คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ม. 14
จำเลยแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การรับรองผู้ขอมีบัตรสำหรับเจ้าบ้านหรือบุคคลน่าเชื่อถือ บันทึกคำให้การผู้ขอมีบัตรคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการแสดงตัวบุคคลเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526มาตรา 14 อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน มีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประชาชนให้เท่านั้น จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 264
ในคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกที่มีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกนั้นประโยชน์ของผู้ร้องและผู้คัดค้านอยู่ที่การจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้นไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตายการที่ผู้คัดค้านขอคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาประโยชน์ในทรัพย์มรดกจึงไม่อยู่ในกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา264
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/12, 224, 321 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 146
++ ทดสอบทำงานในระบบ Cw เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ เรื่อง ซื้อขาย ค้ำประกัน เรียกทรัพย์คืน ++
++ เรื่อง แก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยในคำพิพากษา ++
++ คดีแดงที่ 2857-2858/2539 ++
จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเครื่องประดับให้แก่โจทก์ด้วยเช็ค2 ฉบับ เป็นเช็คลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2532 และเช็คลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532ครั้นเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อได้ความดังกล่าวถือได้ว่า กำหนดเวลาชำระหนี้ค่าเครื่องประดับ คือ วันเดือนปีที่กำหนดไว้ในเช็ค 2 ฉบับ มิใช่วันที่ซื้อขายหรือวันที่ส่งมอบเครื่องประดับ เพราะโจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเครื่องประดับก่อนวันเดือนปีที่กำหนดไว้ในเช็คได้
คดีรวมการพิจารณาพิพากษา แม้ข้อเท็จจริงในสำนวนแรกจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพราะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนี้ทั้งสองสำนวนมาจากมูลกรณีเดียวกันและเป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ และถือว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลสองศาลขัดกันจึงต้องถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาในสำนวนหลังนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันการซื้อทรัพย์สินครั้งที่สองตามเช็คฉบับที่สองด้วย เมื่อราคาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ฝากโจทก์ขายและนำไปตีชำระหนี้มีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหนี้ที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ในสำนวนแรก ส่วนการบังคับคดีในสำนวนแรกให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 146 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 364, 365 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 195, 225
การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อชมรายการโทรทัศน์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายนั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายถึงแม้ว่าในขณะที่จำเลยจะออกจากบ้านได้ถือโอกาสกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายก็ตามการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา364และเมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้วจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา365(1)(3)ด้วย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค2ฟังว่าเมื่อผู้เสียหายให้จำเลยกลับออกจากบ้านไปแล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยไม่ยอมออกจากบ้านผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายให้ออกไปจึงมีความผิดฐานบุกรุกนั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคหนึ่งและวรรคสี่เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงเหตุที่จำเลยไม่ยอมออกถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกด้วยเหตุดังกล่าวจึงลงโทษจำเลยด้วยเหตุนี้ไม่ได้และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา195วรรคสองประกอบด้วยมาตรา225ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรในเหตุการณ์เมื่อปี2534แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าการกระทำความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นเมื่อปี2533แม้ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดแต่จำเลยก็นำสืบข้อเท็จจริงตรงตามที่โจทก์นำสืบมาแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้เมื่อข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสามและจำเลยมิได้หลงต่อสู้จึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 887 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 198, 249
โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ผู้ทำละเมิดจำเลยที่3ในฐานะนายจ้างหรือตัวการและจำเลยที่3ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่2คันที่จำเลยที่1ขับให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ระหว่างพิจารณาจำเลยที่2ขาดนัดยื่นคำให้การแต่โจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่2ขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา198วรรคสองดังนี้คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นคงมีผลเพียงว่าจำเลยที่2ไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีและศาลไม่สามารถบังคับคดีแก่จำเลยที่2ได้เท่านั้นหามีผลทำให้หนี้หรือความรับผิดของจำเลยที่2ระงับสิ้นไปดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่2ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่2ก็อาจถูกพิพากษาให้รับผิดได้ ปัญหาว่าคดีสำหรับจำเลยที่2ขาดอายุความแล้วหรือไม่ไม่มีจำเลยคนใดให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2831/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 203, 380, 386
การให้งดทาสีใต้ท้องกระเบื้องหลังคาเป็นติดเหล็กดัดช่องแสงรอบอาคาร48ช่องเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการละเอียดที่ผิดไปจากข้อกำหนดในสัญญาจ้างเพราะกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงหรือตัดทอนกิจการจ้างเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาแต่เป็นการกระทำที่มิให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างดังนั้นจำเลยที่2ถึงที่5ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้างจึงไม่มีอำนาจที่จะตกลงได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ.2521ข้อ49การที่โจทก์ติดเหล็กดัดช่องแสงไปก่อนที่จำเลยที่1จะอนุญาตจึงเป็นการกระทำที่เสี่ยงภัยของโจทก์เองนับเป็นความผิดของโจทก์ ส่วนการใช้เหล็กค้ำยันโครงหลังคาซึ่งไม่ได้รับรองมาตรฐานนั้นแม้โจทก์รับว่าเหล็กดังกล่าวไม่ได้รับรองมาตรฐานเพราะขณะทำการก่อสร้างเหล็กขาดตลาดแต่เหล็กที่โจทก์นำมาใช้ก็มีคุณสมบัติและลักษณะเช่นเดียวกันก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะให้ฟังว่าโจทก์ไม่ผิดสัญญาจ้าง จำเลยที่1มิได้ใช้สิทธิปรับโจทก์เพราะเหตุโจทก์ผิดสัญญาจ้างดังกล่าวมาก่อนวันบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อจำเลยที่1บอกเลิกสัญญาจ้างในเวลาต่อมาจึงไม่อาจใช้สิทธิปรับโจทก์เป็นรายวันตามสัญญาได้คงได้แต่ใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญาจ้างเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2808/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 193, 237, 387, 1367, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 148 (3)
แม้ว่าตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 3 และจำเลย ข้อ 3มีว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าที่ดินให้โจทก์ที่ 3 เป็นเวลา 2 เดือน ถือว่าสละสิทธิและเงินที่ส่งมาถือเป็นค่าเช่าก็ตาม แต่ตามทางปฏิบัติ เมื่อจำเลยชำระเงินมัดจำให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 30,000 บาท แล้วจำเลยได้ผ่อนชำระให้โจทก์ที่ 3 เรื่อยมา แต่ไม่ติดต่อกันทุกเดือนและขาดส่งเกินกว่า 2 เดือนแล้วก็มี หลังจากนั้นเมื่อจำเลยชำระให้โจทก์ที่ 3 ก็รับชำระอีก การซื้อที่ดินแปลงที่ 3 ก็เช่นเดียวกัน จำเลยได้ชำระค่าที่ดินจำนวน 14,000 บาท เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 3 และจำเลยต่างไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาในสัญญาข้อ 3 เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้นการเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 387 คือโจทก์ที่ 3 จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร หากจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ที่ 3 จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยและโจทก์ที่ 3 จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่
โจทก์ที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินและโอนการจัดสรรที่ดินให้โจทก์ที่ 1 แม้ในสัญญาดังกล่าวจะไม่ระบุถึงจำเลยหรือผู้ซื้อที่ดินรายอื่น ๆ ว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 3 ก็ดี แต่ขณะที่โจทก์ที่ 3 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย รวมทั้งสร้างอู่ซ่อมรถยนต์ในที่ดินพิพาทก่อนแล้ว และโจทก์ที่ 1 ได้เคยเสนอขอแลกห้องแถวสองห้องของตนกับที่ดินพิพาทของจำเลยอีกด้วย แสดงว่าโจทก์ที่ 1 รู้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินและรับโอนการจัดสรรที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 3 ว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 3 อยู่ก่อน และการที่โจทก์ที่ 2 รับโอนที่ดินที่จัดสรรแทนโจทก์ที่ 1ก็ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ทราบแล้วว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์ที่ 3อยู่ก่อนแล้ว เพราะโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 2 อยู่ด้วย เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทราบมาก่อนแล้วว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 3 การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 3 เช่นนี้ การรับโอนในส่วนที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นไปโดยสุจริต การที่โจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
จำเลยกับโจทก์ที่ 3 เท่านั้นที่เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายที่ดินพิพาทกัน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยด้วย แม้โจทก์ที่ 1จะเป็นผู้ซื้อที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทไปจากโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับโอนแทนโจทก์ที่ 1 โดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ ก็หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด กำหนดให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 3 ตกติดไปอันจะมีผลทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยด้วยไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับโจทก์ที่ 2 แบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อโอนให้แก่จำเลยได้
จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 3 โดยยังชำระราคาไม่ครบถ้วน และการที่โจทก์ที่ 3 โอนขายที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 2 รับโอนแทนนั้น เป็นการโอนโดยไม่สุจริต และเป็นทางให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ คดีของจำเลยจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 237 แต่จำเลยมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างโจทก์ที่ 3 กับโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะนำคดีมาฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวต่อไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148 (3)
ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 3 และจำเลยระบุให้จำเลยผู้ซื้อเข้าปลูกบ้านในที่ดินพิพาทได้ทันที แม้ยังอยู่ระหว่างผ่อนชำระราคาก็ตาม การที่จำเลยเข้าปลูกบ้านอาศัยในที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว เป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่โดยอาศัยอำนาจของตนเอง การครอบครองที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นปรปักษ์จนกว่าจำเลยจะบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือให้โจทก์ที่ 3 ทราบว่าจะยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 3 แม้จะนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 288, 309 วรรคแรก, 340, 371
จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอด เสื้อฝึกงานและ แหวนรุ่นทำด้วยเงินซึ่งมีราคาเล็กน้อยจำเลยกับพวกกระทำไปเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนองเพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบันที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลยเห็นว่าเป็นคนเก่งพอที่จะรังแกคนได้ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้นมิใช่มุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา309วรรคแรกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องลงโทษตามที่พิจารณาได้ความส่วนเสื้อฝึกงานและแหวนเงินจำเลยไม่มีสิทธิยึดถือไว้ต้องคืนแก่ผู้เสียหายหลังจากให้ถอดเสื้อฝึกงานและแหวนเงินแล้วกลุ่มเพื่อนของจำเลย3คนได้ชกต่อยผู้เสียหายจากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง1ฟุตแต่ผู้เสียหายยกขาและแขนขึ้นปิดป้องไว้และกระสุนปืนถูกกระดุมเสื้อซึ่งเป็นแผ่นเหล็กเป็นเหตุให้ไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญถือได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงโดยมี เจตนาฆ่าแต่การกระทำไม่บรรลุผลจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,80และมาตรา371
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132 (1), 174(2, 242, 243, 246, ตาราง 1, ตาราง 2 ท้าย ป.วิ.พ. พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119, 179
พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา119วรรคสองและวรรคสามบัญญัติให้บุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันหนี้คัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาสินสี่วันนับแต่ได้รับแจ้งความยืนยันและตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา179มิได้บัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมคำร้องไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำตาราง2(3)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งกำหนดให้คู่ความเสียค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออื่นๆที่ต้องทำเป็นคำร้องเพียง20บาทมาใช้บังคับสำหรับชั้นอุทธรณ์นั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้คู่ความทำเป็นคำร้องและตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา179วรรคท้ายบัญญัติให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ยกคำสั่งของผู้คัดค้านที่ยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้โดยอ้างว่าไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระตามจำนวนที่ผู้คัดค้านแจ้งยืนยันหากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีทุกข์ของผู้ร้องย่อมปลดเปลื้องไปเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้องซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนหนี้ที่ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดตามที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องนั้นอันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง1ข้อ(1)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา179วรรคท้ายซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระแต่ผู้ร้องไม่ชำระจึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2),246ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ศาลอุทธรณ์ต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามมาตรา132(1)ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระภายในกำหนดอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องเช่นนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา