กฎหมายฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183, 225, 249 วรรคหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดก็ให้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นขึ้นมากว่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ชัดแจ้งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายมานั้นไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไรพร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน กฎหมายบทนี้มิได้มีความมุ่งหมายบังคับให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ต้องบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การเหมือนดังที่บรรยายมาในศาลชั้นต้น เมื่อกฎหมายมิได้มีความมุ่งหมายดังกล่าวการที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การมาย่อ ๆ พอให้ทราบว่าคดีโจทก์เป็นมาอย่างไรก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว และโจทก์ได้บรรยายไว้ในอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ การที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่กล่าวถึงการบังคับคดีส่วนนี้ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองได้ เป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งถึงข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใด ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ ซึ่งเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากจำเลยไม่ชำระ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ จึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ตามฟ้องโจทก์บรรยายถึงการดำเนินการเป็นขั้น ๆ ไป คือบังคับจำนองนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดก่อน เมื่อได้เงินมาไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยซึ่งเป็นการบังคับแก่ทรัพย์โดยมีลำดับก่อนหลัง แต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้โดยไม่มีลำดับก่อนหลัง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและเกินกว่าคำฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนจำนองไม่มีข้อตกลงในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาระบุให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี แต่ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพิ่มขึ้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์อีก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเพิ่มขึ้นจากอัตราในขณะเลิกสัญญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 147 วรรคสอง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา147วรรคสองคำพิพากษาในคดีที่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้จะถึงที่สุดต่อเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปจนถึงวันครบกำหนดอายุอุทธรณ์หรือฎีกาสำหรับคดีที่อาจอุทธรณ์ได้จึงมีอายุอุทธรณ์1เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา229แต่เมื่อคดีดังกล่าวคู่ความมิได้อุทธรณ์คดีจึงถึงที่สุดในกำหนด1เดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาตามมาตรา147วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1293/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367, 1375 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3) (ก), 142 (5), 246, 247
จำเลยร่วมที่ 2 ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อนายอำเภอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกโจทก์ไปสอบปากคำไว้โดยโจทก์ให้ถ้อยคำว่า โจทก์ขอรับรองว่าได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินของจำเลยร่วมที่ 2 จริง เพราะโจทก์เข้าใจว่าที่ดินที่โจทก์ทำประโยชน์อยู่นั้นโจทก์มีสิทธิอยู่ด้วย เพราะตามบันทึกของนายอำเภอระบุว่าบุตรโจทก์มีส่วนแบ่งในที่ดินรายนี้ด้วย แต่บุตรยังเยาว์อยู่ โจทก์จึงได้ปกครองแทนและขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว โจทก์ขอยอมรับผิดว่าได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินของจำเลยร่วมที่ 2 และนำไปจำนองไว้แก่ธนาคาร หากจะมีการเพิกถอนโจทก์ก็ยินยอม แต่ต้องช่วยไถ่ถอนใช้หนี้ธนาคารด้วย ส่วนที่ดินรายนี้โจทก์ขอมีสิทธิครึ่งหนึ่งเพราะเมื่อครั้งประนีประนอมยอมความโจทก์มีส่วนเพียง 1 ส่วน เท่านั้น ตามข้อความดังกล่าวโจทก์รับว่าที่พิพาทบางส่วนเป็นของจำเลยที่ 2 และยอมให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)แต่โจทก์ยังสงวนสิทธิที่จะให้จำเลยร่วมที่ 2 ช่วยชำระหนี้แก่ธนาคาร ไม่ได้ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วมที่ 2 ทั้งหมดโดยไม่ได้โต้แย้ง เมื่อปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์แต่อย่างใด และโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาททั้งแปลงตลอดมาจนพิพาทกันเป็นคดีนี้ การครอบครองที่พิพาทของโจทก์จึงเป็นการครอบครองอย่างเจ้าของ และเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาทจากจำเลยร่วมที่ 2 การที่จำเลยร่วมที่ 2 ทราบดีว่า โจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ของจำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 2ไปร้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แต่จำเลยร่วมที่ 2ก็มิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อให้ได้คืนมาซึ่งการครอบครอง เมื่อเกิน 1 ปีจำเลยร่วมที่ 2 จึงสิ้นสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาท ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 วรรคสอง จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำไปขายให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งให้โจทก์ออกไปจากที่พิพาท
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อไปในภายหลัง ถ้าหากศาลพิจารณาให้ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี การเรียกจำเลยร่วมเข้ามาก็เพื่อผูกพันในผลแห่งคดีเท่านั้น สำหรับในคดีนี้ไม่มีประเด็นโต้แย้งระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสอง จึงไม่อาจขอให้บังคับให้จำเลยร่วมทั้งสองชำระเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่จำเลยได้
เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่พิพาทแล้วหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของจำเลย ย่อมไม่มีผลตามกฎหมายต่อไป จึงเป็นการสมควรที่จะสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5875/2540
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 10, 11, 26, 28
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตรา สูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับตั้งแต่วันที่วางเงินค่าทดแทน ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2536 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน ที่ถูกเวนคืน เพราะเมื่อเอาราคาที่ดินที่สูงขึ้นของที่ดิน ที่เหลือจากการเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนแล้วเกลือนกลืนกันโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2536เมื่อปรากฏความจริงว่าฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์จำนวน 2,780,000 บาท ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวนนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเท่ากับจำเลยทั้งสามต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางนับแต่วันที่โจทก์รับหนังสือดังกล่าวคือวันที่ 27 ตุลาคม 2536 ดังนี้ วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงเป็นวันที่ 27 ตุลาคม 2536 หาใช่นับแต่วันที่25 ตุลาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือไม่ และอัตราดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับก็จะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงเป็นคราว ๆ ไป แต่ไม่เกินอัตราร้อยละที่โจทก์ขอมา โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ย สูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วหรือไม่ ในชั้นนี้ศาลจึงยังไม่นำเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยมาหักออก แต่หากมีรายจ่ายเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วก็ต้องนำมาหักกันในชั้นบังคับคดีต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 104, 249 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ม. 17, 18, 21, 44, 58, 70, 71
แม้การที่น้ำตาลทรายขาดบัญชีไปอาจเกิดจากตรวจนับชั่งน้ำหนัก หรือ การชำรุดของกระสอบก็ตาม แต่ขั้นตอนการ บรรจุเก็บรักษามีพนักงานของโจทก์และของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด ตรวจนับและทำบัญชีบันทึกไว้ และการขนย้ายต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด โดยมีพนักงานของโจทก์และของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ควบคุมตรวจนับตลอดเวลา จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการคลาดเคลื่อนทางบัญชีมากดังที่โจทก์อ้าง การขาดบัญชีกรณีที่อ้างว่าเอาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาไปส่งแก่ลูกค้าแทนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ที่มีไม่เพียงพอหรืออ้างว่านำไปบริจาคแก่วัด โรงเรียน หน่วยราชการ และแจกแก่พนักงานโจทก์ในเทศกาล ต่าง ๆ ทำให้ไม่ตรงกับบัญชีก็เป็นกรณีขนย้ายที่ต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจึงรับฟังไม่ได้ และการขนย้ายน้ำตาลทรายโดยมิได้รับอนุญาตก็ทำให้น้ำตาลทรายขาดบัญชีอยู่ในตัวโจทก์จะโต้เถียงว่าเป็นคนละกรณีกันหาได้ไม่ การที่ขาดบัญชีไปจึงน่าเชื่อว่ามีการลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ออกโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 แล้วเป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับต่อโจทก์ และเบี้ยปรับตามระเบียบดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา เป็นการกำหนดความรับผิดทางแพ่งสำหรับผู้ฝ่าฝืนระเบียบไม่เป็นการเกินขอบเขตที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527มาตรา 70,71 ให้อำนาจไว้ การที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าเบี้ยปรับกรณีขนย้ายน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความรับผิดทางแพ่งต้องมีสัญญาผูกพันกันจึงจะบังคับได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงด้วยจึงบังคับโจทก์ไม่ได้นั้นเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8290/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 572 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 240
หลังจากโจทก์ยื่นอุทธรณ์ โจทก์ได้จัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย จำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์แล้วได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยยอมรับว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์จริง ดังนี้การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ต้องใช้สัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐาน แม้สัญญาเช่าซื้อจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ คดีก็ฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตั้งแต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้าของโจทก์ไปและกระทำผิดหน้าที่โดยไม่จัดทำบัญชีขายสินค้าและได้เบียดบังเอาเงินค่าขายสินค้าไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 หรือบุคคลที่สาม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น251,024.86 บาท พร้อมทั้งได้แนบหลักฐานแสดงสินค้าที่ขาดหายไป ตามบัญชีตรวจนับสินค้าเอกสารท้ายฟ้องดังนี้คำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โดยไม่จำต้องบรรยายถึงรายละเอียดของ สินค้าที่ขาดหายไปอีกเพราะโจทก์ได้แนบหลักฐานแสดงรายละเอียดของสินค้าที่ขาดหายไปตามเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์และมีหน้าที่รับผิดชอบการซื้อขายเกี่ยวกับสินค้า จัดทำบัญชีซื้อขายเกี่ยวกับสินค้า ได้กระทำผิดหน้าที่ไม่จัดทำบัญชีและได้เบียดบังเอาเงินค่าสินค้าไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 หรือบุคคลที่สาม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน โดยกระทำผิดหน้าที่ลูกจ้างไม่จัดทำบัญชีและเบียดบังเอาเงินค่าสินค้าไปสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 5830/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 154, 155 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94
กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 154เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาด้วนกันเอง เจ้าหนี้ซึ่งเป็นประธานกรรมการของลูกหนี้ได้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของลูกหนี้แล้ว ต่อมาภายหลังเจ้าหนี้ได้ทำหนังสือสละสิทธิไล่เบี้ย และสละสิทธิในการับช่วงสิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ทุกอันดับให้ไว้แก่บริษัทลูกหนี้เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามา ตรวจ กิจการของลูกหนี้แล้วพบว่าเจ้าหนี้ได้เอาเงินของลูกหนี้ไปซื้อที่ดินมาเป็นของเจ้าหนี้เป็นส่วนตัวและเพื่อให้เจ้าหนี้จะได้บริหารงานของลูกหนี้ต่อไป แม้หากเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับลูกหนี้ทำหนังสือดังกล่าวขึ้นก็ตาม แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยและเจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นได้เชื่อว่าเจ้าหนี้ได้สละสิทธิดังกล่าวจริง เจ้าหนี้จึงต้องห้ามมิให้ยกข้อไม่สมบูรณ์นี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก ดังนี้เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
วันออกเช็คตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ คือวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหาใช่วันออกเช็คไม่ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 อันเป็นตราสารที่โจทก์อ้างเป็นพยานได้ปิดอากรแสตมป์แล้วแต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงต้องถือว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างจำเลยและโจทก์มีจำนวนมากกว่าห้าสิบบาทและฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้เช่นนี้หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คฉบับพิพาทมอบให้ผู้เสียหาย แม้จำเลยเป็นหนี้เงินกู้ตามจำนวนเงินตามเช็คดังกล่าวแก่ผู้เสียหายอยู่และออกเช็คนั้นชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อหนี้นั้นไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมขาดองค์ประกอบความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6401/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (1)
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นที่โจทก์นำมาลงหุ้นเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน เป็นการเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้น ไม่ใช่โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) และกรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี