กฎหมายฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7989/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 448 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 249 วรรคหนึ่ง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 ม. 9 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2522 ม. 16
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 9 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 9ต่างก็บัญญัติว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินแผ่นดิน และตามระเบียบของทางราชการ กระทรวงการคลังมีอำนาจทำความเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดฐานละเมิดตามที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติโจทก์เสนอความเห็นไปหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องตามความเห็นของกระทรงการคลังได้ แม้เลขาธิการของโจทก์เคยมีความเห็นว่าไม่มีผู้รับผิดชอบทางแพ่งก็ตาม และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง หนังสือพิพาทไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อโดยเร่งด่วนเนื่องจากได้จัดซื้อตอนกลางปีการศึกษา และไม่ใช่หนังสือภาคบังคับ ไม่จำเป็นตามหลักสูตรเพราะครูสามารถสอนนักเรียนได้โดยใช้คู่มือ จึงถือได้ว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดซื้อหนังสือ หากมีการล่าช้าในการจัดซื้อก็ไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอีกทั้งร้านสหกรณ์กลาโหมจำกัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ แต่ไม่เป็นหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อจากร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัด แม้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสี่เคยมีหนังสือสั่งการไว้ว่าร้านสหกรณ์กลาโหมจำกัด เป็นหน่วยราชการให้สนับสนุนกิจการร้านสหกรณ์กลาโหมจำกัด ก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะความผิดพลาดและเข้าใจผิดทั้งหนังสือสั่งการดังกล่าวเป็นการแนะนำเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจัดซื้อหนังสือพิพาทโดยวิธีกรณีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2522 ข้อ 16 จึงไม่ชอบ เป็นการผิดระเบียบและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ การที่โจทก์ได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดราชบุรีว่าได้ซื้อหนังสือแบบทดสอบประเมินผลฉบับบูรณาการชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือไม่โดยจังหวัดราชบุรีได้ตอบโจทก์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2524ก็เพื่อต้องการทราบเกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเท่านั้นยังไม่ทราบผู้ทำละเมิด ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกชั้นหนึ่ง จึงนับอายุความจากวันที่จังหวัดราชบุรีแจ้งการจัดซื้อหนังสือดังกล่าวไม่ได้ เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2533 ระบุชื่อผู้ทำละเมิดให้โจทก์ทราบ และโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28เดือนเดียวกัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 171, 213, 222, 420, 423, 438, 456 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 4, 15, 32
หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.กับเรื่อง ก. ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ขายซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงขายนวนิยาย ทั้งสองเรื่องดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ซื้อตกลง ซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ ผู้ขายตกลงสัญญาแก่ผู้ซื้อว่าผู้ขายขอมอบสิทธิและลิขสิทธิ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดในนวนิยาย ทั้งสองเรื่องทุก ๆ ตอนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบเรื่องโดยสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้เดียว และผู้ขายจะต้องเขียนนวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นให้จบสมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อในการสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ต่อการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะนำนวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ได้ แม้หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ นวนิยาย เรื่อง พ. เป็นการเฉพาะคราวไว้โดยชัดแจ้งก็ตามแต่โดยที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อเสียก่อน" เมื่อนำข้อความดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสัญญาที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัทช.เป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนแล้ว ดังนี้ย่อมทำให้ตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ต่อกันในลักษณะโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปไม่ ทั้งสองฝ่ายคงเพียงแต่ต้องการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ทั้งสองเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะคราวให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการสร้างภาพยนตร์ซ้ำเกินกว่า 1 ครั้ง เท่านั้นซึ่งสอดคล้องกับในทางปฏิบัติของวงการพิมพ์และวงการภาพยนตร์การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการขอใช้สิทธิเพื่อการจัดพิมพ์บทประพันธ์จำหน่ายหรือนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นการขอใช้สิทธิหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวเท่านั้น กรณีจึงฟังได้ว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว หาได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่อง พ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้ว สิทธิของโจทก์ ที่ 1 ในการที่จะนำนวนิยายเรื่องพ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซ้ำอีกจึงเป็นอันระงับ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยาย เรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีกต่อไปส่วนจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นละคร โทรทัศน์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงได้ โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์แต่การที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ฉบับพิพาทมีข้อความชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องพ. แล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์ในนวนิยายดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร เพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร ออกเผยแพร่ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรจากโจทก์ทั้งสองได้ ข้อความในบทความตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นเพียงบทความที่วิจารณ์ว่าระหว่างโจทก์ กับจำเลยใครควรจะมีสิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ. ดีกว่ากัน เป็นการที่โจทก์ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวโดยโจทก์ประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์เชื่อว่าโจทก์ได้สิทธิในบทประพันธ์นวนิยาย เรื่องที่พิพาทโดยชอบแล้ว ดังนี้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7712/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 9, 21, 23, 25, 26
เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเฉลี่ยแล้วสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดให้ และเมื่อคำนึงประกอบกับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งสูงกว่าราคาของที่ดินของโจทก์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ฝ่ายจำเลยนำมาใช้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ กับสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ดังกล่าวประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5)กับประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งด้านหนึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะอันมีมากกว่าส่วนที่เสียหายจากการสร้างทางพิเศษที่ทำให้เสียภูมิทัศน์ของโรงแรมโจทก์กับมลภาวะทางอากาศและเสียงแล้ว ศาลกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมเพิ่มขึ้นจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ได้กำหนดขั้นตอนการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีและการฟ้องคดีต่อศาลไว้โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือมาตรา 23 เป็นผู้กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนก่อนเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดแล้วผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมาเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัย แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี สำหรับความเสียหายของโจทก์ที่ต้องออกจากที่ดินแปลงที่ถูกเวนคืนที่โจทก์ใช้เป็นที่จอดรถในการประกอบกิจการโรงแรมอันเนื่องจากที่ดินส่วนนี้ถูกเวนคืนนั้นเข้ากรณีตามมาตรา 21 วรรคท้าย เป็นคนละส่วนกับค่าทดแทนที่ดินที่ต้องเวนคืน ดังนี้ เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 คือคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายที่จะต้องออกจากที่ดินที่ต้องเวนคืน หากโจทก์ไม่พอใจการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นโจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นให้แก่โจทก์เสียก่อนเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายในส่วนนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ร้อยละ 8.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5898 - 5899/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและรอการลงโทษจำคุกไว้ เป็นการแก้ไขมาก แต่มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยคดีของจำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ฎีกาของจำเลยอ้างว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องเพราะยอดเงินตามใบส่งของและใบเสร็จรับเงินไม่ตรงกับยอดจำนวนเงินในเช็ค และ ป. กรรมการโจทก์ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลย โดยได้มีการหักกลบลบหนี้กันระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องชำระ พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องขัดกับในชั้นพิจารณาคดีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามกฎหมาย ล้วนเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6408/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืน โดยไม่ได้ประสงค์จะได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางคืนไปเป็นของผู้ร้อง แต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งคืนของกลางให้แก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5895/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 65 วรรคสอง
จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำ จำเลยเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลติดต่อกันนานประมาณ 7 ปี แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการที่แผนกการเงินกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดได้ตามปกติแสดงว่าบางขณะจำเลยมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย บางขณะก็เป็นปกติ คืนเกิดเหตุ จำเลยเคาะประตูเรียก ป. และโวยวายให้คนช่วยหาคนที่เอามดแดงไปใส่ในรองเท้าจำเลยและทำลายข้าวของในห้องพักของ จำเลยเมื่อจำเลยไปค้นห้องพักผู้ตายพบมีดและปืนของผู้ตาย จำเลยหยิบมีดและปืนออกจากห้องและเดินตามหาผู้ตายเมื่อพบผู้ตายจำเลยพูดว่า "เฮ้ย มึงว่ากูกล้ายิงไหม" แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทันที นอกจากนี้หลังเกิดเหตุจำเลยได้พูดกับ ป. ว่า"เป็นไง เพื่อน มึงวิ่งหนีกูทำไม" พฤติการณ์ของจำเลยก่อนและหลังกระทำความผิดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5880/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 150, 171, 204, 575, 582 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 84, 142 (5), 143, 243 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 35, 49, 52, 56 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ,
จำเลยที่ 10 และที่ 11 มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์มิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 10และที่ 11 ให้รับผิดในส่วนนี้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง ตามพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 พ.ศ.2528 มาตรา 4 องค์การเหมืองแร่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและมาตรา 5ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 11 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีเพื่อดำเนินการชำระบัญชีได้ และการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9มีคำสั่งจ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีก็เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการชำระบัญชีจำเลยที่ 2 เสร็จสิ้นไป หากพนักงาน ลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างเป็นรายบุคคลได้ดังนี้ เมื่องานเกี่ยวกับการชำระบัญชีหมดลง กรณีไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์เพื่อปฏิบัติงานต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่ให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เป็นหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์มิได้หยุดและค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม ดังนั้น จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว คำฟ้องโจทก์ระบุอัตราค่าจ้างของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ไว้แล้ว และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวไว้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวัดหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 คำนวณค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้องมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ดังกล่าวได้รับค่าชดเชยในจำนวนที่ถูกต้อง จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่โจทก์มาทำงานภายหลังวันที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว ศาลฎีกาเคยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าบำเหน็จแล้ว แต่ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีกได้ จำเลยอ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเพียงฉบับละ 1 เดือน เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะพึงปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลไป แต่ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ข้อ 5 กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากถูกลงโทษปลดออก หรืออื่น ๆ มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานคิดเป็นปีและโจทก์จะทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก็ตาม แต่เมื่อการนับเวลาทำงานตามข้อ 6 ให้ถือหลักเกณฑ์โดยนับแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำดังนี้การที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือนหาได้บรรจุในอัตราประจำไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หนังสือเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ประกอบบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและโครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างเงินเดือนที่ปรับใหม่มีระบุอัตราเงินเดือนขั้นเงินเดือนถึง 53 ขั้น และมีขั้นวิ่ง ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นใช้กับพนักงานลูกจ้างที่ทำงานประจำโดยมีการบรรจุในอัตราประจำ แต่เมื่อจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เป็นการชั่วคราว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยโดยไม่ระบุให้จำเลยคนใดต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5879/2540
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ม. 53, 54
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524เป็นกฎหมายพิเศษมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เช่านาให้มีสิทธิซื้อที่ดินที่เช่าทำนาก่อนคนอื่น ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ที่ว่า ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะตกโอนต่อไปยังผู้ใดผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้น มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้เช่านาให้มีสิทธิซื้อนาที่เช่าได้ก่อนบุคคลอื่น และสิทธิดังกล่าวย่อมมีอยู่ ไม่ว่านาพิพาทจะโอนไปยังบุคคลใดถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ผู้เช่าที่ดินพิพาททำนาทราบ โจทก์จึงมีสิทธิซื้อนาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้รับโอน เมื่อสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้ว แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และศาลพิพากษาตามยอม การที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาตามคำพิพากษาตามยอม ก็ถือได้ว่าที่ดินพิพาทถูกโอนต่อไปหลังจากจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าทราบ แม้ตามมติของ คชก. ตำบลมิได้ระบุจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทไว้และมติของ คชก.จังหวัดจะได้วินิจฉัยเพียงว่าให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจำนวนประมาณ 112 ไร่ แต่เมื่อที่ดินตามโฉนดดังกล่าวบางส่วนมีสภาพเป็นคูคลองส่งน้ำใช้ประโยชน์ในการทำนาซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์เจตนาเช่าที่ดินพิพาททั้งแปลง ดังนี้มติของ คชก.ตำบล และมติของ คชก.จังหวัดดังกล่าวจึงครอบถึงที่ดินพิพาททั้งแปลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5878/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 89 (3), 89 (4), 89 (7)
การที่โจทก์นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอมมาเป็นภาษีซื้อคำนวณหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเข้าลักษณะความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7) นั่นย่อมเป็นการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องและแสดงภาษีซื้อเกินไป อันเข้าลักษณะความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(3) และ (4) อยู่ด้วยในตัว แต่เมื่อมาตรา 89(7) กำหนดให้เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าย่อมเห็นได้ว่ามุ่งหมายจะลงโทษปรับให้สูงขึ้นโดยให้รับผิดตามมาตรา 89(7) เพียงอนุมาตราเดียว หาได้มุ่งหมายให้ปรับทุกอนุมาตรารวมกันไม่ โจทก์จึงหาต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) และ (4) อีกด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5877/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 30, 87 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 10 วรรคสาม พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503 ม. ,
รถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามา ภายนอกตัวรถด้านซ้ายมีกันสาดติดตั้งไว้ซึ่งสามารถพับเก็บแนบติดกับขอบหลังคารถได้ สภาพภายในตัวรถมีลักษณะเหมือนห้องโถง ไม่มีการกั้นแยกส่วนระหว่างที่นั่งคนขับและส่วนที่เป็นโถง มีเก้าอี้นั้น 2 ตัว มีส่วนที่กั้นเป็นห้องน้ำซึ่งภายในติดตั้งอ่างล้างหน้าและฝักบัว มีตู้ชั้นลอยติดตั้งอยู่เหนือส่วนที่ระบุว่าเป็น "WORKTOP" ระหว่างประตูทางขึ้นด้านข้างของตัวรถกับส่วนที่เป็นห้องน้ำติดตั้งตู้ซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้ใส่เสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องดูดควันติดตั้งอยู่ใต้ตู้ชั้นลอยเหนือส่วนที่ระบุว่า "WORKTOP" และบริเวณใต้หลังคารถเหนือศีรษะคนขับมีลักษณะเป็นชั้นลอยวางฟูกสำหรับปูนอนสำหรับส่วนที่เป็นเก้าอี้โซฟายาวซึ่งจำเลยอ้างว่าใช้เป็นเตียงคนไข้นั้น ความจริงก็คือมีเก้าอี้โซฟาที่ปรับเป็นเตียงนอนได้นั่นเอง รถยนต์พิพาทจึงมีลักษณะและมีอุปกรณ์ใช้สอยที่ติดตั้งไว้เหมือนกับบ้านที่เคลื่อนที่หาใช่มีลักษณะเป็นรถพยาบาลหรือเป็นรถตู้มีที่นั่ง12 ที่นั่งไม่ และตามพระราชกฤษฎีกาพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2503 ประเภทที่ 87.02 ค. นั้น รถยนต์ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 87.02 ค. แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือรถบรรทุกประเภทหนึ่งและรถนั่งแบบจิ๊ปอีกประเภทหนึ่งในกรณีของรถบรรทุกย่อมมีความหมายถึงรถที่ใช้บรรทุกสิ่งของเป็นสำคัญ แต่รถยนต์พิพาทมีลักษณะการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยสำหรับใช้นั่งหรือนอน ไม่ใช่สำหรับใช้บรรทุกสิ่งของส่วนกรณีรถนั่งแบบจี๊ปก็ต้องมีลักษณะเป็นรถที่สมบุกสมบันขับเคลื่อน 4 ล้อ และมีกำลังส่งใช้ภายนอกได้ ตามที่โจทก์ที่ 1 กำหนดโดย ว.อ.92/2508 แต่รถยนต์พิพาทไม่มีลักษณะดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นรถที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวอันจะจัดเข้าในประเภทพิกัดที่ 87.02 ค. ได้กรณีจึงต้องจัดรถยนต์พิพาทเข้าในประเภทรถอื่น ๆ ตามประเภทพิกัดที่ 87.02 ง.(2) รถยนต์พิพาทในขณะนำเข้ามีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งที่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายเหมือนบ้านเคลื่อนที่โดยในส่วนขวางรถยนต์มีที่นั่งภายในไม่เกิน 10 ที่นั่ง และลักษณะของที่นั่งก็ต่างจากที่นั่งที่ใช้ในรถยนต์โดยสารทั่วไป รถยนต์พิพาทจึงไม่ใช่รถยนต์โดยสารหรือเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ส่วนที่กองทะเบียนกรมตำรวจรับจดทะเบียนให้ในประเภทดังกล่าวนั้น เป็นการพิจารณาสภาพที่นำเข้าคนละขั้นตอนกันและวัตถุประสงค์เป็นคนละอย่างกัน ดังนั้น การรับจดทะเบียนของกรมตำรวจไม่เป็นข้อผูกมัดโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีอากรเพิ่มเติม กรณีย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2) แล้ว หากจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อน เมื่อจำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1ซึ่งมิใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 จึงไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้จำเลยย่อมหมดสิทธิโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลอีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องร้องหรือให้การต่อสู้คดีในศาลเพื่อไม่ให้ตนต้องชำระค่าภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินนั้น คดีนี้โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราศุลกากรสำหรับรถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามาว่าจะใช้อัตราใด จึงมีอายุความสิบปี นับจากวันที่จำเลยนำของ หาใช่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดอันจักมีอายุความ 2 ปีไม่ คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้อง ส. ให้ใช้ค่าเสียหายในข้อหาละเมิด เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความระมัดระวังทำให้โจทก์ที่ 1 เสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรรถยนต์พิพาท ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ค้างชำระนอกจากจะเป็นคู่ความคนละคนแล้ว มูลเหตุแห่งการฟ้องก็เป็นคนละเหตุ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ