินบนทางสันเขื่อน ริมคลองบางซ่อน ซึ่งเป็นซ่อน ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นคลองระบายน้ำของกรุงเทพมหานครออกไปสู่ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 อันเป็นถนนสาธารณะ แม้ทางดังกล่าวจะเป็นทางบนสันเขื่อน แต่กรุงเทพมหานครสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมา ที่ดินโจทก์จึงไม่เป็นที่ดินที่ถูกปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ ทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิขอผ่านที่ดินของจำเลยโดยอ้างเหตุจำเป็น

« »
ติดต่อเราทาง LINE